โบรกชี้ศก.ทรุดเกินคาด จ่อหั่น 'กำไรบจ.-จีดีพี'

โบรกชี้ศก.ทรุดเกินคาด จ่อหั่น 'กำไรบจ.-จีดีพี'

บล.ทิสโก้ เตรียมปรับลดประมาณการ "จีดีพี" และ "กำไรบจ." อีกรอบ หลังแนวโน้มเศรษฐกิจชะลอกว่าคาด ชี้ผลกระทบจากไวรัสโคโรนา เล็งลดเป้าจีดีพีเหลือโต 2% จากเดิมคาดโต 2.6% ส่วนกำไรบจ. ลดลงราว 3-4% ฉุด “อีพีเอส” ตลาดลดลงเหลือ105-106 บาทต่อหุ้น

นายอภิชาติ ผู้บรรเจิดกุล ผู้อำนวยการอาวุโส สายงานวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ บริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทิสโก้ จำกัด เปิดเผยว่าฝ่ายวิจัยเตรียมปรับประมาณการอัตราการเติบโตของภาวะเศรษฐกิจไทย (GDP) และกำไรสุทธิของบริษัทจดทะเบียนไทย (บจ.) ลงอีกระลอก ตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่คาดว่าจะชะลอตัวลงและผลกระทบจากการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า รวมถึงความเสี่ยงของงบประมาณรายจ่ายปี 2563 ที่ล่าช้าออกไปเพิ่มอีก 1 เดือน ซึ่งยังต้องติดตามลุ้นว่าช่วงครึ่งปีหลังของปีงบประมาณภาครัฐจะสามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้มากน้อยแค่ไหน

ทั้งนี้ในส่วนของประมาณการตัวเลข GDP ไทยปีนี้ จากการประเมินเบื้องต้นมีแนวโน้มจะถูกปรับลงมาที่อยู่ที่ระดับ 2% บวกและลบ ซึ่งลดลงจากเดิมที่เคยคาดไว้ว่าจะเติบโตราว 2.6% และของตลาดรวมคาดการณ์ไว้ระดับ 2.9% ซึ่งหลักๆเป็นผลมาจากผลกระทบของไวรัสโคโรน่าที่ส่งผลให้รายได้การท่องเที่ยวหายไปอย่างมากทันทีในระยะสั้น และคาดว่าจะส่งผลกระทบลูกโซ่ต่อภาคการบริโภค รวมถึงภาคการผลิตและภาคการส่งออกในระยะถัดไปด้วย เนื่องจากจีนเป็นประเทศผู้บริโภคและห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญของโลก

"ในช่วงไตรมาส1 ปี2563 คาดว่าตัวเลข GDP ไทยจะไม่เติบโตหรืออาจติดลบ เนื่องจากเป็นช่วงหนักของการระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่าและกระทบต่อภาวะเศรษฐกิจ ส่วนช่วงไตรมาส 2 ผลกระทบน่าจะน้อยลง และคาดว่าช่วงครึ่งปีหลังน่าจะฟื้นตัวได้ เพราะงบประมาณน่าจะเริ่มออกมาในช่วงเดือนมี.ค.-เม.ย.พอดี ซึ่งหากภาครัฐรีบเข็นโครงการออกมาเศราฐกิจก็น่าจะฟื้นตัวดีขึ้น"

นอกจากการหั่นประมาณการ GDP ลงแล้ว ฝ่ายวิจัยยังเตรียมปรับลดประมาณการกำไรของบจ.ลงราว 3-4% หลังผ่านพ้นช่วงฤดูกาลประกาศผลประกอบการปี 2562 หรือช่วงโค้งสุดท้ายของครึ่งหลังเดือนก.พ.นี้อีกรอบ จากเดิมที่คาดว่ากำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ปีนี้จะอยู่ที่ระดับ 110 บาทต่อหุ้น ลดลงมาเหลือระดับ 105-106 บาทต่อหุ้น

158186076742

ขณะที่นับตั้งแต่เริ่มต้นการประกาศผลประกอบการของหุ้นกลุ่มแบงก์ในช่วงต้นเดือน ม.ค. ต่อเนื่องถึงปัจจุบันหุ้นขนาดใหญ่บางตัว อาทิ บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) ,บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) ,บมจ.ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) ,บมจ.จัสมิน อินเตอร์เนชั่นแนล (JAS) ,บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ (TPIPP) , บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) ,บมจ.อินทัช โฮลดิ้งส์ (INTUCH) ,บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) ,บมจ. เคซีอี อีเลคโทรนิคส์ (KCE) ,บมจ.วีจีไอ (VGI) ,บมจ. โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และบมจ.ไออาร์พีซี (IRPC) พบว่าถูกปรับประมาณการลดลงต่อเนื่อง ส่วนกลุ่มที่ถูกปรับประมาณการลงมากที่สุดนับตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบัน (YTD) คือ ขนส่ง -8.8%,ปิโตรเคมี -8.7%,ธนาคารพาณิชย์ -7.0%,วัสดุก่อสร้าง-5.8% และไอซีที -5.5%