'ทีเอ็มบี 'ห่วง'อสังหา' ขาดสภาพคล่อง
"ทีเอ็มบี"เผยภาคธุรกิจอสังหาฯ ระดมทุนผ่านหุ้นกู้นอนเรทติ้งมากขึ้น คิดเป็นสัดส่วน 60% ของหุ้นกู้ที่ไม่มีเรทติ้งทั้งหมด สะท้อนปัญหาขาดสภาพคล่อง หลังธุรกิจชะลอตัว แบงก์เข้มงวดปล่อยสินเชื่อ ขณะที่เงินลงทุนที่ดินจม
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหารศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ หรือ TMB Analytics ธนาคารทหารไทย จำกัด(มหาชน) เปิดเผยว่า ปัจจุบันภาคธุรกิจหันมาออกหุ้นกู้มากขึ้น ตัวเลข11เดือนของปีนี้อยู่ที่ 1.038 ล้านล้านบาท จากปี2561 อยู่ที่ 8 แสนล้านบาทเท่านั้น โดยเป็นการออกหุ้นกู้เรทติ้งต่ำกว่าระดับ BBB และหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้ง (Non rated) เพิ่มขึ้น อยู่ที่ 2.99 แสนล้านบาท จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 2.14 แสนล้านบาทเท่านั้น
เฉพาะหุ้นกู้นอนเรททั้งหมดมีอยู่ 3.5 หมื่นล้านบาท พบว่าสัดส่วนกว่า60% มาจากภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนว่าผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ (ดีเวลล็อปเปอร์) หันมาออกหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งมากขึ้น โดยหุ้นกู้ดังกล่าวขยับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 2.13หมื่นล้านบาท หรือเติบโตมากขึ้นราว 20% หากเทียบกับช่วง 3ปีที่ผ่านมา ที่การออกหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งของภาคอสังหาริมทรัพย์ เฉลี่ยอยู่ที่ 1.8 หมื่นล้านบาทเท่านั้น ดังนั้นถือว่าเป็นปัจจัยที่น่าห่วง เพราะปัจจุบันภาคธุรกิจอสังหาฯอยู่ในทิศทางชะลอตัว สะท้อนให้เห็นถึงปการขาดสภาพคล่องของภาคธุรกิจอสังหาฯที่มากขึ้น
“การขาดสภาพคล่องของภาคอสังหาฯ อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ภาคธุรกิจนี้ออกหุ้นกู้นอนเรทมากขึ้น เพราะแบงก์เองอาจจะระมัดระวังการให้สินเชื่อกับกลุ่มผู้พัฒนาอสังหาฯมากขึ้น จากการชะลอตัวของภาคอสังหาฯที่ชัดเจน ขณะที่ธุรกิจยังต้องการสภาพคล่องไปใช้หมุนเวียนในธุรกิจ เพราะหากซื้อที่ดินไปแล้ว เงินจม เอาที่ดินไปพัฒนาต่อไม่ได้ สภาพคล่องก็ยิ่งขาด ทำให้ธุรกิจนี้ต้องหาทางเลือกในการหาสภาพคล่องใหม่มากขึ้น” นายนริศ กล่าว
อย่างไรก็ตาม แม้จะเห็นการออกหุ้นกู้ไม่มีเรทติ้งออกมาค่อนข้างมาก ในด้านการเข้าไปซื้อหุ้นกู้เหล่านี้ก็มีดีมานด์มากเช่นกัน จากผู้ที่ต้องการแสวงหาผลตอบแทนสูง หรือสะท้อนให้เห็นพฤติกรรม Search for yied มากขึ้นของนักลงทุน ภายใต้ภาวะดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยนักลงทุนอาจไม่ได้ดูความเสี่ยงมากนักในด้านเครดิต ดังนั้นถือว่าเป็นสิ่งที่น่าห่วง และน่ากังวลมากขึ้น หากธุรกิจเหล่านี้เกิดปัญหาในอนาคต
เขากล่าวต่อว่า ปัจจุบันการออกหุ้นกู้เอกชน เติบโตมากกว่าสินเชื่อธุรกิจของธนาคารพาณิชย์ คาดว่าทั้งปี2562 จะเติบโตถึง 19% ขณะที่สินเชื่อธุรกิจเติบโตเพียง 2% เท่านั้น ต่างจากอดีตที่สินเชื่อภาคธุรกิจของระบบธนาคารพาณิชย์เติบโตเร่งตัวสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจาก ธนาคารพาณิชย์ระมัดระวังการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น หรือปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจได้น้อยลงในภาวะที่เศรษฐกิจชะลอตัว ทำให้ผู้กู้เอกชนหันไปออกหุ้นกู้ตรงมากขึ้น
รวมถึงดอกเบี้ยทีอยู่ระดับต่ำ ทำให้อัตราผลตอบแทนหุ้นกู้หรือ(ยิลด์เคิร์ฟ)ต่ำลง ทำให้ผู้กู้มีต้นทุนการออกหุ้นกู้ที่ต่ำลง สุดท้ายมาจากความต้องการสภาพคล่องมากขึ้นของบางธุรกิจ ที่อาจเข้าไม่ถึงสินเชื่อ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หุ้นกู้เรตติ้งต่ำและไม่มีเรตติ้งปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
“คาดว่าปีหน้าหุ้นกู้เอกชนจะยังเติบโตอย่างต่อเนื่อง หรือปรับเพิ่มขึ้นแตะ 1.28 ล้านล้านบาท และคาดว่าหุ้นกู้นอนเรท หรือหุ้นกู้ที่มีเรทติ้งต่ำ จะมีสัดส่วนมากขึ้นเช่นกัน จากปัจจุบันอยู่ที่ 2.9แสนล้านบาท ยังมองว่าจะเห็นการเติบโตมากขึ้นเรื่อยๆ เพราะต้นทุนการออกหุ้นกู้อยู่ในระดับต่ำ ขณะที่ภาคธุรกิจเองก็ต้องการสภาพคล่องที่มากขึ้นในการทำธุรกิจ” นายนริศ กล่าว