ฝ่าเศรษฐกิจขาลง ด้วยการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน
เข้าสู่ปี 2563 ได้ไม่นานเศรษฐกิจไทยเผชิญปัจจัยกดดันหลายประการทั้งจากความไม่สงบในตะวันออกกลาง การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า และล่าสุดยังเผชิญความไม่แน่นอนในเรื่องของ พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563
มนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตรวิทยาการการจัดการสำหรับนักบริหารระดับสูง (วบส.) สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์หรือ “นิด้า” กล่าวว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 จะขยายตัวได้ประมาณ2.5 – 2.7% โดยการที่เศรษฐกิจยังขยายตัวได้ไม่ถึง 3% ในปีนี้ เนื่องมาจากภาคส่งออกที่ยังได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า และจากค่าเงินบาทแข็งค่าโดยอัตราแลกเปลี่ยนมีโอกาสที่จะหลุด 30 บาทต่อดอลลาร์ทำให้ส่งผลกระทบกับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว
ขณะที่การเบิกจ่ายงบประมาณที่ล่าช้าก็จะเป็นปัญหาใหญ่กับเศรษฐกิจ กว่าเงินงบประมาณจะลงระบบเศรษฐกิจได้ก็อาจจะหลังเดือน มี.ค.หรือกว่าครึ่งหนึ่งของปีงบประมาณ 2563 ไปแล้ว
อย่างไรก็ตามส่วนที่รัฐบาลจะเร่งรัดได้ก็คือการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่มีงบประมาณลงทุนที่ตั้งไว้ประมาณ 3 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งรัฐบาลจะต้องเร่งในส่วนนี้ให้เร็ว รวมกับงบประมาณที่ค้างเบิกจ่ายอยู่ 5 แสนล้านบาท จากงบลงทุนของงบประมาณ 2562 ที่ผูกพันงบประมาณไว้
ดังนั้นรัฐบาลจะมีงบประมาณให้หมุนเวียนในระบบ 8 แสนล้านบาทเมื่อรวมกับเงินคงเหลือที่ยังไม่ได้เบิกจ่ายหรืองบประมาณที่มีการล่าช้าจากกงบประมาณแผ่นดินและงบประมาณในการลงทุนในปีที่ผ่านมาอีกประมาณ 3 แสนล้านบาท เท่ากับรัฐบาลมีวงเงินหมุนเวียนอยู่ 1.1 ล้านล้านบาท ต้องนำเงินส่วนนี้มาหมุนให้เร็วโดยการเร่งใช้จ่ายให้เร็วที่สุดเพื่อให้ช่วยให้เกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้
“การบริหารเศรษฐกิจในช่วงครึ่งปีแรกของรัฐบาลถือว่ายังเหนื่อยจากปัจจัยลบต่างๆก่อนที่จะฟื้นตัวเพิ่มขึ้นได้ในช่วงครึ่งปีหลัง ส่วนประเด็นสงครามการค้า ยังคงเป็นปัญหาที่จะกลับมากดดันการค้าโลกได้ในปีนี้โดยเฉพาะการเลือกตั้งสหรัฐฯที่จะมาถึงจะทำให้ประธานาธิบดีทรัมป์ต้องส่งสัญญาณในการกดดันจีนก่อนที่จะมีการเจรจาการค้าในระยะที่ 2 ต่อไป ขณะที่ทรัมป์ยังกดดันประเทศอื่นๆให้เร่งเจรจาการค้ากับสหรัฐทั้งอียู อินเดีย ทำให้บรรยากาศการค้าของโลกไม่ดีนัก”
ส่วนสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันการใช้นโยบายการคลังและการเงินถือว่ามีจุดอ่อนและมีข้อจำกัดในการใช้เนื่องจากเป็นเศรษฐกิจปัจจุบันเป็นวัฏจักรเศรษฐกิจขาลง ดังนั้นในขณะนี้จึงเหลือแค่นโยบายการคลังที่เป็นด้านรายจ่ายของภาครัฐ (government spending) เท่านั้นที่จะได้ผลมากที่สุดเพราะขณะนี้ประชาชนก็ไม่มีกำลังใช้จ่าย เอกชนก็ไม่ลงทุนการใช้กำลังการผลิตของภาคเอกชนอยู่ที่ 68% ยังว่างอยู่อีก 32% เอกชนจึงไม่ตั้งโรงงานใหม่ภาวะเศรษฐกิจแบบนี้รัฐบาลจึงต้องเป็นตัวนำในการลงทุนโดยเน้นในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานทั้งโครงการที่ค้างอยู่และโครงการใหม่
ทั้งนี้ กรอบที่รัฐบาลจะกู้เงินเพิ่มเพื่อการลงทุนเห็นได้จากจากเพดานหนี้สาธารณะที่ตาม พ.ร.บ.วินัยการเงินและการคลังกำหนดไว้ที่ 60% ของจีดีพีแต่ระดับหนี้สาธารณะของไทยในปัจจุบันอยู่ต่ำมากคือ 41% ของจีดีีพีเท่านั้น ดังนั้นยังมีช่องว่างหากก่อหนี้เพิ่มเพื่อการลงทุนอีกมากพอสมควร สมมุติว่ารัฐบาลก่อหนี้เพื่อการลงทุนโดยหากเพิ่มในส่วนนี้อีกสัก 10% เป็น 51% ของจีดีพีก็เท่ากับมีงบประมาณในการใช้ลงทุนอีก 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อให้ขับเคลื่อนและทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นมาได้
โดยการลงทุนที่ควรมีมากขึ้นคือการลงทุนเพื่อสร้างการเชื่อมโยงในอาเซียนกับประเทศไทยโดยเฉพาะอาเซียนตอนบน เพื่อให้ไทยได้ประโยชน์จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเพื่อนบ้านที่สูงกว่าประเทศไทย เช่นเมียนมาเติบโต 7% สปป.ลาวเศรษฐกิจเติบโต 7% เวียดนามเติบโต 7.5% และกัมพูชาเติบโต 7.5%
“ถ้ามีความจำเป็นก็สามารถที่จะทำได้เน้นที่จะตอบโจทย์ความสามารถในการแข่งขันและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เพิ่มมากขึ้น ถือเป็นการเพิ่มทั้งขีดความสามารถในการแข่งขันและการสร้างสินทรัพย์ให้กับประเทศ"
โดยหากมีการลงทุนมากขึ้นในพื้นที่ชายแดนก็จะเป็นโอกาสในการสร้างการเชื่อมโยงเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน ช่วยการกระจายรายได้ไปยังชายแดน เศรษฐกิจเติบโต เพิ่มการจ้างงานและสร้างการกระจายทางเศรษฐกิจได้มากที่สุดเหมือนกับที่สหรัฐอเมริกาเคยลงทุนจำนวนมากในช่วงปี 1934 เพื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจตกต่ำและประสบความสำเร็จมาแล้ว