กูรูเตือน 'บาทแข็ง' ลากยาว จี้ทุนไทยเร่งลงทุนนอก

กูรูเตือน 'บาทแข็ง' ลากยาว จี้ทุนไทยเร่งลงทุนนอก

'เงินบาท' ส่อทะลุ 30 ต่อดอลลาร์ กูรูฟันธง 'บิ๊กดีล' ซื้อกิจการนอกไร้ผลค่าเงินระยะยาว แนะตั้งกองทุนมั่งคั่งช่วยบริหารค่าเงิน จี้ทุนไทยเร่งลงทุนนอก    

"นักวิเคราะห์" ฟันธงแนวโน้มบาทยังแข็งค่า แม้เกินดุลบัญชีเดินสะพัดลดลง พร้อมประเมิน "บิ๊กดีล" ธุรกิจใหญ่ซื้อกิจการต่างประเทศกว่าหมื่นล้านดอลล์ มีผลต่อค่าเงินช่วงสั้น ไม่สะเทือนพื้นฐานเงินบาทระยะยาว มองระยะสั้นบาทจ่อแข็งแตะระดับ 28.7 บาทต่อดอลลาร์ แนะเร่งผลักดันธุรกิจไทยลงทุนนอก พร้อมเสนอตั้งกองทุนมั่งคั่ง ช่วยบริหารค่าเงิน 

สถานการณ์เงินบาทยังน่าเป็นห่วง เพราะนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินว่า เงินบาทยังมีแนวโน้มทยอยแข็งค่าต่อเนื่อง แม้ในปี 2563 จะเห็นภาคธุรกิจออกไปซื้อกิจการหรือลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะดีลขนาดใหญ่ เช่น การซื้อหุ้นธนาคารเพอร์มาตาในอินโดนีเซีย ซึ่งมีมูลค่ากว่า 9 หมื่นล้านบาท หรือการเข้าประมูลซื้อ "เทสโก้ โลตัส" ในไทยและมาเลเซีย ของกลุ่มค้าปลีกขนาดใหญ่ของไทย ที่คาดกันว่าจะใช้เงินสูงเฉียด 3 แสนล้านบาท แต่นักวิเคราะห์ประเมินว่า จะมีผลต่อค่าเงินบาทเพียงแค่ช่วงสั้นเท่านั้น

157889465870

  • บาทส่อแข็งแตะ 28.7ต่อดอลล์

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์ นักกลยุทธ์ตลาดเงินตลาดทุน ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า การออกไปลงทุนต่างประเทศของผู้ประกอบการในระดับ 3-5 พันล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 90,000-150,000 ล้านบาท สามารถทำให้เงินบาทผันผวนได้ในกรอบ 0.5-0.7 บาท ในช่วงเดือนที่มีเงินทุนไหลออก

ทั้งนี้ ความน่าสนใจจึงอยู่ที่จังหวะ และการรับมือของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หากไม่ต้องการให้เงินผันผวน ก็ควรเข้ามาดูแลตลาดในช่วงดังกล่าว แต่หาก ธปท.ต้องการให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาด ก็คงจะเห็นการเคลื่อนไหวของค่าเงินที่ผันผวนในช่วงเวลาดังกล่าวได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามเชื่อว่าดีลขนาดใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในปีนี้ จะไม่มีผลต่อพื้นฐานของเงินบาทระยะยาว เพราะไม่ได้เป็นการเปลี่ยนโครงสร้างหรือธรรมชาติของค่าเงินบาท โดยนักลงทุนต่างชาติยังมองเงินบาทเป็นสกุลเงินปลอดภัย

สำหรับแนวโน้มเงินบาทปี 2563 ยังประเมินกรอบการเคลื่อนไหวในระดับ 28.70-30.70 บาทต่อดอลลาร์ โดยเงินบาทมีโอกาสแข็งค่าแตะระดับ 28.70 บาทต่อดอลลาร์ในช่วงไตรมาสแรกปีนี้ ก่อนจะอ่อนค่าลงในช่วงกลางปี และตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2563 จะเริ่มเห็นเงินดอลลาร์อ่อนค่าลง ส่งผลให้เงินสกุลอื่นๆ รวมทั้งเงินบาทกลับมาแข็งค่าได้อีกครั้ง

  • ดีลยักษ์ซื้อกิจการไร้ผลกระทบค่าเงิน

นายกอบสิทธิ์ ศิลปชัย ผู้บริหารสายงานวิจัยเศรษฐกิจและตลาดทุน ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า ธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนในต่างประเทศ แม้ปีนี้จะมีมากขึ้น แต่ไม่มีผลต่อค่าเงินบาทมากนัก เนื่องจากธุรกิจไทยที่ออกไปลงทุนหรือซื้อกิจการในต่างประเทศยังกระจุกตัวเฉพาะบริษัทใหญ่ในกลุ่ม SET50 อีกทั้งประเภทสินค้าที่ไปลงทุนยังค่อนข้างจำกัดอยู่ในไม่กี่อุตสาหกรรม และผลต่อค่าเงินก็เป็นเพียงเหตุการณ์เฉพาะที่เกิดขึ้นเพียงครั้งเดียวเท่านั้น

"กรณีดีลใหญ่เมื่อปีก่อน กลุ่มเอฟดับบลิวดี ซื้อกิจการไทยพาณิชย์ประกันชีวิต 100,000 ล้านบาท คิดเป็น 10% ของดุลบัญชีเดินสะพัด มีผลต่อค่าเงินบาทเหวี่ยงตัวแข็งค่าขึ้นแค่ชั่วคราว สะท้อนว่า แม้ดีลขนาดใหญ่ระดับ 10% ของดุลบัญชีเดินสะพัด และไม่มีความต่อเนื่อง มีผลเพียงต่อค่าเงินเพียงเล็กน้อยและชั่วคราวเท่านั้น"

นอกจากนี้การที่ภาครัฐจะมีมาตรการออกมาดูแล แต่มองว่า การออกมาตรการทางด้านอุปสงค์ (นโยบายการเงิน) เพื่อมาแก้ปัญหาด้านอุปทาน (ปัญหาเชิงโครงสร้าง) ไม่ตอบโจทย์กัน โดยต้องตระหนักว่าปัญหาของประเทศเป็นปัญหาเป็นหน้าที่ทุกกระทรวง ต้องร่วมกันดูแลไม่ใช่ผลักภาระไปให้ ธปท. ในการดูแลค่าเงินเท่านั้น

157889469642

  • 'กสิกร' ชี้นำเข้าน้อยกดดันบาทแข็ง

นายกอบสิทธิ์ กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นอาการ เศรษฐกิจเติบโตช้า เงินเฟ้อต่ำ การลงทุนชะลอ การออมมาก สะท้อนจากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ไม่มีความสมดุลต่อเรื่องการลงทุนกับการออมรวมถึงนโยบายคลังตึงตัว ยิ่งทำให้บาทแข็ง หนี้ครัวเรือนสูง ภาษีสรรพสามิตแพง ยิ่งเป็นภาระเพิ่ม ตัดกำลังซื้อ การอุปโภคน้อย การนำเข้ายิ่งน้อย เศรษฐกิจในประเทศยังเปราะบาง ดังนั้น เงินบาทแข็งค่า สามารถแก้ปัญหาด้วยการทำให้เศรษฐกิจในประเทศเข้มแข็ง สร้างอุปสงค์ในประเทศเทศเพิ่มขึ้น ด้วยการปฏิรูปภาษีสรรพสามิต

อย่างไรก็ตามในระยะสั้นเงินบาทอ่อนจากราคาน้ำมันสูงขึ้น แต่มองว่า ไม่จำเป็นเสมอไปที่ราคาน้ำมันปรับเพิ่มขึ้นแล้วจะช่วยเรื่องขาดดุลบัญชีเดินสะพัด และไม่น่าจะเกี่ยวข้องกับเรื่องของราคา แต่เกี่ยวข้องกับทางด้านปริมาณมากกว่า จากอุปสงค์ในประเทศยังน้อยเกินไป จึงไม่เปลี่ยนบทสรุปว่า ดุลบัญชีเดินสะพัดยังเกินดุล แต่อาจจะเกินดุลน้อยลง 

สำหรับแนวโน้มเงินบาทในปี2563 คาดว่ายังแข็งค่าในช่วงกลางปีนี้ที่ระดับ 29.75 บาทต่อดอลลาร์และช่วงสิ้นปีนี้ที่ระดับ 29.25 บาทต่อดอลลาร์ จากช่วงปิดสิ้นปี2562 เงินบาทปรับตัวแข็งค่าที่ระดับ 29.96 บาทต่อดอลลาร์ ขณะที่ในปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัดยังคงเกินดุลแต่เกินดุลลดลง อยู่ที่ระดับ 31,500 ล้านดอลลาร์ ลดลงจากในปี2562 อยู่ที่ระดับ 34,000 ล้านดอลลาร์ และในปี2561 อยู่ที่ระดับ 28,000 ล้านดอลลาร์

  • 'ทีเอ็มบี' แนะเพิ่มทีดีไอลดบาทแข็ง

นายนริศ สถาผลเดชา หัวหน้าเจ้าหน้าที่บริหาร ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจทีเอ็มบี กล่าวว่า หากต้องการให้เงินบาทอ่อนค่ามากขึ้น รัฐบาลต้องเร่งส่งเสริมให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่ม โดยที่ผ่านมาธุรกิจไทยมียอดคงค้างการลงทุนในต่างประเทศราว 1.48 แสนล้านดอลลาร์ คิดเป็น 29% ของจีดีพี ซึ่งยังเป็นประดับที่ต่ำกว่ามาเลเซียหรือสิงคโปร์ค่อนข้างมาก หากทางการผลักดันให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่มขึ้นมาอยู่ระดับเดียวกับมาเลเซียที่ 43% ของจีดีพีเชื่อว่าจะทำให้เงินบาทอ่อนค่าลงแบบมีนัยสำคัญ

"การเร่งผลักดันให้ธุรกิจไทยออกไปลงทุนต่างประเทศ นอกจากเป็นการกระจายความเสี่ยงการลงทุนแล้ว ยังช่วยยกระดับศักยภาพการผลิต ได้โนวฮาวใหม่ๆ เพิ่มเติม ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจไทยในระยะข้างหน้าด้วย ที่สำคัญหากดีลการลงทุนต่างประเทศขนาดใหญ่เกิดขึ้นต่อเนื่อง อาจทำให้มุมมองของต่างชาติที่มีต่อค่าเงินบาทเปลี่ยนไป"

  • เสนอตั้งกองทุนความมั่งคั่ง

นายอมรเทพ จาวะลา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ สำนักวิจัยธนาคารซีไอเอ็มบีไทย กล่าวว่า เงินบาทไทยเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งขันถือว่าแข็งค่าค่อนข้างมาก เป็นการแข็งค่าใกล้เคียงกับช่วงก่อนปี 2540 จึงเชื่อว่า แม้ว่าสถานการณ์สงครามการค้าจะผ่อนคลายลง แต่ไม่ได้หมายความว่าการส่งออกของไทยจะดีขึ้นด้วย เพราะสินค้าไทยถือว่าแพงเมื่อเทียบกับประเทศอื่น

ส่วนวิธีแก้ปัญหา ผู้ดูแลจำเป็นต้องเปลี่ยนรูปแบบการดูแลค่าเงิน และเน้นส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไทยออกไปลงทุนต่างประเทศเพิ่ม รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนหรือเครื่องจักรต่างๆ เพื่อพัฒนาศักยภาพเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรพิจารณาถึงแนวทางการจัดตั้งกองทุนความมั่งคั่ง (SWF) เชื่อว่าถึงเวลาแล้วที่กระทรวงการคลังและ ธปท.ต้องกลับมาคิดเรื่องนี้อย่างจริงๆ จังๆ 

นายอมรเทพ กล่าวว่า หลักการที่สามารถทำได้ คือ แยกรายได้บางส่วน เช่น รายได้จากการท่องเที่ยวออกจากบัญชีและตั้งกองทุนไปลงทุนต่างประเทศ โดยให้กระทรวงการคลังนำเงินบาทมาซื้อเงินสำรองในรูปดอลลาร์จาก ธปท. แล้วนำไปลงทุน เช่น ซื้อเทคโนโลยี หรือซื้อบริษัทที่ทำเกี่ยวกับเทคโนโลยี เพื่อมาเสริมศักยภาพประเทศ 

"กองทุนมั่งคั่ง หากเกิดขึ้นได้ ก็ไม่ใช่ ไทยเป็นประเทศเดียวที่มีแต่มาเลเซีย จีน ไต้หวัน ก็มีกองทุนลักษณะนี้ โดยไม่ใช่การเข้าไปซื้อบอนด์สหรัฐ เพราะผลตอบแทนต่ำ ซึ่งเชื่อว่าเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนทิศทางการแข็งค่าของค่าเงินบาทได้ไม่มากก็น้อยในอนาคต"