คนร.อุ้มการบินไทย คงสภาพรัฐวิสาหกิจ

คนร.อุ้มการบินไทย คงสภาพรัฐวิสาหกิจ

คนร.เคาะแผนอุ้มบินไทย สั่ง “คลัง” ค้ำกู้เสริมสภาพคล่องเพดาน 5 หมื่นล้าน ชง ครม.ยกเว้นเงื่อนไขห้ามค้ำรัฐวิสาหกิจขาดทุน 3 ปี ติดต่อกัน หวังประคองให้อยู่ได้ในภาวะการบินทั่วโลกย่ำแย่

บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) จะมีอายุครบ 60 ปี ในวันที่ 1 พ.ค.นี้ ในขณะที่การระบาดของโรคโควิด-19 ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการดำเนินของการบินไทย และจำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือจากรัฐบาล 

นายประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานวานนี้ (29 เม.ย.) ว่า คนร.ที่เห็นชอบแผนฟื้นฟูกิจการของการบินไทย โดยยืนหลักการยังคงเป็นสายการบินแห่งชาติ และมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจเช่นเดิม

ทั้งนี้ คนร.มอบหมายให้ที่ปรึกษาทางการเงินไปทำแผนการฟื้นฟูกิจการ เพื่อเสนอคณะกรรมการการบินไทย โดยการกู้เงินเพื่อการฟื้นฟูกิจการนั้นทางกระทรวงการคลังเป็นผู้ค้ำประกันการกู้เงิน โดยกำหนดเป็นเพดานวงเงินกู้ไว้ แต่จะกู้จริงเท่าใดขึ้นกับความจำเป็นและผลการดำเนินงานในการฟื้นฟูกิจการของการบินไทย ซึ่งต้องทำตามเงื่อนไขและแผนงานที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด

แหล่งข่าวจากทำเนียบรัฐบาล กล่าวว่า คนร.ได้หารือแผนการฟื้นฟูและแก้ปัญหาสภาพคล่องให้การบินไทย โดยเมื่อถึงวาระนี้ฝ่ายเลขานุการ คนร.ขอให้ผู้ที่ไม่เกี่ยวข้องออกจากที่ประชุมทั้งหมด และเหลือเฉพาะผู้เกี่ยวข้องเพื่อหารือกับนายกรัฐมนตรี เช่น กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ (ดีดี) การบินไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม และนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี 

ชง ครม.เว้นเกณฑ์ค้ำเงินกู้

ทั้งนี้ ที่ประชุมได้หารือแนวทางการการแก้ปัญหาสภาพคล่องให้การบินไทยเร่งด่วน โดย คนร.เห็นชอบในหลักการให้การบินไทยกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องของการบินไทย ซึ่งกระทรวงการคลังค้ำประกันการกู้เงิน โดยเรื่องนี้ได้หารือกับสำนักบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) แล้ว ซึ่ง สบน.ระบุว่าเรื่องนี้ไม่มีปัญหาหาก ครม.อนุมัติแผนฟื้นฟู และ ครม.ต้องเห็นชอบให้ผ่อนปรนเงื่อนไขการค้ำประกันเงินกู้ของรัฐวิสาหกิจ ซึ่งปกติแล้วจะไม่สามารถค้ำประกันการกู้เงินได้กรณีที่รัฐวิสาหกิจนั้นขาดทุนต่อเนื่อง 3 ปีติดต่อกัน 

“เรื่องการบินไทยกู้​โดยคลังค้ำประกันทาง​ สบน.บอกว่าไม่มีปัญหาหาก​ ครม.อนุมัติแผนฟื้นฟูซึ่งจะต้องให้ครม.ยกเว้นเงื่อนไขการกู้ที่รัฐวิสาหกิจใดขาดทุน 3 ปีติดกัน​ กระทรวงการคลังค้ำไม่ได้ให้ก่อน”

สำหรับเพดานการกู้เงินของการบินไทยครั้งนี้กำหนดไว้ประมาณ 50,000 ล้านบาท ซึ่งในที่ประชุมไม่ได้กำหนดว่าการบินไทยจะต้องดำเนินการกู้ภายในเมื่อใด แต่เมื่อ ครม.เห็นชอบการยกเว้นหลักเกณฑ์การค้ำประกันก็สามารถดำเนินการได้ทันที โดยการบินไทยคงเร่งดำเนินการเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสเงินสดที่มี

ส่วนผลดำเนินงาน 3 ปี ย้อนหลังขาดทุนต่อเนื่อง โดยปี 2562 ขาดทุน 12,017 ล้านบาท ปี 2561 ขาดทุน 11,569 ล้านบาท และปี 2560 ขาดทุน 2,072 ล้านบาท ในขณะที่ สบน.รายงานว่าการบินไทย ณ เดือน ก.พ.มีหนี้สะสม 1.5 แสนล้านบาท แบ่งเป็นหนี้ในประเทศ 101,511ล้านบาท และหนี้ต่างประเทศ 47,209 ล้านบาท

แหล่งข่าว กล่าวว่า การพิจารณาแผนฟื้นฟูการบินไทยยังพิจารณาถึงสภาวะโดยรวมของปัญหาสายการบินและธุรกิจการบินทั่วโลก ที่ประสบปัญหาไม่ใช่แค่ประเทศไทยเท่านั้น แต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับสายการบินทั่วโลก ซึ่งการบินไทยนั้นมีปัญหาสะสมอยู่แล้ว โดย คนร.เห็นว่ามีความจำเป็นต้องเข้าไปดูแลการบินไทย ซึ่งไม่ใช่เพราะการบินไทยเป็นรัฐวิสาหกิจหรือสายการบินของรัฐ แต่เนื่องจากประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในภูมิภาคและศูนย์กลางการบินในภูมิภาค

เปิดทางมืออาชีพบริหารบินไทย 

การยกระดับและพัฒนาการบินไทยถือเป็นนโยบายระดับชาติที่มีความสำคัญ และการบินไทยเป็นสายการบินหลักของประเทศที่มีบทบาทตรงนี้ อีกทั้งเป็นภาพลักษณ์ที่สำคัญของสายการบินแห่งชาติที่สะท้อนภาพลักษณ์ของประเทศมาแต่เดิมที่ยากจะปฏิเสธได้ จึงเห็นชอบแผนฟื้นฟู การกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง และ คนร.หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ความสำเร็จนั้นอยู่ที่การร่วมมือและร่วมใจของพนักงาน ของคณะผู้บริหารเพื่อฟื้นฟูการบินไทยให้กลับคืนสู่ความเข้มแข็งได้ 

“ที่ประชุมฯเห็นด้วยกับการเข้าไปดูแลการบินไทยแต่ด้วยเงื่อนไขที่จะต้องเห็นการเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนดีขึ้น โดยเฉพาะการบริหารจัดการที่จะต้องมีคณะผู้บริหารมืออาชีพเข้ามาบริหาร แต่ในความจำเป็นเร่งด่วนในขณะนี้ คือ สภาพคล่องในระยะสั้น จะต้องกระทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น คลังจะดูเรื่องนี้อย่างเคร่งครัด ซึ่งคณะผู้บริหารใหม่จะต้องเดินตามเส้นทางการฟื้นฟูที่จะช่วยทั้งการบริหารจัดการ การบริหารสภาพคล่อง การประสานพันธมิตร การสร้างความสามารถแข่งขันในทุกด้าน ทุกอย่างเป็นขั้นตอน”แหล่งข่าว กล่าว