รัฐบาลเซ็ตทีมสู้ต่อ 'ค่าโง่โฮปเวลล์'
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำหนังสือไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท
โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)
เมื่อวันที่ 22 พ.ย.ที่ผ่านมา การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ได้ทำหนังสือไปยังกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้ตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนบริษัท โฮปเวลล์ (ประเทศไทย) เนื่องจากคณะทำงานที่ ร.ฟ.ท.และกระทรวงคมนาคมจัดตั้งขึ้น ตรวจสอบพบว่าบริษัทดังกล่าวมีการจดทะเบียนไม่ถูกต้อง ซึ่งจะมีผลทำให้ สัญญาร่วมทุนโครงการก่อสร้างทางรถไฟยกระดับในกรุงเทพมหานคร (โฮปเวลล์)เป็นโมฆะ
ล่าสุดกรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ดำเนินการตรวจสอบเสร็จสิ้นและส่งผลไปยังร.ฟ.ท.แล้วก่อนกำหนดระยะเวลาที่ตั้งไว้คือ 19 ธ.ค. โดยสาระสำคัญระบุว่า“การจดทะเบียนเป็นไปตามกฎหมาย”
ทั้งนี้ ประเด็นการตรวจสอบประกอบด้วยการนำข้อมูลการจดทะเบียนเมื่อ 29 ปีที่ผ่านมา วัตถุประสงค์การประกอบธุรกิจของบริษัทที่อยู่ในบัญชีแนบของ ปว.281 ถ้าจะดำเนินการต้องได้รับอนุญาตเป็นการเฉพาะจากคณะรัฐมนตรี(ครม.) และประเด็นสถานะของบริษัททั้งโฮปเวลล์ โฮลลดิ้ง และ โฮปเวลล์ (ประเทศไทย)
แม้ว่าผลการตรวจสอบประเด็นสถานะบริษัทจดทะเบียนธุรกิจของโฮปเวลล์ที่ดูเหมือนไม่ทางไปต่อแล้ว แต่เรื่องนี้คงเป็นหนังไตรภาคที่ไม่สามารถจบบทสรุปแห่งวิบากกรรค่าโง่ฯได้อย่างเร็วเกินไป
ล่าสุดมติครม.แต่งตั้งพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) เป็นที่ปรึกษาพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ที่ปรึกษาคนใหม่นี้ มีบทบาทสำคัญเรื่องพาไทยพ้นวิบากกรรมค่าโง่โฮปเวลล์นี้ มานานทั้งจากการยื่นญัตติด่วนตั้งกรรมาธิการวิสามัญศึกษาเรื่องค่าโง่โฮปเวลล์ พร้อมให้เหตุผลความจำเป็นต้องเป็นญัตติด่วนเพราะศาลสั่งให้รัฐบาลต้องจ่ายค่าโง่แล้ว ไม่เช่นนั้นจะเข้าสภาไม่ทัน แม้ความพยายามก็ไม่เป็นผลแต่ก็ยังเดินหน้ามีบทบาทต่อไปผ่านการสนับสนุนการทำงานของศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ที่ได้ตั้งคณะทำงานดูแลเรื่องนี้
ด้านศักดิ์สยาม ให้ความเห็นว่าหลังจากนี้ร.ฟ.ท. จะนำหลักฐานไปยื่นให้ศาลปกครองวินิจฉัย โดยหลักฐานที่คณะทำงานของกระทรวงคมนาคมตรวจสอบพบ และจะยื่นให้ศาลปกครองวินิจฉัย มี2 ประเด็น คือ 1. บริษัทโฮปเวลล์ (ประเทศไทย) จัดตั้งบริษัทขึ้นขัดต่อกฎหมายเนื่องจากทำธุรกิจผิด ปว.281 ว่าด้วยเรื่องของการขออนุญาตทำธุรกิจเกี่ยวข้องกับกิจการขนส่ง ซึ่งต้องได้รับอนุญาตจากครม. แต่คณะทำงานตรวจสอบพบว่า มติ ครม.ในขณะนั้น ไม่ได้อนุญาตเรื่องการยกเว้น ปว.281มีเพียง มีมติอนุมัติให้ 2 เรื่อง คือ 1.ยกเว้นภาษี และ 2.ส่งเสริมการลงทุน
ประเด็นที่ 2 คือมติ ครม.กำหนดให้บริษัทโฮปเวลล์ โฮลดิ้ง ซึ่งเป็นบริษัทฮ่องกง ลงนามสัญญาแต่บริษัทโฮปเวลล์ประเทศไทยเข้ามาลงนามเป็นคู่สัญญาแทน ซึ่งถือว่าผิดต่อมติ ครม. รวมทั้งโครงการร่วมทุน ไม่ควรมีการลงนามแทนกันได้ การทำธุรกิจนิติบุคคลต้องขาดกัน
ก่อนหน้านี้นิติธร ล้ำเหลือ ทนายความ ผู้รับมอบอำนาจจากกระทรวงคมนาคม และร.ฟ.ท. ได้ยื่นหนังสือถึง 4 หน่วยงาน คือ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ กรมบัญชีกลาง และสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เพื่อให้ดูรายละเอียดในสัญญาฯโฮปเวลล์ ที่มาของสัญญา การอนุญาตร่วมทุนโครงการ และรายละเอียดของการบอกเลิกสัญญาฯ
“สัญญานี้เป็นของรัฐบาล จึงถือเป็นสัญญาของภาครัฐ ดังนั้นกระทรวงการคลังต้องรับผิดชอบ คลังก็ต้องไปฟ้องดำเนินการ อย่างไรก็ดี ขั้นตอนการหาข้อมูลหลักฐานครั้งนี้ ถือเป็นการดำเนินการควบคู่ไปพร้อมกับคณะทำงานด้านการเจรจา ซึ่งปัจจุบันทราบว่าอยู่ระหว่างดำเนินการ”
การมาของ“พีระพันธุ์” ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีคนใหม่ที่มีดีกรีเป็น ผู้คร่ำหวอดเรื่อง “ค่าโง่โฮปเวลล์” จึงเป็นที่น่าจับตามองว่ามหากาพย์นี้คงไม่จบแค่ผลตรวจสอบของกระทรวงพาณิชย์แน่