ธุรกิจจะรอดจาก 'COVID-19' ต้องเน้นที่อะไร?
เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้รายได้ลดลง ทางเดียวที่จะทำให้อยู่รอดได้คือ การลดต้นทุน และบริหารกระแสเงินสด เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจเพื่อให้ยังสามารถอยู่รอดต่อไปได้ โดยเชื่อกันว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยวจะหวนกลับมา
เมื่อนึกถึงผลกระทบจาก COVID-19 เรามักจะนึกถึงเรื่องของอัตราการติดเชื้อ ไม่สบาย หรือเสียชีวิตในระดับบุคคล ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าห่วงและต้องใส่ใจ แต่ขณะเดียวกันผลกระทบและความเสียหายจาก COVID-19 ยังส่งผลกระทบต่อสภาวะเศรษฐกิจและความอยู่รอดขององค์กรธุรกิจอีกด้วย
สิ่งที่ตอนนี้ลุ้นๆ กันอยู่คือ เมื่อการแพร่ระบาดของ COVID-19 จบสิ้นลง ธุรกิจจะสามารถยืนหยัดและรอดพ้นจากอาการบาดเจ็บ (ทางธุรกิจ) จากผลกระทบของ COVID-19 ได้อย่างไรบ้าง?
ผลกระทบของ COVID-19 ยังมีทางอ้อมอีก เนื่องจาก COVID-19 ไม่ได้ส่งผลต่อภาวะเศรษฐกิจและธุรกิจของไทยอย่างเดียวเท่านั้น อย่างเช่นกรณีของประเทศจีน ก็มีการพยากรณ์ไว้แล้วว่าถ้า COVID-19 สามารถจบสิ้นได้ใน 6 เดือน การเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนจะต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ 1% ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการส่งออกของธุรกิจไทยที่ต้องส่งสินค้า (เช่น ผลไม้) ไปประเทศจีน นอกจากนี้การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังจะส่งผลต่อธุรกิจของไทยที่ใช้ประเทศจีนเป็นฐานกำลังการผลิต หรือต้องใช้วัตถุดิบจากประเทศจีน
หันมามองในประเทศไทยกันบ้าง กลุ่มธุรกิจที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ COVID-19 คือกลุ่มธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวโดยตรง (กลุ่มที่ 1) ตั้งแต่โรงแรม สายการบิน บริษัททัวร์ ร้านอาหาร สถานที่ท่องเที่ยว ค้าปลีก แท็กซี่ แกร๊บ ฯลฯ
นอกเหนือนี้ ธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องจากกลุ่มธุรกิจข้างต้นก็จะได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ (เรียกว่าเป็นกลุ่มที่ 2 โดยธุรกิจกลุ่มนี้จะไม่ได้เกี่ยวกับการท่องเที่ยวโดยตรง แต่ได้รับผลกระทบจากปัญหาของกลุ่มที่ 1 รวมทั้งผลกระทบจากความกังวลเรื่อง COVID-19) เช่น ธุรกิจที่จัดหาอาหารและวัตถุดิบส่งให้กับโรงแรมและสายการบินต่างๆ ธุรกิจผลิตสินค้าสินค้าเข้าขายตามห้างสรรพสินค้าต่างๆ (คนเดินห้างและซื้อของในห้างน้อยลง) ธุรกิจจัด event ต่างๆ (ลดการชุมนุมของคนหมู่มาก) ผู้ขายน้ำมัน (นักท่องเที่ยวและคนเดินทางน้อยลง) หรือแม้กระทั่งโรงพยาบาลเองก็ได้รับผลกระทบ เนื่องจากผู้ที่แข็งแรงก็พยายามหลีกเลี่ยงการเดินทางไปโรงพยาบาลเพื่อลดโอกาสติดเชื้อ ฯลฯ
นอกจากนี้ยังกลุ่มธุรกิจกลุ่มที่ 3 ที่จะได้รับผลกระทบ คือผู้ที่เป็น Supplier ให้กับกลุ่มที่ 1 และ 2 เนื่องจากในธุรกิจกลุ่มที่ 1 และ 2 เมื่อขายสินค้าหรือบริการได้น้อยลง ย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อ Supplier อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะ Supplier ที่สำคัญอย่างสถาบันการเงิน ที่ปล่อยสินเชื่อให้กับธุรกิจต่างๆ ดังนั้นจึงไม่แปลกใจว่าทำไมสถาบันการเงินต่างๆ จึงได้ออกมาตรการเพื่อช่วยเหลือลูกค้าของตนที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 กันมากขึ้น
เมื่อธุรกิจได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ทำให้รายได้ลดลง ทางเดียวที่จะทำให้อยู่รอดได้คือ การลดต้นทุน และบริหารกระแสเงินสด เพื่อรักษาสภาพคล่องของธุรกิจเพื่อให้ยังสามารถอยู่รอดต่อไปได้ โดยเชื่อกันว่าเมื่อสถานการณ์ COVID-19 คลี่คลายแล้ว นักท่องเที่ยว (โดยเฉพาะจากจีน) จะหวนกลับมาเที่ยวไทยกันอีกครั้ง อีกทั้งปริมาณการบริโภคในประเทศก็จะกระเตื้องกลับมา เพียงแต่ไม่มีใครสามารถพยากรณ์ได้ว่าสถานการณ์จะคลี่คลายเมื่อใด และเมื่อถึงเวลานั้นธุรกิจจะยังรักษาชีวิตตัวเองไว้ได้หรือไม่
ดังนั้นประเด็นสำคัญสุดของบรรดาธุรกิจที่ได้รับผลกระทบนั้นคือ การลดต้นทุน ซึ่งควรจะเริ่มที่ต้นทุนที่ไม่จำเป็นก่อน ขณะเดียวกันสิ่งที่ตนเองโดดเด่นหรือเป็นเอกลักษณ์ของแต่ละองค์กรก็ไม่ควรจะไปลด เนื่องจากจะต้องเตรียมตัวให้พร้อมว่าเมื่อสถานการณ์คลี่คลายลง จะมีขีดความสามารถที่จะรับการเติบโตที่อาจจะกลับมาได้เพียงใด นอกจากเรื่องของลดต้นทุนแล้ว เรื่องของกระแสเงินสดในการดำเนินงาน ก็เป็นสิ่งที่ต้องดูแลและบริหารให้ดี เพราะในสถานการณ์แบบนี้เงินสดรับไม่น่าจะมีมากเท่าฝั่งจ่าย ดังนั้นเพื่อให้ธุรกิจสามารยืนระยะได้จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย ความสามารถในการบริหารกระแสเงินสดของกิจการ จึงเป็นสิ่งสำคัญ