กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯแนะปรับสูตรก่อนลดราคาหน้าโรงกลั่น

กลุ่มธุรกิจโรงกลั่นฯแนะปรับสูตรก่อนลดราคาหน้าโรงกลั่น

กลุ่มโรงกลั่นฯแนะรัฐตั้งคณะทำงานศึกษาปรับสูตรคุณภาพน้ำมันให้เหมาะสมกับต้นทุน ก่อนลดราคาหน้าโรงกลั่น ระบุไทยใช้มาตรฐานสูงกว่าสิงคโปร์ทำต้นทุนพุ่งตาม

นายบัณฑิต ธรรมประจำจิต ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมโรงกลั่นน้ำมันปิโตรเลียม สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กลุ่มโรงกลั่นฯ ได้ประชุมร่วมกับคณะทำงานเพื่อพลังงานที่เป็นธรรม ที่มีปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน ซึ่งมีตัวแทนหลายภาคส่วนและภาคประชาชน เพื่อชี้แจงข้อมูลที่ถูกต้องเกี่ยวกับโครงสร้างราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่น หลังจากก่อนหน้านี้ คณะทำงานฯดังกล่าว เสนอให้โรงกลั่นฯปรับลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นลง 50 สตางค์ต่อลิตร นั้นสามารถดำเนินการได้ 

หากรัฐพิจารณาปรับลดมาตรคุณภาพการผลิตน้ำมันของโรงกลั่นในประเทศไทยลง เพื่อให้มีต้นทุนลดลง เนื่องจากไทยใช้มาตรฐานยุโรป ระดับ 4 หรือ ยูโร 4 เช่น เดียวกับสิงคโปร์ แต่ในบางข้อกำหนดของไทยสูงกว่า เช่น ค่าเบนซีน , ความดันไอ ,อุณหภูมิการระเหย เป็นต้น ทำให้ไทยมีต้นทุนสูงกว่าสิงคโปร์

อีกทั้ง ราคาที่คณะทำงานฯ นำมาพิจารณาเป็นราคาอ้างอิงออกเทน 91 (MOB 91 ) ไม่ใช่ MOB 95 ซึ่งเป็นน้ำมันที่ซื้อขายปริมาณสูงในเอเชียและเป็นราคาอ้างอิงที่ใช้กัน โดย MOB 91 มีการซื้อขายน้อยมาก เป็นราคาประเมินเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ทางกลุ่มโรงกลั่นฯ จึงเสนอให้ กระทรวงพลังงาน ตั้งคณะทำงานที่มีผู้เชี่ยวชาญมาพิจารณาปรับปรุงคุณภาพน้ำมัน กำหนดสเปรคน้ำมันให้เหมาะสมกับประเทศไทย เช่น หากข้อกำหนดรายละเอียดคุณภาพน้ำมัน ข้อใดมีมาตรฐานที่สูงเกินไป และมีความจำเป็นจริงหรือไม่ รวมถึง นโยบายรัฐบาลที่ต้องการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพ ควรมีการกำหนดสเปรคของโรงกลั่นฯที่เหมาะสมอย่างไร

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เผยว่า เมื่อเร็วๆนี้ กรมธุรกิจพลังงาน ได้เชิญกลุ่มโรงกลั่นฯในประเทศทั้ง 6 โรง มีกำลังผลิตรวมประมาณ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน มาหารือถึงการกำหนดมาตรฐานน้ำมันพื้นฐาน G-BASE ใหม่ สำหรับการส่งเสริมการใช้แก๊สโซฮอล์ อี 20 เป็นเกรดพื้นฐานสำหรับกลุ่มเบนซิน และยกเลิกการจำหน่ายแก๊สโซฮอล์ 91 ภายในไตรมาส 3 ปีนี้ โดยจะพยายามบริหารจัดการให้เกิดสมดุลการผลิตการนำเข้า G-BASE 95 และการส่งออก G-BASE 91 เพื่อไม่ให้กระทบการผลิตและจำหน่ายน้ำมันของประเทศ คาดว่า จะมีการหารือร่วมกันอีกครั้งในช่วงกลางเดือน มี.ค.นี้

ก่อนหน้านี้ นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) ระบุว่าการปรับลดราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นฯเชื่อว่า เรื่องนี้ยังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจน เพราะธุรกิจน้ำมันเป็นกลไกตลาดเสรี และหากคำนวณจากกำลังการกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปประมาณ 9 แสนล้านบาร์เรลต่อวัน คิดเป็นการกลั่นน้ำมันกลุ่มดีเซลและเบนซิน ประมาณ 60 ล้านบาท หากลดราคาหน้าโรงกลั่นลง 50 สตางค์ต่อลิตร จะทำให้รายได้หาย 30 ล้านบาทต่อวัน ซึ่งจะกระทบต่อรายได้ของโรงกลั่น และการจ่ายภาษีให้กับภาครัฐ