เตรียมตัวอยู่ยาวกับโควิด-19 ในตลาดการเงิน
หากเราต้องอยู่กับโควิด-19 นี้ต่อไปอีกซักระยะ ซึ่งยังไม่มีใครรู้จะว่าจุดสิ้นสุดจะจบลงเมื่อใด ดังนั้นนักลงทุนเองจะต้องเตรียมตัวหรือรู้ให้ทันว่า ควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรบ้าง ในการอยู่กับตลาดที่มีความผันผวนสูงนี้
คงไม่ต้องเกริ่นนำกันอีกแล้วว่าตลาดการเงินผันผวนจากโควิด-19 มากแค่ไหน
เพราะตอนนี้ ไม่ใช่แค่ผล “ทางตรง” จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่หายไป แต่ผล “ทางอ้อม” จากความกลัวก็ยิ่งซ้ำเติม ดังนั้นถ้าเราต้องอยู่กับโควิด-19 นี้ต่อไปอีกซักระยะ นักลงทุนจะต้องรู้ให้ทันว่าควรเตรียมพร้อมรับมืออย่างไรในการอยู่กับตลาดที่ผันผวนสูง
สิ่งแรก ต้องเข้าใจเงื่อนไขเวลาและขนาดว่า “ต่อไปซักระยะ” คือปรับตัวลงแค่ไหน และนานเท่าไหร่
แม้จะไม่มีเหตุการณ์ไหนใช้เปรียบเทียบได้ 100% แต่ในประวัติศาสตร์ ก็มีระยะเวลาและขนาดความรุนแรงที่น่าสนใจศึกษาหลายแบบ งานวิเคราะห์ล่าสุดของ ดร.บินกี้ ชันดรา (Binky Chadha) หัวหน้านักกลยุทธ์ของ Deutsche Bank แบ่งประเภทของตลาดขาลงออกเป็น 4 กลุ่ม
เริ่มตั้งแต่เบาที่สุด คือเมื่อตลาดพบกับความกลัวจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เช่นการปรับขึ้นลงแรงของราคาน้ำมัน ระยะทางจากสูงสุดไปต่ำสุดของตลาดหุ้นโลกจะที่ 16.5% โดยใช้ระยะเวลา 3 สัปดาห์ในการปรับตัวลงและอีก 3 สัปดาห์ในการกลับมาจุดเดิม
แบบที่สองและสามซึ่งใกล้เคียงกับปัญหาโควิด-19 ในปัจจุบัน คือความผันผวนสูงหรือเศรษฐกิจชะลอตัว การปรับตัวลงจะกินระยะเวลาตั้งแต่ 6 สัปดาห์ไปถึง 3 เดือน จากระดับสูงสุดลงไปต่ำสุดของตลาดอยู่ในช่วง 15-20% แต่กว่าจะกลับมาได้ก็ต้องรอไปถึง 4 เดือน
ส่วนแบบสุดท้ายและแรงที่สุด การที่เราจะเห็นตลาดปรับตัวจากระดับสูงสุดไปต่ำสุดเกินกว่า 30% ได้ จะเกิดขึ้นในกรณีที่เศรษฐกิจสหรัฐเข้าสู่ภาวะถดถอย และอาจกินระยะเวลาถึง 14 เดือนกว่าที่ทุกอย่างจะสามารถกลับมายืนจุดเดิม
ต่อมา ก็ต้องเตรียมรับมือกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งในตลาดการเงินเราไม่กักตุนของแต่ลดของ
ของที่ว่า ไม่ใช่ของยังชีพ แต่เป็นสินทรัพย์ที่เกี่ยวข้องกับวัฏจักรเศรษฐกิจ
เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจหลายอย่างจะเปลี่ยนแปลง เร็วที่สุดคือสายพานการผลิตที่หยุดชะงัก ขณะที่การควบคุมการท่องเที่ยวหรือการเดินทาง จะเกิดตามมาเรื่อยๆ ระยะเวลาในการรวมกลุ่มหรือทำงานจะน้อยลง กดดันต่อไปที่กำลังซื้อและการใช้จ่าย สะท้อนเข้ามาสู่ตลาดในรูปแบบของเงินฝืดในระยะยาว
ทั้งหมดส่งผลให้การลงทุนในกลุ่มที่จำเป็นต้องมีแรงส่งจากวัฏจักรเศรษฐกิจ (เช่น อุตสาหกรรม พลังงาน วัสดุก่อสร้าง) ไม่กลับมาเร็ว กลุ่มที่มีหนี้สูงต้องดิ้นรนมากขึ้น ในขณะเดียวกัน เงินเฟ้อที่ต่ำ ก็จะหนุนให้ดอกเบี้ยคงอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องเป็นบวกต่อบอนด์มากกว่า
อย่างไรก็ตาม เรายังมองโลกในแง่ดีได้บ้าง ว่าเหตุการณ์นี้จะทำให้นโยบายการคลังและการเงินต้องเปลี่ยนเพื่อรับสถานการณ์ และเราสามารถปรับการลงทุนให้สอดคล้องได้เช่นกัน
โดยครั้งนี้แตกต่างจากปี 2008 โดยสิ้นเชิง ตรงที่ทั้งตลาดไม่มีความกลัวเรื่องเงินเฟ้อสูงจากการใช้นโยบายการเงินแบบสุดโต่งอย่าง QE อยู่เลย
ขณะเดียวกัน ภาระหนี้ที่สูงของภาครัฐก็จะกลายเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายมองข้ามเมื่อโควิด-19 กลายเป็นปัญหาระยะยาว ส่งผลให้ทฤษฎีการพิมพ์เงินแจกอย่าง Modern Monetary Theory หรือ MMT เกิดได้ง่ายขึ้นในยุคสมัยนี้
สินทรัพย์ที่จะได้ประโยชน์น่าจะเป็นสินทรัพย์ที่อยู่ในขอบข่ายการลงทุนของประเทศที่สามารถใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบสุดขั้วเหล่านี้ได้ ซึ่งน่าจะเป็นสินทรัพย์ทางการเงินของประเทศใหญ่ ๆ ของโลกเช่นสหรัฐ ยุโรป ญี่ปุ่น
นอกจากนั้น เมื่อต้นทุนปัจจัยในการดำรงชีวิตลดลงแต่เศรษฐกิจยังโตช้า การลงทุนในสินทรัพย์ที่มีแต่ความผันผวน เช่นทอง หุ้นเทคโนโลยีที่ไม่มีกำไร หรือบิทคอยน์ ก็จะกลายเป็นอีกหนึ่งสินทรัพย์ที่ตลาดจะให้ความสนใจเพื่อเป็นล็อตตารี่ประจำพอร์ตไว้ให้กำลังใจเราว่ายังมีโอกาสร่ำรวยจากการลงทุนเหลืออยู่
สรุป เตรียมตัวอย่างไร ลงทุนอะไรได้บ้าง ในมุมมองของผม
ใครมีแต่เงินสด เปลี่ยนมาเป็นพันธบัตรรัฐบาลหรือกองทุนหุ้นกู้บ้างก็ไม่สายครับ ถ้าเชื่อว่าเรื่องนี้อยู่กับเราอีกซักพัก ยีลด์ที่เห็นตอนนี้ไม่ต่ำเกินไปแน่นอน
ใครมีแต่หุ้น ลดลงบ้างก็ดีครับ เพราะต่อให้เทรดเก่งแค่ไหน ความผันผวนเกินกว่าระดับ 20% ขึ้นไปก็ไม่ใช่สิ่งที่คุ้มกับภาพเศรษฐกิจในอนาคต
ใครไม่มีหุ้นต่างประเทศ มีบ้างก็ดีครับ เริ่มด้วยกองทุนก็ได้ เพราะผมเชื่อว่าสินทรัพย์เหล่านี้มีดีทั้งในแง่การกระจายความเสี่ยง และโอกาสในการสร้างผลตอบแทนที่ดีกว่าแค่หุ้นไทย
และสุดท้าย ใครที่ยังไม่มีสินทรัพย์ทางเลือกหรือ structured product เริ่มมองบ้างก็ดีครับ เพราะอนาคตที่การเติบโตไม่สูงและบอนด์ยีลด์ต่ำเตี้ย สิ่งที่จะตัดสินความสำเร็จของการลงทุนอาจไม่ใช่แค่สินทรัพย์หลักอีกต่อไป
ผมเชื่อว่าการอยู่ยาวกับโควิด-19 ไม่ใช่เรื่องยาก ถ้านักลงทุนมีการเตรียมตัวที่ดีและไม่ปิดกั้นตัวเองอยู่กับเครื่องมือการลงทุนเดิม ๆ ครับ