'ไทยออยล์' วางศิลาฤกษ์โครงการ CFP โชว์ศักยภาพลุยลงทุนอีอีซี

'ไทยออยล์' วางศิลาฤกษ์โครงการ CFP โชว์ศักยภาพลุยลงทุนอีอีซี

"ไทยออยล์" วางศิลาฤกษ์โครงการพลังงานสะอาด (CFP) เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่น ลุยลงทุนอีอีซี

วันนี้ (5 มีค.63) บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) จัดให้มีพิธีวางศิลาฤกษ์อาคารควบคุมกระบวนการผลิตหลัก โครงการพลังงานสะอาด ( Clean Fuel Project: CFP) โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ให้เกียรติเป็นประธานในพิธี โดยมีศาสตราจารย์พิเศษ ดร.ทศพร ศิริสัมพันธ์ ประธานกรรมการ นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ คณะผู้บริหาร บมจ.ไทยออยล์ และแขกผู้มีเกียรติ เข้าร่วมในพิธีดังกล่าว ณ โรงกลั่นไทยออยล์ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

นายวิรัตน์ เอื้อนฤมิต ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน ) เปิดเผยว่า “ ไทยออยล์ลงทุนพัฒนาโครงการ CFP เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันของโรงกลั่น ด้วยการขยายกำลังการกลั่นเพิ่มขึ้นจาก 275,000 บาร์เรลต่อวัน เป็น 400,000 บาร์เรลต่อวัน ก่อให้เกิดการประหยัดด้านขนาด (Economies of Scale) สามารถลดต้นทุนการผลิต เพิ่มความยืดหยุ่นในการรับน้ำมันดิบ ทำให้โรงกลั่นสามารถเพิ่มสัดส่วนการกลั่นน้ำมันหนัก (Heavy Crude) ได้มากขึ้นร้อยละ 40-50 สามารถเพิ่มคุณค่าผลิตภัณฑ์ โดยเปลี่ยนน้ำมันเตาให้เป็นน้ำมันอากาศยานและน้ำมันดีเซลซึ่งมีราคาสูงกว่าและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งตอบสนองการปรับเปลี่ยนของตลาดซึ่งอิงกับกฎระเบียบที่เปลี่ยนแปลงไป เช่น การลดปริมาณการใช้น้ำมันเตาในการเดินเรือในปี 2563 รวมถึงการผลิตน้ำมันเบนซินและดีเซลมาตรฐานยูโร 5 เพื่อสภาพแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดี โครงการ CFP ใช้เงินลงทุนทั้งสิ้นประมาณ 4,825 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มีระยะเวลาดำเนินโครงการตั้งแต่ปี 2562 และคาดว่าจะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในปี 2566 โครงการนี้จะส่งผลให้บริษัทฯ มี EBITDA เพิ่มขึ้นประมาณ 1,200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ต่อปี มีกำไรขั้นต้นจากการผลิตของกลุ่ม (Gross Integrated Margin: GIM) เพิ่มขึ้นประมาณ 4 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ”

“โครงการ CFP จัดเป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาคเอกชนโครงการแรกภายในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งสร้างโอกาสให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้โดยโครงการ CFP จัดเป็นโครงการภาคเอกชนที่มีเม็ดเงินลงทุนสูงสุดโครงการหนึ่งของประเทศ ก่อให้เกิดกระแสเงินหมุนเวียนสนับสนุนการขับเคลื่อนเศรษฐกิจภายในประเทศโดยตรงมากกว่า 40,000 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยวงเงินในการจ้างงานประมาณ 22,000 ล้านบาท หรือกว่า 20,000 คนในช่วงก่อสร้าง และวงเงินในการลงทุนด้านเครื่องจักรและอุปกรณ์ประมาณ 18,000 ล้านบาท โครงการนี้ยังเสริมสร้างความมั่นคงด้านพลังงานและช่วยขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจให้กับประเทศในระยะยาว โดยทดแทนการนำเข้าผลิตภัณฑ์ในอนาคตโดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ซึ่งคาดว่าตั้งแต่ปี 2565 ประเทศไทยอาจต้องเริ่มมีการนำเข้าน้ำมันอากาศยาน จากความต้องการที่ขยายตัวขึ้น ”

“นอกจากนี้ โครงการ CFP ถือเป็นก้าวสำคัญของบริษัทฯ ในการเพิ่มขีดความสามารถในการขยายธุรกิจ โดยการต่อยอดสายห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจไปสู่ธุรกิจปิโตรเคมี โดยใช้ผลิตภัณฑ์พลอยได้ Light Naptha และ Heavy Naphtha ของโครงการ CFP เป็นวัตถุดิบสำหรับโครงการปิโตรเคมีระดับ World Scale ซึ่งเป็นการเสริมสร้างศักยภาพในการต่อยอดธุรกิจไปสู่ธุรกิจอื่น (New S-Curve) ที่สอดคล้องกับแนวโน้มในอนาคต ซึ่งจะช่วยสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นแก่คนในสังคม ตามวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ ที่ว่า สร้างสรรค์คุณภาพชีวิต ด้วยพลังงานและเคมีภัณฑ์ที่ยั่งยืน (Empower Human Life through Sustainable Energy and Chemicals)” นายวิรัตน์ กล่าว

“การก่อสร้างโครงการ CFP มีความคืบหน้าประมาณ 29% โดยการออกแบบทางวิศวกรรมเบื้องต้น งานสั่งซื้ออุปกรณ์และเครื่องจักรหลักที่ใช้ระยะเวลาจัดส่งนานได้ดำเนินการแล้วเสร็จ ในปัจจุบันอยู่ระหว่างการออกแบบทางวิศวกรรมโดยละเอียด รวมถึง การปรับปรุงพื้นที่และงานวางฐานราก เพื่อรองรับงานติดตั้งโครงสร้าง เครื่องจักรและอุปกรณ์ เนื่องจากโครงการ CFP เป็นโครงการขนาดใหญ่ จะต้องใช้กำลังคนในช่วงการก่อสร้างมากถึง 15,000 – 20,000 คนต่อวัน บริษัทฯ ได้เตรียมมาตรการด้านความปลอดภัย ความมั่นคง และสิ่งแวดล้อมในการควบคุมการก่อสร้าง รวมถึง มาตรการควบคุมด้านสิ่งแวดล้อมตามแนวทางในรายงานการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) อย่างเคร่งครัด เช่น การควบคุมด้านฝุ่นละออง การควบคุมเศษวัสดุก่อสร้างและขยะ การบริหารงานจราจรในพื้นที่ การควบคุมเรื่องเสียง ตลอดจน การประชาสัมพันธ์ทำความเข้าใจเชิงรุกกับชุมชนและประชาชนในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ”

“บริษัทฯ มีความเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการ CFP จะช่วยสร้างความมั่นคงทางพลังงานให้กับประเทศในระยะยาวและก่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนแก่ระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม และบริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นที่จะรักษาคุณค่าทางธุรกิจ ผ่านการบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล (Environment, Social, and Governance: ESG) เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้มีส่วนได้เสียทุกกลุ่ม ซึ่งพิสูจน์ได้จากการที่บริษัทฯ ได้รับการยกย่องเป็นองค์กรโปร่งใส และเป็นผู้นำด้านความยั่งยืน ด้วยคะแนนสูงสุดของ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) เมื่อเทียบกับบริษัทจดทะเบียนทั่วโลกในอุตสาหกรรมเดียวกัน (Industry Leader) เป็นปีที่ 5 และเป็นสมาชิกในกลุ่ม Emerging Markets ต่อเนื่องเป็นปีที่ 7” นายวิรัตน์ กล่าว