'มอร์ลูป' ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือขยะ

'มอร์ลูป' ฮาวทูทิ้ง…ทิ้งอย่างไรไม่ให้เหลือขยะ

‘มอร์ลูป’ แพลตฟอร์มธุรกิจตัวกลางที่แก้ปัญหาการเกิด “ขยะ”ในอุตสาหกรรมสิ่งทอด้วยการนําผ้าส่วนเกินจากการผลิตในโรงงานผลิตเสื้อผ้าและโรงทอผ้ามาจำหน่ายผ่านเว็บไซต์ ทำให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและกลายเป็นโมเดลธุรกิจที่เติบโตอย่างยั่งยืน

จุดเริ่มต้นเกิดจาก อมรพล หุวะนันทน์อดีตนักวิเคราะห์ด้านการเงินและความเสี่ยง ที่ต้องการทำธุรกิจสร้างแรงบันดาลชีวิตส่วนหนึ่งมาจากความสนใจส่วนตัวเรื่องเกี่ยวกับ “ขยะ” ตั้งเด็กจนโต ยังคงเห็นปัญหานี้อยู่ เพราะ รีไซเคิลไม่ได้มีจริง!!! จึงอยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการ‘จัดการ’ขยะชุมชน แต่หลังจากทำไประยะหนึ่ง พบว่า ยากที่จะทำให้เกิดเป็นธุรกิจได้ แม้ว่าจะมี pain point เพราะต้องใช้การลงทุนเยอะ

เขาจึงถอยมาตั้งหลัก หันมามองเศษวัสดุที่เหลือตามโรงงานอุตสาหกรรมแทน พบว่า มีปริมาณมากกว่า ขยะในชุมชน โดยมีปริมาณถึง50 ล้านตันต่อปี ส่วนใหญ่จะเป็นน้ำเน่า ของเสียมีเพียงแค่1% ที่เป็นของอันตราย ที่เหลือ99%เป็นวัสดุ ซึ่งสามารถนำกลับมาใช้ได้อีก อาทิ เปลือกมันสำปะหลัง ไม้ เหล็กที่เหลือ รวมทั้งกระดาษที่สามารถนำกลับมาใช้ใหม่หรือนำไปรีไซเคิลได้ จึงเป็นที่มาของแนวคิดที่จะสร้างตลาดขึ้นมาเพื่อนำวัสดุที่เหลือจากโรงงานอุตสาหกรรมจำหน่ายผ่านช่องทางออนไลน์ให้กลุ่มที่มีความต้องการไปใช้ต่อและจัดเก็บข้อมูลเหมือนแอร์บีแอนด์บี (Airbnb)แต่การที่ทำในทุกอุตสาหกรรมเป็นเรื่องยากเกินไป

แต่หลังจากที่ชายหนุ่มได้เจอกับ ธมลวรรณ วิโรจน์ชัยยันต์ ทายาทรุ่นที่ 2 ของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูป ซึ่ง กำลังเผชิญกับสถานการณ์อาทิตย์อัสดง (Sunset Industry)ของอุตสาหกรรมสิ่งทอ ซึ่งเธอกำลังมองหาทางแก้ปัญหา (pain point)ธุรกิจด้วยการจัดการ ‘สต็อกผ้า’ ที่เหลือจากการผลิตในโรงงาน จึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นของ ‘มอร์ลูป’ ( Moreloop) ที่ผสมผสาน แรงบันดาลใจกับความต้องการในการ แก้ปัญหา  สินค้าที่เหลือค้างอยู่ในสต็อก(Dead Stock ) เพราะถ้าหากจัดการไม่ถูกต้องก็จะกลายเป็นขยะที่ส่งผลเสียต่อสิ่งแวดล้อมได้

157881249710

อมรพล  กล่าวว่า ตามธรรมชาติของโรงงานผลิตเสื้อผ้าสำเร็จรูปจะมีผ้าเหลือจากการตัดผ้า และที่สำคัญคือผ้าที่เหลือมาจากการ สั่งมาสำรองไว้ในการผลิต ซึ่งเป็นของที่เหลืออยู่โรงงานตลอด เพราะต้องเผื่อไว้ 3-5% จึงเป็นที่มาของส่วนเกินที่สะสมของผ้าพับประมาณ 35%ของแต่ละโรงงาน ถือว่า เยอะมาก หากนำออกมาขายใหม่ได้จะสามารถเปลี่ยน ส่วนเกินที่สะสมไว้ให้กลายเป็นเงินได้

โมเดลของมอร์ลูป คือการเข้าไปแก้ปัญหาด้วยสร้างตลาดให้กับผ้าที่เหลือในแต่ละโรงงานก่อนเริ่มจากนำผ้าพับส่วนเกินมาจำหน่ายให้กับผู้ที่สนใจซื้อผ้าเพื่อเป็นวัตถุดิบผ่านตลาดออนไลน์บนเว็บไซต์ เพื่อให้ธุรกิจรายย่อยมีโอกาสเข้าถึงแหล่งวัตถุดิบหลากหลายมากขึ้น

โดยมอร์ลูป ทำหน้าที่เป็นตัวกลางเข้ามาช่วยให้ธุรกิจเดินต่อได้แบบwin-winด้วยการสร้างเครือข่ายพันธมิตรไปเรื่อยๆ ทุกคนที่เกี่ยวข้องอยู่ต่อได้อย่างมีความสุข ขณะเดียวกันช่วยไม่ให้เกิดปัญหาขยะ เพราะเป็นการอัพไซเคิล (Up cycle) คือการนำขยะ หรือวัสดุที่ไม่ได้ใช้แล้วมาผลิตให้เป็นของใช้ที่มีมูลค่า และใช้ประโยชน์ได้มากกว่าเดิมเพราะลูกค้าเรียกร้องให้ผลิตสินค้าออกมาจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็น เสื้อ กระเป๋า ผ้าพันคอ ฯล ให้กับเจ้าของธุรกิจและองค์กรที่สนใจ ทำให้เกิดรายได้อีกช่องทางหนึ่ง

ซึ่งสอดคล้องกับกระแสเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่ ‘ไม่ได้’เป็นเพียงแค่แนวความคิดที่ต้องการรักษาสิ่งแวดล้อมและสังคมเท่านั้น แต่ยังสามารถนำมาสร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ด้วยขณะเดียวกันนั้น ยังช่วย’ลด’การปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ จากการไม่ต้องผลิตผ้าใหม่ จากการสร้างโมเดลธุรกิจที่มีความยั่งยืน(Sustainability) ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสภาพเศรษฐกิจ และสังคมที่เปลี่ยนไป

ปัจจุบันสัดส่วนรายได้ของมอร์ลูป 80% มาจากการผลิตสินค้า ส่วนที่เหลือ 20% มาจากการจำหน่ายวัตถุดิบผ้า อมรพล มองว่าโมเดลการซื้อขายผ้าต้องใช้เวลา ในการสร้างการรับรู้กับเจ้าของธุรกิจ ห้างร้าน ในรูปแบบของบีทูบี (Business to Business) ส่วนที่เป็นผลิตภัณฑ์จะได้การตอบรับที่ดีทั้งบีทูบีและ บีทูซี (Business to Consumer) ส่งผลให้ปี2561 สามารถจำหน่ายขายผ้าไปได้500 กิโลกรัมรวมทั้ง2 ช่องทางแต่พอในปี2562 ที่ผ่านมาเติบโตแบบก้าวกระโดดสามารถจำหน่ายผ้าได้ถึง8,000 กิโลกรัม

ทั้งนี้เป็นผลมาจากการที่บริษัทสามารถขยายเครือข่ายได้จำนวนมากขึ้นจากเดิมมีโรงงานนำผ้ามาฝากขายกับเมอร์ลูป 3-4 แห่ง แต่ปัจจุบันมีโรงงานในเครือข่ายเพิ่มขึ้นถึง 50 แห่ง ส่งผลให้มีปริมาณผ้าและสินค้าหลากหลายที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้มากขึ้น ทั้งบริษัทมหาชนรายใหญ่ มหาวิทยาลัย บริษัทที่ใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมต่างเข้ามาเป็นลูกค้าเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

“เป้าหมายของมอร์ลูป ไม่ได้มองเป็นยอดขาย แต่ตั้งเป้าหมายว่าภายใน5 ปีจะช่วยลดการปลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ 1ล้านกิโลกรัม หลังจากที่ ในปี62 ที่ผ่านมาทำได้ 8,000 กิโลกรัม ซึ่งเท่ากับสามารถลดปลดปล่อยคาร์บอนไปได้1แสนกิโลกรัม ส่วนเป้าหมายใหญ่อยากจะสร้างอุตสาหกรรมที่เข้ามาช่วยสร้างสมดุลใหม่ในการผลิตให้สามารถอัพไซเคิลได้มากที่สุด ”

อมรพล ระบุว่า จากพื้นฐานเป็นนักวิเคราะห์ข้อมูลมาก่อน ทำให้ใส่ใจทุกรายละเอียด ตั้งแต่วัตถุดิบ การผลิต และเรื่องดีไซน์ ทุกขั้นตอนมีคุณภาพตามมาตรฐาน ในอนาคตที่จะพยายามพัฒนาไปใน ระดับที่คนใช้แล้วรู้สึกภูมิใจกับแบรนด์ “มอร์ลูป”เพราะเริ่มต้นมาจาก 1.วัตถุดิบที่ดี 2.โปรดักส์ชั่นที่ดีและ3. ดีไซน์ที่ดี ซึ่งกำลังพัฒนาไปเรื่อยๆ เพื่อให้เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคในแต่ละยุคสมัย รวมถึงความต้องการของลูกค้าแต่ละองค์กรแบบเฉพาะเจาะจง ที่

เข้ามาสั่งผลิตเสื้อ กระเป๋า หรือสิ่งของที่ทำจากผ้าแบบสำเร็จรูป นอกเหนือจากผ้าพับ

สินค้าที่ทำต้องตอบโจทย์ทั้งฟังก์ชั่นและอิมโมชั่น คือดีทั้งต่อใจและการใช้งานของลูกค้าเราทำให้สองอย่างนี้ไปด้วยกัน เพราะเราไม่อยากตอบโจทย์แค่ครึ่งเดียวหรือแค่ตามเทรนด์ แต่ต้องการให้สามารถตอบโจทย์ได้สมบูรณ์แบบที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อให้คนซื้อไปใช้จริงไม่ใช่แค่เพราะอยากแค่รู้สึกว่าช่วยสิ่งแวดล้อม ซึ่งในอนาคตจะพัฒนาดีไซน์ให้ทันสมัยมากขึ้น

----------------------------------

สำเร็จอย่างตัวกลางช่วยโลก

1.ดึงศักยภาพของคนในทีมออกมา

2.รับฟีดแบคแล้วนำมาปรับปรุง

3.สินค้าตอบสนองฟังก์ชั่นและอิมโมชั่น

4.จัดระบบการทำงานเหมือนกับเลโก้

5.สร้างเครือข่ายธุรกิจ