โบรกจ่อหั่นกำไร ‘บจ.ใหญ่’ พิษไวรัสดึงศก.วูบ ‘แบงก์-ปิโตร’ จ่อสูญ 2.7หมื่นล.
นักวิเคราะห์ส่อหั่นประมาณการกำไรบจ.ขนาดใหญ่ มองกลุ่มปิโตรเคมีและธนาคารหนักสุด คาดกำไรปรับลดรวมกว่า 2.7 หมื่นล้าน ขณะ งบประมาณภาครัฐล่าช้าฉุดการเติบโตเศรษฐกิจ ประเมินดัชนีเสี่ยงร่วงแตะ 1,450 จุด หลังหลุดแนวรับสำคัญที่ 1,500 จุด ทำจุดต่ำสุดรอบ 3 ปี
ดัชนีหุ้นไทยวานนี้ (3ก.พ.) ปรับตัวลดลงต่ำกว่าแนวรับสำคัญที่ 1,500 จุด โดยปิดตลาดที่ 1,496.06 ลดลง18.08 หรือ 1.19% มูลค่าการซื้อขายรวม 53,178 ล้านบาท โดยนักลงทุนต่างประเทศ ซื้อสุทธิ 256 ล้านบาท นักลงทุนสถาบันขายสุทธิ 1,726 ล้านบาท พอร์ตโบรกเกอร์ ขายสุทธิ 500 ล้านบาท และนักลงทุนรายบุคคล ซื้อสุทธิ 1,970 ล้านบาท
นางสาวธีรดา ชาญยิ่งยงค์ ผู้ช่วยผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ฟิลลิป กล่าวว่า ในเบื้องต้นมีแนวโน้มว่าจะปรับประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนในปี 2563 ลง ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรวบรวมตัวเลขจากนักวิเคราะห์ในเบื้องต้น โดยเฉพาะครึ่งปีแรกนี้ มองความเสี่ยงของดัชนี SET มีโอกาสปรับลดลงไปแตะระดับ 1,450 – 1,460 จุด บนสมมติฐานที่ว่าปัจจัยลบต่างๆ ที่เกิดขึ้นในขณะนี้ไม่ได้มีสถานการณ์แย่ลงไปกว่าเดิม
โดยปัจจัยหลักที่กดดันคือ การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา ที่กระทบต่อการส่งออก และการท่องเที่ยวของประเทศ ขณะเดียวกันตลาดยังถูกกดดันจากงบประมาณภาครัฐที่ล่าช้า ซึ่งหากล่าช้าออกไปอีก 1 เดือน ก็จะทำให้งบประมาณรอบนี้ล่าช้าไปถึง 5 เดือน
ส่วนแนวโน้มตลาดหุ้นไทยวันนี้ (4ก.พ.63) คาดว่า ยังมีแรงกดดันจากปัจจัยเชิงลบที่ยังไม่คลี่คลาย ซึ่งระหว่างวันอาจเห็นแรงซื้อกลับมากระตุ้นตลาดบ้างเป็นระยะๆ แต่เชื่อว่าไม่มากนัก เพราะปัจจัยลบยังคงกดดันตลาดอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ให้กรอบดัชนีฯไว้ที่ระดับ 1,485-1,510 จุด
ด้านนายวิจิตร อารยะพิศิษฐ ผู้อำนวยการฝ่ายวิจัยหลักทรัพย์ บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เปิดเผยว่า มีแนวโน้มที่ประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียนจะถูกปรับลดลง เดิมทีเราประเมินไว้ที่ 101.7 บาทต่อหุ้น เทียบกับ Consensus ที่ 103 บาท ปัจจุบัน Consensus ปรับลดลงมาอยู่ที่ประมาณ 99-100 บาท หรือปรับลดกำไรลงไปประมาณ 4 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมที่น่าจะถูกปรับลดลงประมาณการลงอย่างแน่ชัดคือ กลุ่มท่องเที่ยว ส่งออก รวมทั้งธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับจีน
“ปัจจุบันเราประเมินแนวรับดัชนีที่ 1,450 จุด ซึ่งเป็นจุดที่อิงจากกำไรบจ.ของ consensus ประมาณ 100 บาทต่อหุ้น คูณกับค่าเฉลี่ยของ P/E ย้อนหลัง 10 ปีที่ 14.4 เท่า จึงทำให้หากดัชนีปรับลดลงมาในบริเวณนี้จริง ก็อาจจะเห็นการรีบาวด์ได้ และค่อยพิจารณาปัจจัยพื้นฐานในช่วงนั้นอีกครั้ง ซึ่งน่าจะได้เห็นการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาผ่านจุดพีคไปแล้ว และภาพของการเมืองในประเทศน่าจะชัดขึ้น”
บล.เอเซียพลัส ระบุว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจไทย ในปี 2563 มีโอกาสสูงว่าจะโตต่ำกว่าที่ฝ่ายวิจัยประเมินไว้ที่ 2.8% จากปีก่อน ขณะที่ Consensus คาดการณ์กันช่วง 2.7-3.2% โดยปัจจัยที่กดดันเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวต่ำกว่าเป้า ได้แก่ การส่งออกไทย ซึ่งปีนี้ถูกกระทบจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวชัดเจน ทั้งจากไวรัสโคโรน่า และสงครามการค้าระหว่างสหรัฐกับจีนที่ยังคงอยู่ นั่นก็คือ กำแพงภาษีรอบ 1 ถึง 3 ยังไม่ยกเลิก และความเสี่ยงที่สหรัฐจะตัดสิทธิ GSP ไทย
ส่วนประมาณการกำไรบริษัทจดทะเบียน (บจ.) งวดปี 2563 เดิมทีคาดไว้ราว 1 ล้านล้านบาท คิดเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 95.7 บาท แต่จากการทบทวนประมาณการในเบื้องต้น มีแนวโน้มว่าจะปรับลดกำไรปีนี้ของบจ.ขนาดใหญ่ 10 แห่ง แบ่งเป็นกลุ่มธนาคารพาณิชย์, ปิโตรเคมี, วัสดุก่อสร้าง, กลุ่มสื่อสาร และสนามบิน ส่งผลให้คาดการณ์กำไรบจ.ลดลงจาก 1 ล้านล้านบาท เหลือ 9.68 แสนล้านบาท หรือคิดเป็นเป็นกำไรต่อหุ้นที่ 92.62 บาทต่อหุ้น เติบโตเพียง 0.5% จากปีก่อน
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ บล.เอเซียพลัส พบว่ากลุ่มปิโตรเคมีและธนาคาร เป็นสองกลุ่มธุรกิจที่มีแนวโน้มจะถูกปรับลดประมาณการมากสุด โดยรวมกันถึงประมาณ 2.7 หมื่นล้านบาท