ไวรัสเขย่าโลก..!! วัคซีนยุค New Normal

ไวรัสเขย่าโลก..!! วัคซีนยุค New Normal

ไวรัสแพร่กระจายสะเทือนทุกมิติ จากป่วยไข้ลามสู่ปัญหาปากท้อง จวบจนเขย่าขั้วอำนาจ การเมืองโลก กำเนิดเทรนด์ใหม่ “โลกที่ไม่เหมือนเดิม” (New Normal) ไปแกะรอยวิธีคิด เปลี่ยนวิถีชีวิตผู้บริโภค วัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันมนุษย์ยุคโควิด-19

ภายใน 3-4 เดือนที่ผ่านมาหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรน่าสายพันธุ์ใหม่ 2019(โควิด-19) กระจายไปทั่วทุกมุมโลก จนต้องออกกฎระเบียบควบคุมการใช้ชีวิตของคน โดยยึดหลักการป้องกันปัญหาสาธารณสุขเป็น “ธงนำ”ในการแก้ปัญหา จุดเริ่มต้นจากถูกบังคับให้เปลี่ยนแปลงตัวเอง กักตัวอยู่บ้าน เปลี่ยนการใช้ชีวิตภายใต้ข้อจำกัด กลายเป็นความเคยชิน พลิกโฉมเกิดความปกติในรูปแบบใหม่ (New Normal) ทั้งมิติสังคม เศรษฐกิจ และการเมือง เข้าสู่โลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร นักวิจัย สถาบันนโยบายสาธารณะและการพัฒนา อาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย วิเคราะห์สถานการณ์ภายหลังวิกฤติโควิด-19 ว่า สถานการณ์ที่ไม่ปกติ จะเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมโหฬาร ทั้งวิธีคิด การใช้ชีวิต การทำธุรกิจ และระบบการวางนโยบายของรัฐ ของทั้งโลก จากมาตรการการเว้นระยะห่างทางสังคม(Social Distancing) การจำกัดการเดินทาง การปิดธุรกรรมทางธุรกิจ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด

158726591177

ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร

โควิด-19 เป็นสิ่งที่ดิสรัป สะเทือนและเขย่าโลก เพราะทำให้ต้องเปลี่ยนวิธีคิดใหม่ การใช้ชีวิต รวมถึงระบบเศรษฐกิจ เพราะไม่ใช่แค่เพียงระบาดที่จีน เอเชีย แต่ระบาดหนักทั้งในสหภาพยุโรป และสหรัฐ”

ความรุนแรงที่แพร่กระจายไปทั่วโลก จากตอนต้นมีการคาดหวังว่าจะปิดเกม“เจ็บแต่จบ”โดยเร็ว ปรับแผนมาสู่การเตรียมแผนระยะยาว ปรับตัว ให้ใช้ชีวิตอยู่กับโควิด-19 คาดว่าอย่างน้อยอีก 1-2 ปี และนั่นจะนำไปสู่ปรากฎการณ์ “ภาวะไม่ปกติ”  ที่นับแต่นี้ชีวิตจะไม่เหมือนเดิม ทั้งเศรษฐกิจ สังคม รวมถึงการเมือง

ไม่ใช่ เจ็บแต่จบ แต่เป็นเรื่องของเจ็บ แล้วจะผ่อนอย่างไร เราไม่สามารถจะใช้มาตรการเข้มข้นเพื่อป้องกันไม่ให้ซ้ำรอยอู่ฮั่น อิตาลี และนิวยอร์ก แต่เมื่อถึงจุดที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลงชัดเจน ก็ต้องทยอยใช้มาตรการที่ผ่อนคลายลง เริ่มเปิดบ้าน เปิดห้าง เปิดร้าน เปิดโรงเรียน เปิดโรงงานดังเช่นที่จีน ทุกภาคส่วนต้องต้องเริ่มปรับมุมคิด ปรับตัว รับมือกับวิถีชีวิตใหม่ของผู้คนในยุคโควิด-19 จะอยู่กับเราอีกนาน"

158726596190

**4พลวัฒน์เขย่าโลก 

นั่นทำให้โลกเกิด 4 เทรนด์ เขย่าโลกใบใหม่ให้ปรับตัว เตรียมพร้อมการใช้ชีวิต เศรษฐกิจ สังคม และการออกแบบจัดการกับปัญหาและนโยบายในระยะยาวของภาครัฐ 

1.จุดจบของโลกาภิวัฒน์ (Deglobalization) การผลิตลดการพึ่งพาซึ่งกันทั้งโลก ลดการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้า แต่ละประเทศหันไปพึ่งพาเศรษฐกิจภายใน ทุกประเทศต่างต้องจัดการปัญหาภายในเป็นหลัก

2.การปรับเปลี่ยนวิธีคิดระบบเศรษฐกิจใหม่ วิกฤติเป็นจุดทำให้คิดเชิงระบบเศรษฐกิจใหม่ ตั้งแต่ ทิศทางขับเคลื่อนเศรษฐกิจ เช่นในสหรัฐ มหาวิกฤติ ช่วงปีคศ.1930 (Great Depression)ทำให้ปรับนโยบายไปสู่การเอียงซ้าย ทางสังคมมากขึ้น หรือจากสหรัฐมีระบบเศรษกิจเสรีนิยม ปรับมาเพิ่มระบบประกันสุขภาพ (Universal HealthCoverage หรือ UHC) ที่พรรคเดโมแครต เคยเสนอ

3.เกิดการถ่วงดุลอำนาจโลก จีนผงาดเป็นผู้นำโลก จุดจบที่สหรัฐไม่ใช่ผู้นำเดี่ยว แต่จะมีจีนขึ้นมาท้าทาย หรือถ่วงดุลอำนาจ

4.เปลี่ยนโจทย์การพัฒนาประเทศ เกิดขึ้นในหลายประเทศ เช่น การตั้งโจทย์ตัวเลขการเติบโตทางเศรษกิจ วิกฤติทำให้รัฐบาลต้องไปมองมิติการพัฒนาทางสังคมควบคู่ โดยเฉพาะการลดความเหลื่อมล้ำและมุ่งไปสู่การกระจายทรัพยากรให้เท่าเทียม เช่น ในสหรัฐ ช่องว่างความเหลื่อมล้ำทางสังคมเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาที่คุมการระบาดไม่ได้ เพราะคนระดับล่าง ไม่สามารถเข้าถึงระบบสวัสดิการไม่มีรายได้เมื่อต้องหยุดงาน จึงมีความจำเป็นต้องออกไปทำงาน อีกทั้งทุกคนก็ไม่สามารถเข้าถึงการตรวจหาเชื้อและการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาล

"ช่องว่างระหว่างชนชั้น หรือความเหลื่อมล้ำทางสังคมถือเป็นบทเรียนสำคัญ กับการจัดการปัญหายาก และท้าทายในการช่วยคนด้อยโอกาส เป็นกลุ่มคนที่ชนชั้นล่างในสังคมมากกว่าเดิม เพราะเมื่อเกิดวิกฤติทางสังคม หากคนข้างล่างอยู่ไม่ได้สุดท้ายทุกคนก็อยู่กันไม่ได้ โดยเฉพาะเรื่องโรคระบาด คนข้างล่างได้รับผลกระทบทั้งสังคมก็ไม่มีเสถียรภาพในการรับมือกับโรคระบาดรุนแรง ปัญหาเศรษฐกิจจึงต้องคู่กับสาธารณสุข”

ส่วนปัญหาในไทยก็มีความซับซ้อนในด้านความเหลื่อมล้ำ เพราะไทยมีแรงงานนอกระบบจำนวนมาก มีปัญหาข้อมูล คนด้อยโอกาสเป็นกลุ่มคนนอกระบบประกันสังคม ดังนั้นการให้เงินช่วยเหลือจึงต้องตรงจุดและถูกต้อง โจทย์ใหญ่ที่ฝ่ายบริหารจะต้องมานั่งคิดการ “ยิงกระสุน” ทางเศรษฐกิจให้ถึงกลุ่มเป้าหมาย

การเกิดขึ้นของเทรนด์ ทั้ง 4 ด้าน สร้างบรรทัดฐานใหม่ (New Normal) โดยจากเดิมที่เปลี่ยนแบบค่อยเป็นค่อยไป แต่โควิด-19 เป็นตัวเร่งปฏิกิริยาผลักดันให้เป็นรูปธรรม จึงต้องมีวิธีคิดในการวางยุทธศาสตร์เชิงรุก เร็วกว่าคนอื่น 2-3 สเต็ป ถอดบทเรียนการปรับตัวของจีน ที่ผ่านพ้นวิกฤติมาได้ โดยการ 

1.สร้างกลุ่มพันธมิตรและถ่ายโอนแรงงาน มีการยืมแรงงานในอุตสาหกรรมที่ต้องปิดตัวและอุตสาหกรรมต้องการแรงานเพิ่ม เช่น อาลีบาบา(Alibaba) ยืมแรงานจากภาคธุรกิจบริการ ร้านอาหาร โรงแรมและโรงภาพยนตร์กว่า 40 บริษัท เพื่อมาเสริมทัพซุเปอร์มาร์เก็ต เหอหม่าของอาลีบาบา เติบโตภายใต้วิกฤติ 2.จีนยังปรับตัวเข้าสู่การขายและทำตลาดออนไลน์เต็มรูปแบบ 3.ใช้เวลาในการอบรมทักษะใหม่ๆ และการวางแผนกลยุทธ์หลักวิกฤติ และ4.พัฒนาธุรกิจไปสู่สินค้าและบริการสุขภาพ ตอบโจทย์คนกักตัวอยู่บ้าน และการเรียนออนไลน์

สำหรับไทยถึงเวลาต้องปรับวิธีคิด ในระยะ 1-2 ปีข้างหน้า หากโควิด-19ลากยาวกระทบต่อการเดินทาง จึงหวังพึ่งพาการท่องเที่ยวและการส่งออกเข้ามาสร้างรายได้เศรษฐกิจเช่นอดีตไม่ได้ ต้องปรับโครงสร้างพึ่งพาเศรษฐกิจภายใน หากปิดประเทศแล้วจะอยู่รอดได้อย่างไร มุ่งเน้นการบริหารซัพพลายเชนการผลิตภายในประเทศ

นอกจากนี้ต้องมองวิกฤติเป็นโอกาส เช่น ภาษิตจีน เว่ยจี แปลว่า โอกาสและอันตรายเป็นคำมาคู่กัน จึงถึงเวลาในการเปลี่ยนผ่าน(Transform)ไปสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วขึ้นไปโดยอัตโนมัติ เปิดโอกาสทดลองแนวคิดใหม่ๆ สร้างสรรค์ ดึงสตาร์ทอัพเข้ามาทำงาน

โดยสิ่งที่เรียนรู้จากประเทศในเอเชีย ที่ทำให้ประคับประคองสถานการณ์ไม่รุนแรงเท่ากับฝั่งชาติตะวันตก เกิดจากความไม่ประมาท เข้าใจศักยภาพของตนเอง รู้ขีดความสามารถเตรียมมาตรการจากเบาไปหาเข้มข้น

158726598759

10 เทรนด์ลืมตาเปิดโลกใหม่

การระบาดของโควิด-19 นำไปสู่จุดเปลี่ยนพลิกโฉมหน้าประวัติศาสตร์ใหม่ จัดระเบียบโครงสร้างของโลกใบใหม่ เป็นสิ่งใหม่ที่ทุกคนต้องเรียนรู้ว่า โลกที่เราอาศัยอยู่นี้จะไม่มีทางกลับไปเหมือนเดิมอีกต่อไป บทความ “Are We Witnessing The Awakening Of A New World” โดย Khuloud AI Omian จาก ฟอร์บส์ คาดการณ์10 แนวโน้มที่เกิดขึ้นหลังจากโควิด-19

1.เปลี่ยนขั้วมหาอำนาจของโลก มีการปรับสมดุลผู้นำมาสู่จีน และกลุ่มประเทศฝั่งเอเชียสหรัฐ มียอดติดเชื้ออันดับ1 ของโลก ทางเอเชียจะใช้เวลาฟื้นฟูได้รวดเร็วกว่า

2.เกิดการปฏิวัติโครงสร้างการผลิต เกิดการนำระบบการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์รวดเร็วขึ้น ลงทุนเพื่อวางไลน์การผลิตใหม่ที่ไม่ให้คนทำงานใกล้ชิดกัน ซึ่งเป็นการช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต

3.เชื่อมั่นเทคโนโลยี มาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการการทำงานและการดำเนินชีวิต เมื่อทำงานอยู่บ้านทดลองใช้เทคโนโลยีจนคุ้นชิน เช่น การประชุมผ่าน Zoom

4.การท่องเที่ยวและเดินทางจะลดลงไปอีกยาวนาน ตราบใดที่โรคระบาดยังปิดเกมโรคระบาดไม่ได้ จึงต้องพึ่งพาเครื่องมือติดต่อสื่อสารVideo-Conferencingแทนการเดินทาง ส่วนกลุ่มที่มีกำลังซื้อจะหันไปใช้บริการเครื่องบินส่วนตัว (Private Jet)

5.หน่วยงานภาครัฐจะหันไปพัฒนาการบริการผ่านดิจิทัลมากขึ้น (E-Service) มากขึ้น เช่น รัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้เปิดบริการให้ผู้ที่อยู่บ้าน ตั้งแต่ งานบริการหนังสือเดินทาง (Passport), จนถึงกระบวนการตัดสินใจชั้นศาล ตลอดจนการบริการในจากกระทรวงต่างๆ มีการผ่อนคลายกฎระเบียบเพื่ออำนวยความสะดวกประชาชนมากขึ้น  

6.โยกงบประมาณไปสู่สาธารณสุข และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพมากขึ้น ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้บริหารธุรกิจ และบริษัทการผลิตจะโยกงบประมาณไปลงทุนด้านสาธารณสุข รักษาพยาบาล และสินค้าเพื่อดูแลสุขภาพเพิ่มขึ้น จากบทเรียนช่องว่างควบคุมโรคระบาดในครั้งนี้ทำให้เข้าใจจุดอ่อนและช่องว่างทางระบบสาธารณสุข จึงเป็นโอกาสสตาร์ทอัพเข้ามานำเสนอการบริการใหม่ๆ 

7.รัฐบาลท้องถิ่นจะได้รับความไว้วางในกับประชาชนในการจัดการกับปัญหาเพิ่มขึ้นใช้มาตรการเชิงรุกที่เข้มงวดเพื่อควบคุมโรคระบาด โดยทางธนาคารกลางของแต่ละประเทศสนับสนุน ให้มีการอัดฉีดวงเงินมหาศาลเข้าสู่ระบบ และยินยอมผ่อนคลายกฎระเบียบต่างๆทางด้านการเงินการคลัง เพื่อรับมือกับโรคอุบัติใหม่

8.เกิดสังคมแบ่งปัน วิกฤติเกิดความทุกข์ไปทั่วโลก ทำให้คนเกิดการตระหนักรู้ถึงชีวิตคนอีกซีกหนึ่งของโลก หลังจากที่ผ่านมาผู้คนต่างมุ่งแต่ชีวิตส่วนตัว แต่เทคโนโลยีช่วยเปิดประตูให้มองเห็นสังคมโลก จึงเห็นอีกมุมหนึ่งของโลกที่กระทบความรู้สึกเห็นอกเห็นใจในเพื่อนมนุษย์ เกิดการรวมตัวทำประโยชน์เพื่อผู้ด้อยโอกาสในสังคมมากขึ้น โดยเฉพาะผู้ที่มีฐานะ มหาเศรษฐีต่างก็หันมาบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือชีวิตและความเป็นอยู่ของคน

9.ผลกระทบเชิงบวกกับโลก และสิ่งแวดล้อม การกักตัวปิดเมือง คนไม่เดินทาง ไม่มีรถออกมาวิ่งบนท้องถนน ไม่มีเครื่องบินเต็มท้องฟ้า ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอน เราจึงเห็นท้องฟ้าสดใสปลอดมลพิษในเมืองใหญ่ๆ  ทางศูนย์วิจัยด้านสภาพอากาศระหว่างประเทศ (Center for International Climate Research) ในออสโล นอร์เวย์ คาดการณ์ว่าการปล่อยก๊าซคาร์บอนลดลงประมาณ 1.2% ในปี 2563

10.ระบบการศึกษา จะเกิดการพลิกโฉมครั้งใหญ่ การปิดโรงเรียนกว่า 188 ประเทศทั่วโลก ทำให้เกิดการพัฒนาโปรแกรมโรงเรียนในบ้าน ผู้ปกครองมีบทบาทพัฒนาทักษะเด็ก และค้นหาศักยภาพในนักเรียน ช่วยเปิดโอกาสให้หลายประเทศพัฒนาคุณภาพการศึกษาทัดเทียมกัน

158726602548

7 New Normal ท้าทายธุรกิจ

Kevin Sneader and Shubham Singhal จาก แมคคินซีย์ (McKinsey) ได้เขียนบทความ” The future is not what it used to be: Thoughts on the shape of the next normal”  มองว่า วิกฤติจากไวรัสโคโรน่า (โควิด-19) สร้างปรากฎการณ์เปลี่ยนโลก  เกิดการปรับโครงสร้างโลกใหม่อย่างรวดเร็ว แม้วิกฤติครั้งนี้ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดปลายทางในช่วงเวลาไหน  ผู้นำธุรกิจจะต้องคิดไปข้างหน้า จะต้องวางแผนเตรียมพร้อมเชิงรุกกับการเปลี่ยนแปลงใหม่ภายใต้ 7 องค์ประกอบ คือ

1.สังคมระยะห่าง (Distance is back) หลังจากการเทคโนโลยีอินทอร์เน็ตมาย่อโลกให้คนใกล้ชิดติดต่อสื่อสารแบบไร้รอยต่อ ยุคอินเทอร์เน็ตทำให้โลกไร้พรมแดน แต่โควิด-19 เข้ามาเกิดสังคมระยะห่าง เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค มีกฎระเบียบเคร่งครัด คุมเข้มการเคลื่อนย้ายคนเข้าออกประเทศ และการให้วีซ่าจำกัด และมีการปรับเปลี่ยนซัพพลายเชนให้ขนส่งภายในประเทศ ซึ่งเป็นอีกขั้วที่กลับด้านจากกระแสโลกาภิวัฒน์ พึ่งพาภายในประเทศ

2.การปรับตัว ยืดหยุ่น และเพิ่มประสิทธิภาพ (Resilience AND efficiency) แม้จะมีการล็อคดาวน์กิจกรรมทางธุรกิจและการทำงาน ให้คนอยู่บ้าน แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นในการค้นหาวิธีการวางกลยุทธ์ทำงานยืดหยุ่น พร้อมปรับตัวในวิกฤติ ปรับปรุงประสิทธิภาพ ค้นหาและออกแบบโมเดลธุรกิจที่ตอบสนองความกังวลของคน เป็นคีย์สำคัญที่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอดในระยะยาว

3.การเติบโตของธุรกิจที่ไร้การสัมผัส การติดต่อ ใกล้ชิด ( The rise of the contact-free economy) เมื่อเกิดการเว้นระยะห่างทางสังคมจึงทำให้เกิดการเติบโตของกลุ่มธุรกิจเข้ามาเติมเต็มความต้องการของคนในยุคคนกักตัว ไร้การสัมผัส ติดต่อ ที่ใกล้ชิดกัน จุดเปลี่ยนธุรกิจอยู่รอดในยุคโควิดมี 3 กลุ่มคือ 1.การค้าดิจิทัล ( Digital Commerce) จะเห็นในหลายประเทศเกิดการเติบโตออนไลน์ทั้งผู้ใช้บริการอายุที่สูงขึ้นและเป็นครั้งแรกที่มาใช้ รวมถึงอิตาลี มีอัตราการใช้จ่ายอีคอมเมิร์ซเพิ่มขึ้นถึง 81% ในเดือน ก.พ. 2. การแพทย์ทางไกล (Telemedicine) การดูแลรักษาพยาบาลทางไกลในผู้ป่วยที่ไม่ซับซ้อน เช่น Teledoc Health ผู้ให้บริการรักษาพยาบาลออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ รายงานว่าในช่วงปลายเดือนมี.ค.มีการเพิ่มเครือข่ายหมอเพื่อรองรับถึง 1,000 คน และ3.ระบบอัตโนมัติ(Automation) การลงทุนระบบที่เข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกทำงานแทนคน ลดการติดต่อ สัมผัสกันระหว่างมนุษย์ เช่น ร้านค้าไร้เงินสด

4.รัฐบาลจะเพิ่มมาตรการแทรกแซงการกระตุ้นเศรษฐกิจ (More government intervention in the economy) ไม่บ่อยครั้งนักที่จะเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจมโหฬาร ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นเฉพาะช่วงภาวะฉุกเฉิน ทั้งโลกเผชิญกับภาวะวิกฤติจึงเกิดการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 รัฐบาลทั่วโลกออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจสูงถึง 10.6ล้านล้านดอลลาร์ ในยุคโควิด-19มีหลายประเทศเริ่มเข้าไปอัดฉีดเศรษฐกิจ เช่น รัฐบาลอินเดียโอนเงินให้กับประชาชนที่ยากจน, อินโดนีเซียเพิ่มรัฐสวัสดิการให้กับประชาชนมากกว่า 10 ล้านครัวเรือน, อังกฤษและฝรั่งเศสจ่ายเงินชดเชยค่าแรงงานถึง 80% รวมไปถึงการผลักดันให้เพิ่มงบประมาณวางโครงสร้างระบบสาธารณสุขเพื่อป้องกันเหตุการณ์ในอนาค

5.ธุรกิจคู่กับสังคมจึงจะมั่นคงและยั่งยืน (More scrutiny for business) เมื่อเกิดวิกฤติโควิด-19 จะเห็นภาพชัดเจนว่า กลุ่มธุรกิจที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันการเงินและมีมูลค่าจากผู้ถือหุ้น ไม่ใช่ธุรกิจที่มีผลประกอบการดีในเชิงธุรกิจ แต่จะต้องเป็นธุรกิจที่ดูแลพนักงาน ลูกค้า และมีความรับผิดชอบต่อสังคม

6.ภูมิทัศน์อุตสาหกรรมเปลี่ยนทั้งองคาพยพ (Changing industry) วิกฤติทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนทั้งโครงสร้าง พฤติกรรมผู้บริโภค จุดยืนทางการตลาด และกลุ่มสินค้าที่จะดึงดูดผู้บริโภค วิกฤติทำให้หลายธุรกิจปรับตัวไม่ทันได้รับความเสียหาย และมีความเสี่ยงต่อการอยู่รอดในอนาคต ซึ่งเป็นผลมาจากการปรับตัวไม่ทัน เช่น รถยนต์ ได้รับความกดดันต้องพึ่งพาซัพพลายเขนจากทั่วโลกมาประกอบ ในช่วงที่การเคลื่อนย้ายยาก ต้นทุนสูง อีกทั้งทัศนคติของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปยอมเปิดเผยข้อมูลส่วนตัวการเดินทางและสุขภาพเพื่อส่วนรวม  กลุ่มผู้บริโภคที่น่าจับตาคือ มิลเลนเนียม,เจเนเรชั่นZ ผู้ที่เกิดระหว่างปี 1980-2012 เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมครั้งใหญ่ ในรูปแบบการใช้ชีวิต การเดินทางท่องเที่ยวที่จะเคยชินกับการใช้ชีวิตแบบใหม่ในระยะยาว จึงต้องศึกษาทำความเข้าใจ ตีโจทย์ออกแบบการบริการ รวมไปถึงมีการปรับตำแหน่งสินค้าเพื่อแสวงหาโอกาสใหม่ๆ ไวรัสยังนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบใหม่ในการทำธุรกิจ

7.ค้นหาโอกาสภายใต้วิกฤติ (Finding the silver linings) วิกฤติทำให้เกิดความเสียหาย ทำให้เศรษฐกิจถดถอย และทำให้เกิดความยุ่งยากจากวิถีชีวิตแบบเดิม ในยุคสังคมระยะห่าง แต่อีกด้านก็ทำให้เกิดช่องทางการสื่อสารใหม่ของใครหลายคน ที่สร้างโอกาสใหม่จากการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ๆ หากค้นหาโอกาสจากผลกระทบเชิงบวก จากการที่ผู้บริโภคเริ่มเคยชิน และเกิดการปรับทัศนคติ การใช้ชีวิตทุกวัน เช่น จากอดีต เทคโนโลยีอาจจะเกิดขึ้น มีการใช้งานในกลุ่มผู้เจเนเรชั่นใหม่ แต่โควิด-19 ทำให้ทุกเพศทุกวัย ก็พยายามเรียนรู้เข้าถึงเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งภาครัฐ เอกชน หรือแม้กระทั่งวัยคุณปู่ เริ่มฝึกใช้ Zoom, Skype หรือ FaceTime คนบางกลุ่มอาจจะค้นพบและชื่นชอบพฤติกรรมการทำงานในบ้าน รวมถึงหลายธุรกิจเรียนรู้ที่จะออกแบบการทำงานให้ยืดหยุ่น ปรับตัวให้เร็ว จะผลักดันให้เกิดนวัตกรรมในการทำงานที่ง่ายขึ้นและต้นทุนถูก

------------------------

แกะรอย“วัคซีน”ชนะวิกฤติ

วิกฤติโควิด-19 แบ่งแต่ละประเทศมีระดับการปฏิบัติที่แตกต่างกัน 6 ระดับคือ เริ่มต้นรับรู้ข้อมูลข่าวสาร ไปตรวจพบเชื้อ ปฏิบัติการรักษา/ป้องกัน กักตัว ล็อกดาวน์ และสุดท้ายออกจากวิกฤติ หรือ Leave New Normal ถือเป็นปลายทางที่ทุกประเทศต้องไปถึงจุดนั้น และปรับไปสู่การใช้ชีวิตปกติแบบใหม่ที่ไม่เหมือนเดิม โดยมีการนำพฤติกรรมในช่วงกักตัวจนเกิดความเคยชินจนเป็นเรื่องปกติมา วงจรวิกฤติบังคับให้คนมีภูมิคุ้มกัน ธุรกิจปรับตัวเกิดขึ้นโดยธรรมชาติที่จะเป็นพลังสู้รบในยุค New Normal 

สมวลี ลิมป์รัชตามร กรรมการผู้จัดการบริษัท เดอะ นีลเส็น (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินเทรนด์จากทั่วโลก พบว่าสิ่งที่เหมือนกันคือการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมใหม่ๆ ในช่วงกักตัว การถูกบังคับให้กักตัวเกิดการเปลี่ยนแปลงตัวเองจนกลายเป็นความเคยชิน เช่น การไม่ทานอาหารนอกบ้าน ทำอาหารเอง, การทำงานที่บ้าน, ชอปปิงออนไลน์, รวมไปถึงออกกำลังกายในบ้าน(Indoor) พฤติกรรมดิจิทัลเริ่มเกิดขึ้นแล้ว ยุคโควิด-19 เร่งปฏิกิริยาให้ชัดเจนจนกลายเป็นปกติ

ค้าปลีกออนไลน์เติบโตหลายเท่าตัว ตัวอย่างในอิตาลี มีการเติบโตออนไลน์ชอปปิงพุ่งสูงขึ้นหลังจากมีการระบาดโควิด-19"

จุดพลิกผู้บริโภคการปรับตัวให้ใช้ชีวิตในวิกฤติจนกลายเป็นความเคยชิน จับจุดไปพลิกสินค้าและบริการตามความสนใจผู้บริโภค ประกอบด้วย 1. ผู้บริโภคใส่ใจเรื่องสุขภาพ และคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา 2.กระแสนิยมแบรนด์ภายในประเทศ (Local Brand) โอกาสแบรนด์เร่งออกสินค้าตรงความต้องการ 3.ออนไลน์ชอปปิงเพิ่มขึ้น มีกลยุทธ์รองรับ เช่น ปุ่มAuto Shopping Subscription ส่งสินค้าทั้งอาหาร เครื่องดื่ม และของใช้ส่วนตัวประจำทุกเดือน รักษายอดขายคงที่ รวมไปถึงการปรับตัวขายสินค้าออนไลน์ของ แบรนด์แป้งรองพื้นออกแบบแอปพลิเคชั่นให้ที่ทดลองออนไลน์ดูสีเหมาะกับสภาพผิว

ยุคโควิด-19ทำให้พฤติกรรมการเสพสื่อก็เปลี่ยนด้วย เริ่มต้นจาก 1.เพิ่มเวลาการรับสื่อ คนต้องการบริโภคข่าวสาร และความบันเทิงมากขึ้นเพราะใช้ชีวิตอยู่บ้านมากขึ้น 2.สื่อสังคมออนไลน์ (Social Media) กลายเป็นช่องทางหลัก ผู้ประกอบการต้องเร่งสร้างการรับรู้ 3.เกิดแอพพลิเคชั่นใหม่ๆ โดยเฉพาะเกี่ยวกับสุขภาพ

กลยุทธ์เสริมภูมิคุ้มกันธุรกิจ รบชนะในยุคหน้าจึงต้องนำเครื่องมือออฟไลน์เชื่อมออนไลน์ และขยายโอกาสจากการสั่งอาหารหรือสินค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นรวมไปถึงการบริหารจัดการกระจายสินค้า(Logistics) และ ใช้Social Media ให้ขยายพลังสินค้าและแบรนด์ โดยมีต้นทุนที่ถูก และประสิทธิภาพ ตลอดจนมีเทคโนโลยีเพิ่มการทำการตลาดมากขึ้น ยกตัวอย่างที่ชัดเจนคือ กลุ่มขายรถยนต์ สินค้าขนาดใหญ่ปิดการขายได้ จากการใช้วิดีโอ สตรีมมิ่ง (VDO Streaming)

วันนี้เป็นจุดตั้งต้นที่ผู้บริโภคจะเคลื่อนย้ายไปสู่พฤติกรรมใหม่ New Normal ทั้งการใช้ชีวิต การเสพสื่อ ต้องทำความเข้าใจวิธีคิด และอ่านใจ (Mentality) ของคนที่เคลื่อนไปเรื่อยๆ หากเราไปจับวันที่เปลี่ยนเป็น New Normal แล้ว สิ่งที่จะขาดคือความเข้าใจรากเหง้าว่าทำไมเค้าถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น จึงอาจจะไม่สามารถสร้างประสบการณ์ให้ลูกค้าได้หากเทียบกับคนที่เริ่มทำความเข้าใจผู้บริโภคตั้งแต่วันนี้ เพราะการเปลี่ยนแปลงในหลายพฤติกรรมจะเกิดขึ้นอย่างถาวร จึงจะไปรอปลายทางไม่ทันแล้ว”