มีโอกาสลงต่อ
ศุกร์ที่ผ่านมาดัชนีปิดปรับตัวลงแรง คล้ายกับตลาดหุ้นภูมิภาค ท่ามกลางสถานการณ์ไวรัสโควิด-19 ที่แพร่กระจายตัวอย่างรวดเร็ว
ส่งผลให้ดัชนี SET Index ปิดที่ 1,340.52 จุด (-54.56 จุด) Volume 8.6 หมื่นลบ. ต่างชาติ -300.92 ลบ. TFEX Net -13,010 สัญญา
ปัจจัยบวก / ปัจจัยลบ
+"พาวเวล"ประธานเฟดเผย เตรียมใช้มาตรการที่เหมาะสมเพื่อหนุนเศรษฐกิจในช่วงโควิด-19 ระบาด
+เงินบาทอ่อนค่าเข้าใกล้ระดับ 32 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐเป็นผลดีต่อการส่งออก + ก.คลังกำลังเร่งพิจารณาออกมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนจากผลกระทบจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 อย่างเร่งด่วนในการช่วยเหลือด้านการเงินและภาษี
-ดัชนีดาวโจนส์ปิดลดลง 357.28 จุด -1.39% โดยปรับตัวลงเป็นวันที่ 7 ติดต่อกัน และร่วงลงรายสัปดาห์รุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เกิดวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 เนื่องจากกังวลการแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วของไวรัสโควิด-19
-ราคาน้ำมันดิบ WTI ปิดลดลง 2.33 ดอลลาร์ -5% ปิดที่ 44.76 ดอลลาร์/บาร์เรล วิตกว่าการแพร่ระบาดทั่วโลกของไวรัสโควิด-19 จะส่งผลกระทบรุนแรงต่อเศรษฐกิจโลก และการใช้น้ำมัน
-สหรัฐพบผู้เสียชีวิตจากไวรัสโควิด-19 รายแรก ขณะยอดผู้ติดเชื้อเพิ่มเป็น 70 ราย
-สธ.แถลงผู้ป่วยโควิด-19 ในไทยเสียชีวิตรายแรก
-สนง.สถิติจีนเผยดัชนี PMI ภาคบริการเดือนก.พ.ร่วงแตะ 29.6 ส่วน PMI ภาคการผลิตเดือนก.พ.ร่วงแตะ 35.7 เนื่องจากผลกระทบไวรัสโควิด-19 ดัชนีที่ต่ำกว่า 50 บ่งชี้ถึงภาวะหดตัว
-การเมืองในประเทศขาดเสถียรภาพจากการเกิดแฟลชม็อบของนิสิต-นักศึกษาหลายสถาบัน
-Fund Flow ต่างชาติมีสถานะขาย YTD 36,951.27 ลบ. ค่าเงินบาท 31.51 บาท/US
*จับตาสหรัฐเผย PMI ภาคการผลิตขั้นสุดท้ายเดือนก.พ. ดัชนีภาคการผลิตเดือนก.พ. และการใช้จ่ายด้านการก่อสร้างเดือนม.ค.
แนวโน้มตลาดหุ้นไทย
คาดดัชนีตลาดหุ้นไทยมีโอกาสปรับตัวลงต่อ โดยความกังวลหลักยังอยู่ที่การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ล่าสุด WHO ได้เพิ่มการประเมินความเสี่ยงของการแพร่ระบาดทั่วโลก และความเสี่ยงจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 สู่ระดับที่สูงมาก ส่วนปัจจัยในประเทศมีแรงกดดันจากการชุมนุม “แฟลชม็อบ” ของกลุ่มนิสิตนักศึกษาเพื่อแสดงออกถึงจุดยืนในระบอบประชาธิปไตย คาดดัชนีเคลื่อนไหวในกรอบ 1,320-1,355 จุด
กลยุทธ์การลงทุน
- หุ้นที่ได้ประโยชน์จากเงินบาทอ่อนค่า (TU CPF)
- หุ้น Defensive (RATCH TTW ADVANC CHG)
- หุ้น High Dividend (KKP TISCO INTUCH)
หุ้นรายงานพิเศษ
CKP Analyst meeting (ระยะสั้นลบ แต่ระยะยาวน่าสนใจ)
รับ 3.50-3.70 ต้าน 3.90-4.00
- รายงานกำไรปี 19 อยู่ที่ 769 ลบ. +28%YoY โดยได้แรงหนุนจากส่วนแบ่งกำไรจากไซยะบุรีราว 500 ลบ. ในไตรมาส 4/62 อย่างไรก็ตามส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวมาจากกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนไม่ใช่จากผลการดำเนินงานของไซยะบุรี หากไม่รวมรายการดังกล่าวกำไรปกติปี 62 จะอยู่ 269 ลบ. -55%YoY เนื่องจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ผลิตไฟฟ้าได้ลดลงตามปริมาณน้ำที่น้อย
- ปี 63 ผบห. คาดผลประกอบการจะเติบโตอย่างมีนัยสำคัญจากการรับรู้โรงไฟฟ้าไซยะบุรีเต็มปี ขณะที่โรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 จะเน้นลดต้นทุนการเงินโดยอยู่ระหว่างออกหุ้นกู้ชุดใหม่ทดแทนชุดเดิมซึ่งจะช่วยให้ต้นทุนเงินทุนลดลง โดยปีนี้มีแผนลงทุนราว 4 พันลบ.เพื่อลงทุนในการขยายกำลังการผลิตใหม่
- ความเห็น ในระยะสั้นผลประกอบการถูกกดดันจากโรงไฟฟ้าน้ำงึม 2 ที่ปริมาณน้ำที่น้อยที่สุดในรอบ 70 ปี ขณะที่ไซยะบุรีปริมาณน้ำก็ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยย้อนหลัง 5 ปีเช่นกัน ส่งผลให้ผลประกอบการ 1Q63-2Q63 ยังคงอ่อนตัว แต่คาดว่า 3Q63-4Q63 ผลประกอบการจะดีขึ้นจากเข้าสู่ฤดูฝน แนะนำ นักลงทุนที่สามารถถือสถานะมากกว่า 6 เดือนเป็นจังหวะ “ซื้อสะสม”
หุ้นมีข่าว
· (+/-) LH analyst meeting “Neutral” ถือรับเงินปันผล
· ปี 62 มีกำไรสุทธิ 10,025 ล้านบาท -4.3% กำไรปกติที่ไม่รวมรายการพิเศษจากการขายโรงแรมแกรนด์เซนเตอร์พอยท์สุขุมวิท 55 และรายการอื่นเท่ากับ 7,683 ล้านบาท -18.2% เนื่องจากรายได้โอนที่ 2.51 หมื่นล้านบาท -16.8% อัตรากำไรขั้นต้นลดเหลือ 32.4% จาก 35.8% ในปี 61 ขณะที่ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนทรงตัวและรายได้ค่าเช่า +31% ต้นปี 63 มี backlog 4.6 พันล้านบาทซึ่งมีจำนวนเกือบครึ่งเป็นคอนโดฯ ทั้งนี้การเปิดตัวโครงการใหม่มีเฉพาะโครงการแนวราบเพื่อลดความเสี่ยงในการระบายสต๊อก
· ความเห็น ภาพรวมอุตสาหกรรมที่ชะลอตัวทำให้คาดว่าผลการดำเนินงานปกติในปีนี้มีแนวโน้มทรงตัวหรืออ่อนตัวหากภาวะเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัว LH ยังมีรายได้ประจำจากค่าเช่า ส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุน ชดเชยความผันผวนของรายได้จากการขาย ฝ่ายวิจัยมีมุมมอง “Neutral” หุ้น LH จ่ายเงินปันผลสม่ำเสมอปีละ 2 ครั้ง IAA consensus คาด yield เฉลี่ย 7.7% แนะนำถือรับเงินปันผล
· (+/-) ANAN Analyst Meeting : (ราคาเหมาะสม Bloomberg Consensus 3.10 ) มุมมอง “Neutral” แนะนำถือรับปันผล
· ปี 62 มีกำไรสุทธิ 705 ล้านบาท -71% เนื่องจากรายได้จากการโอนลดลง ส่วนแบ่งกำไรจากโครงการร่วมทุนลดลงเพราะมูลค่าโครงการที่สร้างเสร็จลดลง ต้นปีมี backlog 3.11 หมื่นล้านบาท ส่วนที่คาดจะโอนในปีนี้ ราว 1.1 หมื่นล้านบาท และมีสินค้าคงเหลือมูลค่า 8.6 พันล้านบาท ขณะที่แผนเปิดขายมีเพียง 1 โครงการมูลค่า 8.5 พันล้านบาท ลดลงกว่าครึ่งจากปีที่ผ่านมา
· ความเห็น ฝ่ายวิจัยมีมุมมอง “Neutral” จากภาพรวมอุตสาหกรรมที่ยังชะลอตัวผู้ประกอบการแต่ละรายล้วนถอยตั้งและเร่งระบายสินค้าคงเหลือ ราคาหุ้นปัจจุบันซื้อขายที่ PE 5.5 เท่าต่ำกว่ากลุ่มที่ระดับ 14 เท่า IAA consensus คาด yield เฉลี่ย 12% แนะนำ “ถือ” รอรับปันผล
· (-) มูดี้ส์ อนาลีติกส์ ชี้ โอกาสในการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนาเพิ่มขึ้นสองเท่า จาก 20% เป็น 40% และการระบาดจะทำให้สหรัฐฯ และทั่วโลกถดถอยในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ (ที่มา ข่าวหุ้น)
· (+) PTG (Bloomberg Consensus 19.08 บาท) สุดเจ๋ง! ปี 62 เบ่งกำไรสุทธิ 1,563 ล้านบาท โต 150% หลังค่าการตลาดกลับมาสู่ภาวะปกติ-ธุรกิจนอนออยล์เติบโต พร้อมจ่ายปันผลหุ้นละ 0.50 บาท ขึ้น XD วันที่ 11 มี.ค.นี้ ส่วน SSP ปลื้มงบปี 62 ทำนิวไฮกำไรดำเนินงานพุ่ง 23% ลุยลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานลม 48 MW ในเวียดนาม (ที่มา ข่าวหุ้น)
· (-) TRUE (Bloomberg Consensus 4.52 บาท) แจ้งงบปี 62 มีกำไร 5,637 ล้าน ลดลง 19.9% จากปีก่อน ขณะที่มีรายได้จากการให้บริการโต 3.9% แตะ 105,807 ล้านบาท ส่วนใหญ่เติบโตจากทรูมูฟ เอช บอร์ดอนุมัติปันผล 0.09 บาท/หุ้น ขึ้น XD วันที่ 13 มี.ค. 63 (ที่มา ข่าวหุ้น)
· (-) TKN (Bloomberg Consensus 10.57 บาท) หั่นเป้าปี 2563 ยอดขายเหลือ 5.3 พันล้านบาท จากเดิมที่วางไว้ 5.8 พันล้านบาท เซ่นพิษ "ไวรัสโควิด-19" แถมจ่อควบรวมโรงงานจาก 2 แห่ง เหลือ 1 แห่ง พ่วงปิดสาขา "เถ้าแก่น้อยแลนด์" หวังลดต้นทุนการดำเนินงาน คาดชัดเจนช่วงไตรมาส 3/2563 (ที่มา ทันหุ้น)
· (+/-) NER - Analyst Meeting “Neutral”
รายงานกำไรปี 62 เท่ากับ 562.8 ลบ. +10.8%YoY โดยรายได้เพิ่มขึ้นสู่ 1.3 หมื่นลบ. +29.3%YoY เติบโตการขยายกำลังผลิตยางผสมอัดแท่ง (RSS-CPR) ประกอบกับได้ผลบวกจากการที่ลูกค้าจีนย้ายฐานการผลิตมายังไทย ขณะที่ %GPM ปรับลงมาที่ 8.6% จากปีก่อนอยู่ที่ระดับ 10.3% ตามการขยายตัวของยอดส่งออกที่เพิ่มขึ้น ทำให้บริษัทมีค่าใช้จ่าย CESS มากขึ้น ประกอบกับราคาขายปรับตัวเพิ่มขึ้นน้อยกว่าราคาต้นทุนที่เพิ่มขึ้น
แนวโน้มปี 63 บริษัทยังเผชิญความท้าทายหลายปัจจัย โดย 1Q63 คาดได้รับผลกระทบจากการเลื่อนส่งสินค้าไปจีนของลูกค้า 2 ราย เนื่องจากผลกระทบของไวรัสโควิด-19 ขณะที่ ภัยแล้งปีนี้คาดจะทำให้ Supply ยางในตลาดลดลง และส่งผลให้ส่งมอบสินค้าได้น้อยลง แต่คาดจะถูกชดเชยจาก ราคายางที่ปรับตัวขึ้น โดยทั้งปี 63 ผบห.คาดรายได้ราว 2.1 หมื่นลบ. พร้อมกับคาดปริมาณขายที่ 4.08 แสนตัน เพิ่มขึ้นจากปี 62 ซึ่งอยู่ที่ระดับ 2.8 แสนตัน สนับสนุนตามการขยายไลน์ผลิตใหม่ยาง STR-CPR เพิ่มกำลังผลิตอีก 1.7 แสนตัน ซึ่งได้รับออเดอร์จากลูกค้าแล้ว