พาณิชย์ชงกกร.คุมปริมาณการถือครองหน้ากากอนามัยของบุคคลทั่วไป-ผู้ค้าออนไลน์และออฟไลน

พาณิชย์ชงกกร.คุมปริมาณการถือครองหน้ากากอนามัยของบุคคลทั่วไป-ผู้ค้าออนไลน์และออฟไลน

ปลัดพาณิชย์ เผย   เตรียมเสนอมาตรการบุคคลทั่วไปถือครองหน้ากากต้องแจ้งกรมการค้าภายใน ป้องกันกักตุนสินค้า  พร้อมยึดหน้ากากอนามัยจากโรงงานผลิตให้ศูนย์บริหารหน้ากากอนามัย กระทรวงพาณิชย์ เพื่อระบายให้ประชาชนอย่างทั่วถึง

นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยภายหลังการประชุมวอร์รูมหน้ากาก ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ปัญหาหน้ากากอนามัยขาดแคลนว่า กระทรวงพาณิชย์จะเสนอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ (กกร.) ที่มีนายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ เป็นประธาน พิจารณาออกประกาศกกร.กำหนดให้ผู้หนึ่งผู้ใดที่มีหน้ากากอนามัยในครอบครองเกินกว่าปริมาณที่กำหนด ต้องแจ้งปริมาณการครอบครองต่อกรมการค้าภายใน ตามมาตรา 30 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ  โดยจะเสนอให้กกร.พิจารณาโดยเร็วที่สุด หากไม่แจ้ง จะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จากเดิมที่กกร.กำหนดให้เฉพาะผู้ผลิต ผู้ค้า ผู้ส่งออก ผู้นำเข้า ต้องแจ้งปริมาณที่มีในครอบครอง

”กกร.จะเป็นผู้กำหนดปริมาณการครอบครองที่เหมาะสม ซึ่งอาจแตกต่างกันไปในแต่ละกลุ่ม เช่น สถานพยาบาล ที่จำเป็นต้องใช้, ร้านขายยา, นิติบุคคล ที่ไม่เกี่ยวกับการขายยา อย่างผู้ค้าทั่วไป, บุคคลธรรมดา อย่างผู้ค้าทั่วไป และผู้ค้าออนไลน์ โดยการกำหนดมาตรการเช่นนี้ ก็เพื่อป้องกันการกักตุน เพราะในช่วงนี้จะเห็นว่า มีการประกาศขายตามสื่อโซเชียลมากมาย บางรายระบุว่ามีสินค้าเป็นล้านชิ้น”

   158323546198

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวว่า  นับจากวันที่ 3 มี.ค.นี้เป็นต้นไป หน้ากากอนามัยทุกชิ้น ที่โรงงานผลิตได้ หรือประมาณ 38 ล้านชิ้น จะนำเข้าสู่ศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย ของกระทรวงพาณิชย์ทั้งหมด จากก่อนหน้านี้ที่ปันส่วนเข้าศูนย์ประมาณ 40-45%  เพื่อให้ศูนย์สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และทั่วถึงมากขึ้น ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว ไม่ถือว่า เป็นการแทรกแซงการทำธุรกิจปกติของภาคเอกชน เพราะพ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 ให้อำนาจกระทรวงพาณิชย์เต็มที่ในการบริหารจัดการสินค้าควบคุมภายใต้ภาวะวิกฤติ ส่วนเมื่อนำมาทั้งหมด 100% แล้ว โรงงานจะสามารถทำการค้าได้ตามปกติหรือไม่นั้น อยู่ที่การพิจารณากันในศูนย์บริหารจัดการหน้ากากอนามัย

ที่ผ่านมา กรมการค้าภายใน ขอปันส่วนจากผู้ผลิตทั้ง 11 แห่งในสัดส่วนไม่เกิน 45% ของกำลังการผลิต เพื่อมากระจายต่อให้กับผู้ที่จำเป็นต้องใช้ก่อน อย่างโรงพยาบาลและบุคลากรทางการแพทย์ และส่งให้ร้านสะดวกซื้อ ร้านธงฟ้าทั่วประเทศ เพื่อขายสู่ประชาชน ส่วนที่เหลือ โรงงานไปขายเองตามช่องทางการค้าปกติ เช่น ขายให้กับลูกค้าต่างๆ แต่กลับพบว่า มีการประกาศขายตามสื่อโซเชียลจำนวนมาก ทำให้ผู้จำเป็นต้องใช้จริงๆ ไม่ได้ใช้ กระทรวงพาณิชย์ จึงต้องเข้าไปดูแลเองทั้งหมด เพื่อให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่ อาจจะยังไม่เพียงพอ เพราะความต้องการใช้ขณะนี้เพิ่มขึ้นกว่า 5 เท่าของช่วงปกติ ที่ใช้เพียงเดือนละ 30 ล้านชิ้นเท่านั้น แต่อยากฝากให้ประชาชน ที่ไม่ได้เจ็บป่วย ใช้หน้ากากอนามัยที่ทำจากผ้าจะดีกว่า เพราะซักแล้วใช้ซ้ำได้ หน้ากากอนามัยทางการแพทย์ควรเก็บไว้ให้บุคลากรทางการแพทย์ และผู้เจ็บป่วยใช้เท่านั้น

      158323565855      

นายบุณยฤทธิ์ กล่าวต่อถึงการแก้ปัญหาผู้ค้าหน้ากากอนามัยเกินราคาผ่านทางออนไลน์ว่า ได้ขอความร่วมมือกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี ในการตรวจสอบ ผู้ค้าหน้ากากอนามัยผ่านแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซใดๆ ก็ตาม ที่ขายเกินราคาตามมาตรา 29 พ.ร.บ.ว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เมื่อล่อซื้อได้จะส่งดำเนินการคดีตามกฎหมายขั้นเด็ดขาด โดยจะมีโทษจำคุกสูงสุดไม่เกิน 7 ปี หรือปรับไม่เกิน 140,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

นอกจากนี้ เจ้าของแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซทุกราย ที่มีผู้ขายหน้ากากอนามัยค้ากำไรเกินควร เข้าข่ายมีความผิดมาตรา ฐานค้ากำไรเกินควร และมีความผิดฐานเดียวกันกับผู้ค้า รวมถึงผู้ที่เป็นอี-มาร์เก็ตเพลส เปิดให้ผู้ขายมาโพสต์ขายสินค้าและมีผู้ซื้อเข้ามาซื้อสินค้า เสี่ยงมีความผิดกฎหมายอาญา หากพบการกระทำความผิดจะถูกดำเนินการขั้นเด็ดขาด