'เราไม่ทิ้งกัน' แล้วเงินจะถึงใคร? คำต่อคำ 'อุตตม สาวนายน' กับเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
เคลียร์ทุกปม "เราไม่ทิ้งกัน" 5,000 บาท จากปาก "อุตตม สาวนายน" คลายทุกข้อสงสัยเกี่ยวกับมาตรการเยียวยา รวมทั้งมาตรการ 1.9 ล้านล้านบาทที่จะเข้าไปหนุนให้ครอบคลุมประชาชนทุกคน
มาตรการ ลงทะเบียน www.เราไม่ทิ้งกัน.com รับเงิน เยียวยา 5,000 บาท โดยเปิดให้ ตรวจสอบสิทธิ์เราไม่ทิ้งกัน ตั้งแต่วันที่ 8 เมษายน 2563 เป็นต้นไป เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลและเยียวยาประชาชนจากผลกระทบโควิด-19 ในระยะที่ 2 ขณะที่มาตรการระยะที่ 3 นั้น รัฐบาลได้ออกมา เป็น พ.ร.ก.เงินกู้ 3 ฉบับ วงเงิน 1.9 ล้านล้านบาท
คำถามสำคัญในวงเงินก้อนล่าสุดที่รัฐบาลออกมาตรการมานั้นอยู่ตรงที่ จะมีการบริหารจัดการอย่างไร และใครบ้างที่จะได้รับการดูแลจากเงินก้อนนี้
ล่าสุดวันนี้ (8 เม.ย.) อุตตม สาวนายน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มานั่งตอบทุกคำถามเกี่ยวกับ พ.ร.ก.กู้เงินฉุกเฉิน และมาตรการที่เกี่ยวข้องในวงเงินดังกล่าวในรายการ newsroom ห้องข่าวเศรษฐกิจ ทางเนชั่นทีวี โดยเจ้าตัวเน้นย้ำเรื่องการดูแลให้ครอบคลุมถึงประชาชนทุกกลุ่มให้มากยิ่งขึ้น
อ่านคำต่อคำจากปากของ ขุนคลัง คนล่าสุดได้ตั้งแต่บรรทัดนี้เป็นต้นไป!
- ผลกระทบจาก โควิด-19 จะสะเทือนเศรษฐกิจมากแค่ไหน
วิกฤติครั้งนี้เราไม่เคยเห็นมาก่อน เปรียบเทียบง่ายๆ คือปี ผลกระทบทางเศรฐกิจครั้งนี้แรงกว่าตอนวิกฤติปี 40 ที่มีไทยเป็นศูนย์กลาง ครั้งนั้นปัญหามาจากธุรกิจ สถาบันการเงินก็ปล่อยกู้เยอะ ภาคเอกชนมีผลกระทบ แต่ไม่ได้ถูกกระทบโดยตรง คนที่ตกงานเพราะภาคธุรกิจได้รับผลกระทบก็ยังสามารถกลับบ้านได้ หรืออย่างน้อยก็ยังมีข้าวกิน แต่ครั้งนี่ไม่ใช่ มันกระทบทั่วโลก การค้าขายของโลก ประเทศไทยเองส่งออกประมาณ 70% กระทบแน่นอน แต่มองภาพรวมต้องบอกว่า กระทบตั้งแต่ฐานรากขึ้นมาข้างบน ด้านผู้บริโภคตอนนี้กระทบแล้ว รัฐบาลมีมาตรการที่จำเป็นมาต่อสู้โควิด ทำให้กำลังซื้อในระบบหายไป เมื่อมีการซื้อน้อยการขายของได้น้อย เมื่อขายได้น้อยก็มีการลดค่าใช้จ่ายลงเป็นวงจร รัดตัวไปเรื่อยๆ กระทบกันไปทั้งหมด
- ที่มาของ พ.ร.ก.เงินกู้ 1.9 ล้านล้านคืออะไร และเป้าหมายสูงสุดของเงินก้อนนี้อยู่ตรงไหน
เม็ดเงินที่จะเสนอใช้สู้กับโควิด และดูแลเศรษฐกิจ 1.9 ล้านล้านบาท ซึ่งพ.ร.ก.ที่เสนอกู้นั้น คือ 1 ล้านล้านบาท ในส่วนอีก 9 แสนล้านบาทนั้นจะใช้เงินจากธนาคารแห่งประเทศไทยที่เป็นผู้ดูแล แต่ต้องปลดล็อกให้ธนาคารแห่งประเทศไทยเอาเงินมาใช้ได้
โดยรายละเอียดของงบประมาณ 1 ล้านล้านบาทนั้น การดูแลหลัก ก็คือ การดูแลภาคประชาชนให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้น ทุกภาคส่วนของสังคม ทั้งประชาชน และผู้ประกอบการมันแยกกันไม่ออกหรอกครับ ทุกคนได้รับผลกระทบหมด โดยเฉพาะภาคเกษตรกร กำลังซื้อหายไป รัฐบาลต้องดูแลให้เกษตรกรกลับมาเข้มแข็งให้ได้ ดูแลคนว่างงาน เกษตรกร และสาธารณสุข รัฐบาลใช้งบกลางฉุกเฉินไปเยอะเกี่ยวกับโควิด-19 แต่ก็ยังชัดเจนว่าไม่พอ จึงเป็นเหตุผลที่ว่า ทำไมต้องกู้เงิน ถ้าพอเราไม่กู้อยู่แล้ว
- ก้อนแรกจะใช้งบเท่าไหร่
งบก้อนแรกที่จะดูแลประชาชนโดยรวมให้ครบทุกกลุ่มโดยประมาณ 6 แสนล้านบาท คือ ดูแลคนที่ได้รับผลกระทบโดยตรง โดยที่ว่าจะมีส่วนของประกันสังคมกับอาชีพอิสระที่รัฐดูแลอยู่แล้วด้วยงบประมาณจำนวนหนึ่ง แต่ที่จะเสนอเพิ่มคือ เกษตรกร โดย 5,000 บาทรอบแรกนั้นไม่ครอบคลุมครอบคลุมกับอาชีพเกษตรกร โดยเงิน 6 แสนล้านบาท ส่วนหนึ่งนั้นจะมาเติมในส่วนของการดูแลเกษตร อีกส่วนหนึ่งก็จะดูแลในส่วนของอาชีพอิสระ
- รายละเอียดมาตรการเยียวของกลุ่มเกษตรกรเป็นอย่างไร
ตอนนี้กำลังเตรียมการ แต่หลักใหญ่ๆ นั้นจะดูเป็นรายครัวเรือน ข้อมูลที่ขึ้นทะเบียนตอนนี้มีพอสมควร แต่ส่วนจะเป็นในรูปแบบไหนนั้น กำลังดู แต่คงจะเป็นตัวเงิน ต้องเอาเงินใส่มือ นาทีนี้ มันเห็นชัด ถ้าระบบขาดสภาพคล่องมันมีผลชัดเจนอยู่แล้ว เพียวแต่ตอนนี้เรากำลังดูให้เหมาะสมรัดกุม ว่าให้เท่าไหร่ ทั้งหมดต้องผ่าน ครม. จะอุดช่องโหว่ ในการลงทะเบียนรอบนี้
ตอนนี้กำลังลงรายละเอียดกัน กำลังเตรียมการที่ต้องไปดูแล เพราะว่าภาคเกษตรกรเป็นกลุ่มใหญ่ของสังคม และเศษฐกิจ ที่โดนกระทบ และสมาชิกในครอบครัวที่ออกมาเป็นแรงงานได้กลับคืนท้องถิ่น
รวมๆ แล้วเราต้องดูแลภาคเกษตร เพราะมีคนกลับไปไม่มีงานทำ จากผลกระทบโควิด-19 ภาคเกษตร ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ เพราะกำลังซื้อลดลง ราคาพืชผลก็เริ่มตกต่ำ มันพันกันมา นี่เป็นเหตุผลที่จะดูแลภาคเกษตรนอกจากลูกจ้าง นอกจากระบบประกันสังคม อาชีพอิสระ
สำหรับการดูแล คือ ให้สภาพคล่อง หรือ เติมเงินเข้าไปในกระเป๋า ตอนนี้กำลังจะเข้าฤดูกาลเพาะปลูก เมื่อถูกกระทบ ดีที่สุดคือจัดเงินทุน แต่เท่าไหร่ยังไง กำลังลงรายละเอียดกันอยู่ มีใช้ฐานข้อมูลที่ชัดเจนจาก กระทรวงเกษตรฯ จากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) รวมทั้งจากมหาดไทยนำมาประมวลตัวตนที่ถูกต้อง ซึ่งตอนนี้เท่าที่รู้ เกษตรกรคร่าวๆ มีราว 24 ล้านคน แยกเป็นครัวเรือนประมาณ 9 ล้านครัวเรือนจะถูกนำมาเติมในแง่ของครัวเรือนเกษตรกร เพื่อให้มีต้นทุน และเงื่อนไขสำคัญ คือเกษตรกรต้องได้รับผลกระทบจากโควิด-19
- แล้วในกลุ่มธุรกิจท่องที่ยว โรงแรม ที่รัฐไม่ได้สั่งปิด แต่ปิดเอง เพราะไม่มีลูกค้า แล้วไม่เข้าข่ายเงื่อนไขจะมีการดูแลกลุ่มนี้อย่างไร
นี่ก็จะเป็นอีกกลุ่มหนึ่ง หมายถึง ลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบ เขาถูกลดเงินเดือนก็มีการหารือแล้ว รัฐบาลก็ตระหนักถึงประเด็นนี้ ได้มีการหารือ มีแนวทางที่กระทรวงแรงงานฯ จะไปดูทำยังไงให้ดูแลกลุ่มนี้ได้ เป็นข้อสั่งการของท่านนายกฯ ให้กระทรวงแรงงานฯ ดูแล
ประการต่อมาคือ กลุ่มที่ไม่ถูกออกจากงานแต่ถูกลดรายได้จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอ หรืออะไรก็ตาม จะเยียวยาอย่างไร ขณะที่คนอีก 14 ล้านคนที่ได้รับบัตรสวัสดิการแห่งรัฐแต่ไม่ได้รับเงิน 5 พันบาท เขาจะได้รับมาตรการอะไร รัฐบาลจะพยายามดูแลทุกกลุ่ม สืบเนื่องจากผลกระทบ ถ้าท่านอยู่ในประกันสังคม ผลกระทบเข้าเกณฑ์ก็จะดูแลตามเกณฑ์ อาชีพอิสระ พวกนี้เราก็ดูแล กระทรวงการคลังฯ ดูแลตรงนี้ กลุ่มที่อยู่ในประกันสังคมมาตรา 39-40 คือ จ่ายเงินสมทบเอง ตรงนี้ก็ไม่ได้ทอดทิ้ง ได้รับสิทธิ์ 5 พันบาท เราก็จะพยายามดูแลให้ครบ
ส่วนกลุ่มบัตรสวัสดิการที่เดือดร้อน หนึ่งเรื่องบัตรสวัสดิการที่ได้รับก็จะได้ต่อไป ไม่ได้ไปลดอะไร ท่านได้สิทธินั้น ได้รับการเยีววยา แต่อย่างไรก็ตาม การที่อยู่ในกลุ่มบัตรสวัสดิการก็ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์ท่าน ถ้าได้รับสิทธิ์ประกันสังคม ก็ยังได้อยู่ ถ้าประกอบอาชีพอิสระ ก็ยังได้อยู่ ไม่ได้ไปตัดสิทธิ์ท่านในการได้รับเงินต่างๆ
- กลุ่มมนุษย์เงินเดือนจะได้อะไรจากมาตรการการเยียวยารอบ 3 เพราะกระทบจากการลดเงินเดือน แต่ไม่ถูกยกเลิกจ้าง
เรื่องนี้กระทรวงแรงงานดูแลอยู่แล้ว การช่วยเหลือเยียวยาในกลุ่มชุดที่ 3 จะเข้ามาดูแล หลากหลายอาชีพที่ยังไม่ได้รับการดูแลรอบแรก ก็เป็นอีกงานหนึ่ง กลุ่มแรกเยียวยาที่เราพูดกัน กลุ่มที่สองก็ยึดโยงเศรษฐกิจภายในของเรา คือ รากฐานของเศรษฐกิจ รัฐเราต้องดูแล ไม่เพียงแต่อุตสาหกรรม การผลิต แต่ต้องดูแลพื้นที่ด้วย วันนี้ชุมชนเราก็เป็นพื้นฐานเกษตร แต่วันนี้กำลังซื้อหายไป ขายของไม่ได้เลย มันลดลง
ต้องคิดล่วงหน้าว่าโลกภายหลังโควิด-19 เศรษฐกิจหลังโควิด-19 จะลดลงหรือไม่ เหมือนเดิมหรือไม่ ผมคิดว่าเราต้องคิดต่อเนื่อง ไม่ใช่แค่แบ่งว่าวันนี้แค่เยียวยาแล้วค่อยไปแก้ข้างหน้า ปัจจุบันนี่ คือ โจทย์ใหญ่ แต่อะไรทำได้เพื่อเตรียมการฟื้นฟู มันจะได้ประโยชน์กับประชาชนอยู่แล้ว เพราะงั้นถ้าดูแลเศรษฐกิจฐานรากนี่คือเหตุผล เศรษฐกิจเสียหาย กำลังเข้าฤดูเพาะปลูกแล้วมีปัจจัยพอไหม ที่จะไปเพาะปลูก สอง แรงงานที่กลับไป เขาอาจกลับมาได้ที่เดิมหรือไม่ ไม่ทราบ อาจจะมีจำนวนพอสมควร หรือไม่ เพราะธุรกิจก็เรียนรู้ มีธุรกิจรูปแบบใหม่ๆ เปิดมากขึ้น
- เงินอีก 4 แสนล้านบาท จะทำอะไรบ้าง
ผมบอกอย่างนี้นะครับว่า เพื่อให้คนในชุมชนไม่ว่าจะเป็นเกษตรกรหรือใครก็ตาม ตั้งหลัก ตั้งฐาน ตั้งมั่นให้ได้ ตั้งหลัก หมายถึงระยะสั้น ทำยังไงให้ตั้งหลักได้ ให้อยู่ได้ มีกินมีใช้ พอหมุนอยู่ก่อน แล้วก็ความตั้งใจเราก็จะน้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ให้ได้มากที่สุด แต่ที่เราควรต้องมองภาพข้างหน้าให้ยึดโยง คุณต้องพัฒนาอาชีพ อันนี้คือตั้งฐาน เราจะเพิ่มรายได้ให้เศรษฐกิจชุมชน ยกระดับอาชีพใหม่ สร้างงานสร้างอาชีพ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน เรื่องถนนในหมู่บ้าน มุ่งไปที่เกษตรแปรรูป และรัฐวิสาหกิจชุมชน
โดยการดำเนินการดังกล่าวจะอยู่บนหลักการดูแลเฉพาะหน้า ระยะสั้น ตั้งหลักให้ได้ก่อน มุ่งเน้นในระดับชุมชน ในการหารายได้ใหม่ๆ พอตั้งหลักได้ ก็เสริมความรู้ เพื่อดูแลปัจจัยการผลิต ในภาพรวม เขาจะต้องใช้เวลาให้มีค่าที่สุด เสริมทักษะ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมุ่งเน้นเรื่องการศึกษาเสริมทักษะงานใหม่ไว้รองรับในพื้นที่
- กระทรวงไหนบ้างที่มีสิทธิใช้งบก้อนนี้
ทุกกระทรวงมีส่วนร่วม แล้วแต่ความเหมาะสม พอ พ.ร.ก.ผ่าน ก็เชิญหน่วยงานมาหารือกัน เพื่อเสนอ ครม. ทุกแผนงานเข้า ครม. ถึงจะปฏิบัติ นาทีนี้ ต้องมาร่วม มุ่งเน้นไปที่การฟื้นฟูเศรษฐกิจ งบประมาณที่จะกู้ มันมีความยืดหยุ่นได้ เพราะไม่มีใครบอกว่าโควิดจะไปยังไงต่อ ที่เศรษฐกิจติดตามเพื่อให้ใช้งบอย่างเหมาะสมที่สุด และครอบคุมทุกกลุ่ม กำลังไล่ๆ กันมา แต่เราดูแลไป ตามสถานการณ์โควิด-19 เราทำเท่าที่จำเป็นและสอดคล้องกับสถานการณ์
- สำหรับผู้ประกอบการ SMEs จะมีการดูแลอย่างไร
การช่วยเหลือผู้ประกอบการ หรือที่เรียกว่า การช่วยเหลือ SMEs นั้น เราก็จะมีเรื่องของเงินกู้พิเศษแสนล้านบาท ก็ออกไปแล้ว ธนาคารออมสิน หรือ ธกส. ก็ออกไปแล้ว รวมถึงมาตรการอื่น ยังใช้อยู่ แต่ที่ออกมาจากผ่านธนาคารแห่งประเทศไทย จะปล่อยให้กู้ดอกเบี้ยต่ำ ไม่เกินร้อยละ 2 ให้ผู้ประกอบการ และ SMEs ที่มีบัญชีกู้อยู่แล้ว ถ้ามีบัญชีเงินกู้อยู่แล้ว ก็สามารถเข้าไปรับสิทธิ์ได้ มาตรการนี้ทำให้การปรับโครงสร้างนี้ทำได้อย่างคล่องตัวมากขึ้น กลุ่มกู้อยู่แล้ว ก็สามารถมากู้เพิ่มได้ส่วนหนึ่ง เติมสภาพคล่องให้ผู้ประกอบการที่จำเป็นว่าจะไปเติมความอยู่รอด ให้สามารถจ้างงานได้ ธนาคารแห่งประเทศไทยก็ชี้แจงไปว่าให้พิจารณาเรื่องนี้ด้วย
ส่วนการควบคุมเงินกว่า 5 แสนล้านบาทให้ถึง SMEs โดยตรงนั้น ธนาคารพาณิชย์ หรือธนาคารรัฐเอง จะต้องตะหนักดัวยตัวเองว่าต้องช่วยกัน บางส่วนต้องเสียสละ และเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศไทยโดยวิธีการและระบบมีการดูแลอยู่แล้ว มีคณะกรรมการกลั่นกรอง ต่อมาก็มาตรการติดตามประเมินผล รายงานครม.ทุกระยะ ไม่เกิน 60 วันต้องรายงานรัฐสภา โดยครม.เป็นคนกำกับดูแล
- มั่นใจไหมว่า เงินก้อนนี้แก้ปัญหาเศรษฐกิจได้อยู่ทั้งหมด
เชื่อเช่นนั้น จากข้อมูลที่มีทั้งหมด เชื่อว่าสิ่งที่ออกมาจะจัดการสถานการณ์นี้ได้ จะเอาอยู่ได้ ทุกคนคิดร่วมกันเศรษฐกิจก็จะเดินไปได้ แต่ภาคส่วนต้องมาช่วยกันนะครับ