เทอร์ร่าฯ คาดอสังหาฯสายป่านสั้น 'ควบรวม-ขายสินทรัพย์' ดิ้นรอด
‘เทอร์ร่า บีเคเค’ เผยข้อมูลภาพรวมอสังหาฯระบุไตรมาส2ยอดขายลด 50% เตือนดีเวลลอปเปอร์สายป่านสั้น เร่งบริหารกระแสเงินสด คาดเห็นการควบรวม ตัดขายสินทรัพย์ ขณะสายป่านยาว แนะกระจายเสี่ยงเลือกลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีโอกาส
นางสาวสุมิตรา วงภักดี กรรมการผู้จัดการ บริษัท เทอร์ร่า มีเดีย แอนด์ คอนซัลติ้ง จำกัด หรือเทอร์ร่า บีเคเค ผู้ให้บริการมาร์เก็ต เพลส และคอนเทนต์อสังหาริมทรัพย์ กล่าวว่า จากการเก็บข้อมูลของ TerraByte ภาพรวมการเปิดตัวโครงการใหม่ในไตรมาสแรกปีนี้ มีจำนวนยูนิตรวม19,000 ยูนิต ส่วนไตรมาสสองปีนี้คาดว่าจะลดลงเหลือ9,500 ยูนิตลดลง 50% ขณะที่สินค้าที่อยู่อาศัยคงค้างในตลาด (Inventory)ในเดือนก.พ. มีจำนวน 55,000 ยูนิต แบ่งออกเป็นแนวราบ 25,000 ยูนิต คอนโดมิเนียม 30,000 ยูนิต
จากตัวเลขดังกล่าวสะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้รายได้ของผู้ประกอบการลดลง เพราะผู้บริโภคส่วนใหญ่ชะลอการซื้อและออมเงินเพราะไม่มั่นใจว่าเศรษฐกิจจะดีขึ้น หากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น เศรษฐกิจยังแย่ประกอบกับไม่มีเงินอัดฉีดในระบบ อาจจะส่งผลกระทบต่อ ธุรกิจที่เกี่ยวข้องตามมาอาจเกิดการเลย์ออฟพนักงาน เพื่อให้ธุรกิจยังคงประคองตัวอยู่รอดไปถึงปีหน้า สำหรับผู้ประกอบการที่สายป่านสั้น คาดว่าจะสามารถอยู่ได้ไม่เกิน 10 เดือน ฉะนั้นต้องปรับแผนโดยอาจจะควบรวมกิจการหรือตัดขายสินทรัพย์ที่มีอยู่เพื่อเพิ่มกระแสเงินสด
นางสาวสุมิตรา ยังประเมินว่า แนวโน้มภาพรวมของธุรกิจอสังหาฯในไตรมาส 2 ประมาณการยอดขายจะลดลง50%จากไตรมาสแรก ที่ลดลง 30% เป็นผลมาจากวิกฤติโควิด-19 ที่กระทบต่อกำลังซื้อรวมทั้งข้อจำกัดจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดมีผลต่อการตัดสินใจซื้อของลูกค้า ดังนั้นแม้ที่ผ่านมาหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจสังหาริมทรัพย์จะให้ความสำคัญกับวลีที่ว่า “Location is the King” แต่ในช่วงที่วิกฤติแบบนี้ต้องเปลี่ยนมาเป็น“Cash is the King” เพื่อประคับประคองให้ธุรกิจยังสามารถเดินหน้าต่อไปได้
โดยแนวทางการปรับตัวในภาวะการณ์เช่นนี้ มีหลายวิธีที่ผู้ประกอบการจะนำมาใช้ อาทิ การออกหุ้นกู้ ปรับขนาดองค์กรใหม่ ตัดหน่วยธุรกิจ ลดกำลังคน ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ออกไปก่อน ลดราคาขายเพื่อระบายสต็อกสร้างกระแสเงินสด ขายที่ดินหรือขายโครงการทิ้งเพื่อลดภาระหนี้สิน ควบรวมกิจการซึ่งจะสามารถช่วยได้ทั้งแหล่งเงินทุนและกำลังคน หรือเสนอขายสินค้าให้กับกลุ่มซัพพลายเออร์ แบบการันตีผลตอบแทน
“สิ่งที่สำคัญที่สุดคือการบริหารกระแสเงินสด สังเกตได้จากช่วงนี้ บริษัทในตลาดหลักทรัพย์เร่งออกตราสารหนี้ ส่วนผู้ประกอบการที่อยู่นอกตลาดก็ขอลดดอกเบี้ย,แบ่งเฟสการพัฒนาโครงการให้จำนวนยูนิตน้อยลง และเริ่มลดราคาขายลงมา เพื่อต้องการระบายยูนิตที่สร้างเสร็จแล้ว ปรับกลยุทธ์ทางธุรกิจเข้าสู่ดิจิทัล ทั้งดำเนินการเองหรือใช้บริการ Real estate tech startups มากขึ้น และไม่รับคนเพิ่ม”
นางสาวสุมิตรา กล่าวว่า ปัจจุบันในต่างประเทศมีประเมินว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จะคลี่คลายเร็วสุดในเดือนส.ค.ปีนี้ และกรณีเลวร้ายที่สุดจะสิ้นสุดในเดือนธ.ค.ปีหน้า ดังนั้นไตรมาส 2 ปีนี้ ผู้พัฒนาอสังหาริมทรัพย์จึงต้องปรับกลยุทธ์เพื่อให้ธุรกิจอยู่รอดและพร้อมรับสถานการณ์ ที่อาจจะลากยาวไปต่อถึงเดือนธ.ค.ปีหน้า เข้าสู่ภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (Great Depression )
สำหรับผู้ประกอบการที่มีสายป่านยาวควรเลือกไปลงทุนในธุรกิจใหม่ที่มีโอกาสและศักยภาพเพื่อกระจายความเสี่ยง เช่น กลุ่มพลาสติกบรรจุภัณฑ์อาหาร ,กลุ่มเวชภัณฑ์ อนามัย, กลุ่มประกันภัย ทั้งประกันชีวิต สุขภาพและวินาศภัย กลุ่มโลจิสติกขนส่งสินค้าอุปโภคบริโภคในกลุ่มอุตสาหกรรมที่ได้ประโยชน์จากโควิด-19 ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้าใหม่ที่มีผลิตภัณฑ์ หรือบริการให้ได้ในราคาที่เหมาะสมกับกำลังซื้อที่แท้จริงของลูกค้า และตอบสนองความต้องการของลูกค้าที่ใส่ใจสุขภาพ สิ่งแวดล้อมมากขึ้น พร้อมทั้งเพิ่มช่องทางการขายผ่านสื่อออนไลน์ เพื่อสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มเป้าหมาย หากสถานการณ์คลี่คลายออกบูธ หรือจัดโรดโชว์ตามบริษัท โรงงาน แทนที่จะขายในห้างสรรพสินค้าเพียงอย่างเดียว