บาทแข็ง กดดันอุตฯ รถยนต์ ห่วงกระทบลงทุนรถอีวี
ประเทศไทยถือได้ว่าเป็นประเทศผู้ผลิตรถยนต์อันดับ 1 ของอาเซียน และเป็นอันดับที่ 12 ของโลก แต่จากภาวะค่าเงินบาทแข็ง และเศรษฐกิจโลกที่ผันผวนได้ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมยานยนต์ของไทยสูงทั้งในเรื่องของการส่งออก และการดึงดูดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า
สุรพงษ์ ไพสิฐพัฒนพงษ์ รองประธานและโฆษกกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์ สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ส.อท.ได้ตั้งเป้าหมายการผลิตรถยนต์ในปี 2563 จะมียอดผลิตทั้งสิ้น 2 ล้านคัน ลดลงจากปีก่อน 13,710 คัน หรือลดลง 0.68% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 1 ล้านคัน ลดลง 3.58% เพราะยังกังวลเรื่องสงครามการค้าที่ยังไม่มีความแน่นอนว่าจะยุติ ค่าเงินบาทแข็ง รวมถึงความขัดแย้งในตะวันออกกลาง
ส่วนการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ จำนวน 1 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 2.4% เพราะการผลิตรถอีโคคาร์รุ่นใหม่ของหลายบริษัทเข้าสู่ภาวะปกติ แต่ยังมีความกังวลเรื่องภัยแล้ง การเมืองในประเทศ และดัชนีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศที่ชะลอตัว
ขณะที่การผลิตรถจักรยานยนต์ ในปี 2563 คาดว่าจะมีจำนวน 2.1 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7.78% โดยแบ่งเป็นการผลิตเพื่อการส่งออก 4 แสนคัน เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 9.88% และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 1.7 ล้านคัน เพิ่มขึ้น 7.29%
ส่วนยอดการผลิตรถยนต์รวมในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,013,710 คัน ลดลงจากปี 2561 ประมาณ 7.1% แต่มากกว่าเป้าที่ตั้งไว้ 2 ล้านคัน โดยในจำนวนนี้แบ่งเป็นการผลิตเพื่อส่งออก 1,037,164 คัน ลดลง 9.24% มีมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด 859,917 ล้านบาท ลดลง 9.33% ผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 976,546 คัน ลดลง 4.72% ขณะที่รถจักรยานยนต์ในปี 2562 มีจำนวนทั้งสิ้น 2,533,269 คัน ลดลง 1.74%
“ในปี 2562 แม้ว่ายอดการผลิตทั้งหมดจะลดลงแต่ก็ยังผลิตทะลุ 2 ล้านคัน ต่อเนื่องเป็นปีที่ 2 และคาดว่าในปี 2563 ก็น่าจะมียอดผลิตเกิน 2 ล้านคัน ถือว่าเป็นจำนวนที่น่าพอใจ ทำให้ในปี 2562 ไทยเป็นผู้ผลิตรถยนต์ อันดับ 12 ของโลก ลดลงจากอันดับ 11 ของโลกในปี 2561"
โดยยอดการผลิตที่ลดลงก็ถือว่าลดลงน้อยกว่าประเทศอื่น ซึ่งค่าเฉลี่ยทั้งโลกที่ในรอบ 8 เดือนลดลง 5.9% แต่ทั้งปี 2562 ไทยลดลงเพียง 0.68% โดยโรงงานผลิตรถยนต์มีอัตราการใช้กำลังผลิต 70% ยังอยู่ในระดับที่ดี ส่วนโรงงานผลิตชิ้นส่วนที่ปิดตัวมีอยู่น้อยมากเมื่อเทียบกับจำนวนโรงงานที่ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ทั้งหมด
สำหรับปัญหาหลักที่สำคัญของอุตสาหกรรมรถยนต์ก็คือการแข็งค่าของเงินบาท ทำให้แข่งขันได้ลำบาก ส่งผลให้ผู้ผลิตบางรายย้ายการผลิตรถยนต์ที่เน้นการส่งออกโดยเฉพาะในกลุ่มรถยนต์ พีพีวี ที่ไทยผลิตเพื่อส่งออกปีละ 9.4 หมื่นคัน กลับไปผลิตในประเทศญี่ปุ่นที่เงินเยนแข็งค่า หรือไปผลิตในฐานการผลิตอื่นในอาเซียน ซึ่งหากค่าเงินบาทแข็งค่าต่ำกว่า 30 บาทต่อดอลลาร์ ก็น่าจะมีอีกหลายรุ่นที่ต้องย้ายไปผลิตในประเทศอื่น
นอกจากนี้ การแข็งค่าของเงินบาท ก็กระทบต่อการดึงดูดการลงทุนที่ไทยมุ่งเน้นในกลุ่มรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) เนื่องจากรถยนต์ไฟฟ้าตลาดหลักจะอยู่ในต่างประเทศ แต่ทั้งนี้การประเมินตั้งฐานการผลิตรถอีวี ก็ต้องคำนึงถึงในเรื่องอื่นๆ ด้วย เช่น รายได้ประชากร จำนวนประชากร โครงสร้างพื้นฐาน และความพร้อมของผู้ผลิตชิ้นส่วนภายในประเทศ
สำหรับในเรื่องของรายได้ประชากรไทยยังมีความได้เปรียบกว่าประเทศอื่นในอาเซียน แต่จะแพ้ในเรื่องประชากรให้กับเวียดนามและอินโดนีเซีย ส่วนจำนวนผู้ผลิตชิ้นส่วนของไทยยังคงมีความได้เปรียบ แต่ก็ต้องไปเปรียบเทียบกับมาตรการส่งเสริมการลงทุนรถอีวีของประเทศอื่นว่าดีกว่าไทยหรือไม่ แต่ล่าสุดได้มีบริษัทรถยนต์เข้ามาขอผลิตรถยนต์อีวี และปลั๊กอินไฮบริดแล้ว 13 ราย ในจำนวนนี้เป็นรถอีวีถึง 5 ราย แสดงว่าต่างชาติยังคนให้ความสำคัญกับการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในไทย
“ความได้เปรียบในการดึงดูดลงทุนรถยนต์อีวี ไม่ได้มีเพียงสิทธิประโยชน์การลงทุน แต่จะดูในเรื่องของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานสถานีบริการชาร์ตไฟฟ้าของแต่ละประเทศด้วย"
โดยประเทศญี่ปุ่นได้ส่งเสริมรถยนต์อีวีมานานมีสถานีชาร์ตไฟฟ้าอยู่เกือบ 2 หมื่นแห่ง ทำให้มีตลาดรถยนต์อีวีพอที่จะไปได้ ซึ่งหากไทยเน้นในเรื่องการขยายสถานีชาร์ตไฟฟ้าก็จะทำให้มีความน่าสนใจลงทุนมากขึ้น
สุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า สำหรับในภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมในขณะนี้ ยังไม่ค่อยดีนัก เพราะมีปัจจัยเสี่ยงหลายเรื่อง เช่น ความกังวลต่อกำลังซื้อภายในประเทศ ปัญหาภัยแล้งที่มีความรุนแรงทำให้กระทบต่อผลผลิตและรายได้ของภาคเกษตร สะท้อนจากคำสั่งซื้อและยอดขายของสินค้าที่ลดลงทั้งจากสินค้าคงทนและไม่คงทน
ขณะเดียวกันผู้ประกอบการส่งออกก็ยังคงได้รับผลกระทบจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ยังแข็งค่าต่อเนื่อง ตลอดจนความผันผวนของเศรษฐกิจโลกซึ่งส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกของไทย ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมในเดือน ธ.ค. 2562 อยู่ในระดับ 91.7 ลดลงจากเดือนพ.ย.ที่อยู่ในระดับ 92.3
สำหรับดัชนีฯ คาดการณ์ 3 เดือนข้างหน้าปรับตัวลดลงอยู่ที่ระดับ 100.1 โดยลดลงจากระดับ 101.3 ในเดือนพ.ย. 2562 เนื่องจากผู้ประกอบการยังมีความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจในประเทศและเศรษฐกิจโลกที่ยังไม่แน่นอน
รวมทั้งการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอี นอกจากนี้ ปัญหาความขัดแย้งและความตึงเครียดในตะวันออกกลางก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ราคาน้ำมันปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการแนวทางการแก้ไข ส.อ.ท. มองว่าภาครัฐควรจะปรับปรุงระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างให้มีความคล่องตัวมากยิ่งขึ้น และขอให้ภาครัฐหามาตรการแก้ไขปัญหาภัยแล้งอย่างเร่งด่วน