ร.ฟ.ท.จ่อประมูลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีแดง

ร.ฟ.ท.จ่อประมูลส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสีแดง

ร.ฟ.ท.เตรียมเปิดประมูลรถไฟสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 ช่วง วงเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท ไม่เกิน มิ.ย.นี้ เร่งวางระบบฟีดเดอร์ หลังงานก่อสร้างส่วนแรก ช่วงบางซื่อ – รังสิต คืบหน้า 98% เปิดให้บริการ ม.ค.64

     นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการระบบรถไฟชานเมือง(สายสีแดง)ช่วงบางซื่อ-รังสิต และการก่อสร้างสถานีกลางบางซื่อ โดยระบุว่า ภาพรวมปัจจุบันงานก่อสร้างคืบหน้าไปกว่า 98% ซึ่งคาดว่าสถานีกลางบางซื่อจะเสร็จสมบูรณ์ในเดือน มิ.ย.นี้และจะเปิดให้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดงช่วงบางซื่อ-รังสิต และบางซื่อ-ตลิ่งชัน รวม13สถานี41กิโลเมตร(กม.)ได้ในเดือน ม.ค.2564กำหนดอัตราค่าโดยสารอยู่ที่15-50บาท

     นอกจากนี้ ร.ฟ.ท.ยังเตรียมเปิดประมูลโครงการก่อสร้างระบบรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง(ส่วนต่อขยาย) 3สัญญา รวมวงเงินกว่า2.16หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย ช่วงรังสิต - มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต5.97พันล้านบาท,ช่วงตลิ่งชัน - ศิริราช5.98พันล้านบาท และช่วงตลิ่งชัน - ศาลายา9.67พันล้านบาท ไม่เกินเดือน มิ.ย.นี้ คาดว่าจะได้ผู้ชนะการประมูลภายในปีนี้ และเริ่มก่อสร้างได้ในปี2564

     สำหรับรถไฟฟ้าสายสีแดง ปัจจุบันได้รับรถมาแล้ว5ขบวน ประกอบด้วย1ขบวน6ตู้2ชุด และ1ขบวน4ตู้3ชุด ส่วนที่เหลืออีก125ขบวนจะทยอยเดินทางมาถึงประเทศไทยภายในเดือน มิ.ย.นี้ และจะมีการทดสอบการเดินรถประมาณ6เดือน ซึ่งในขั้นตอนนี้จะมีการเปิดให้ประชาชนทดลองได้ใช้บริการฟรีแน่นอน แต่จะเป็นเดือนใดนั้นอยู่ระหว่างการพิจารณา

     อย่างไรก็ตามเวลานี้ได้มอบให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเร่งหารือกับกรมการขนส่งทางราง(ขร.)และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.)รวมถึงหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการทำฟีดเดอร์เชื่อมต่อรถไฟฟ้าสายสีแดงของสถานีต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับความสะดวกในการเดินทางมาใช้บริการ โดยเฉพาะสถานีรังสิต ซึ่งมีเป้าหมายจะให้เชื่อมต่อไปถึงคลอง6ถนนรังสิต-นครนายก

     นายวรวุฒิ ยังกล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ร.ฟ.ท.ยังเตรียมการจัดตั้งบริษัทเดินรถไฟชานเมืองสายสีแดง โดยจะขออนุมัติเงินกู้ 3,000 ล้านบาทจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อใช้เป็นทุนจดทะเบียนบริษัทฯ และจัดสรรบุคลากร ในช่วงแรก 773 อัตรา โดยมาจากการโอนย้ายพนักงานจาก บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด พนักงานจาก ร.ฟ.ท. และเปิดรับสมัครพนักงานใหม่

     ส่วนทางเลือกในการบริหารสถานี ร.ฟ.ท. มีแนวทางเลือกอยู่หลากหลายแนวทาง เช่น ร.ฟ.ท. ดำเนินการบริหารงานสถานีด้วยตนเองทั้งหมด จัดตั้งบริษัทลูกให้ดำเนินการแทน เชิญชวนเอกชนร่วมลงทุน จัดจ้างเอกชนเข้ามาบริหาร หรือให้สิทธิ์เอกชนเป็นผู้ดำเนินการและจ่ายผลตอบแทน เป็นต้น ซึ่งขณะนี้ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาทางเลือกที่สอดคล้องและเหมาะสมที่สุด ซึ่งจะมีการนำเสนอแนวทางเลือกเข้าที่ประชุมคณะกรรมการ (บอร์ด) พิจารณาในวันนี้ (19 มี.ค.)