เตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่ ก้าวทันยุคโลกรวน สร้างอนาคตให้เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง

เตรียมพร้อมคนรุ่นใหม่ ก้าวทันยุคโลกรวน สร้างอนาคตให้เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง

เราจะปกป้องเด็ก ๆ จากอันตรายและความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดีขึ้นอย่างไร ในช่วงเวลาที่ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น

วิกฤติสภาพอากาศและอุณหภูมิที่สูงขึ้นจะส่งผลกระทบต่อเราทุกคน โดยเฉพาะกับเด็ก ๆ ที่จะกลายเป็นอนาคตของโลกใบนี้มีความเสี่ยงมากที่สุด แต่พวกเขากลับไม่ได้รับความสนใจมากเท่าที่ควร ตามข้อมูลของหน่วยงานด้านเด็กของสหประชาชาติ พบว่าโครงการที่ตอบสนองต่อความต้องการของเด็ก ๆ ได้รับเงินทุนด้านสภาพอากาศจากกองทุนสภาพอากาศพหุภาคีที่สำคัญเพียง 2.4% เท่านั้น 

ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลก “คลื่นความร้อน” เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตจากสภาพอากาศของผู้สูงอายุและกลุ่มเปราะบาง และทำให้เด็ก “คลอดก่อนกำหนด” ได้อีกด้วย

คิตตี้ ฟาน เดอร์ ไฮจ์เดน รองผู้อำนวยการบริหารฝ่ายความร่วมมือของ UNICEF กล่าวว่า “ความร้อนส่งผลกระทบต่อเด็ก ๆ ในลักษณะที่แตกต่างจากผู้ใหญ่มาก และเกิดขึ้นก่อนที่เด็กจะเกิดด้วยซ้ำ แทบไม่มีใครตระหนักถึงเรื่องนี้ คลื่นความร้อนเกิดขึ้นบ่อยขึ้น ยาวนานขึ้น และอุณหภูมิสูงขึ้น เราจึงพบว่าการคลอดก่อนกำหนดมีมากขึ้น ซึ่งหมายความว่าผู้หญิงคลอดลูกเร็วเกินไป เนื่องจากร่างกายไม่สามารถรับมือกับความร้อนได้” 

เด็กที่คลอดก่อนกำหนดมักเกิดมาพร้อมกับน้ำหนักแรกเกิดที่น้อยมาก นับเป็นข้อเสียเปรียบด้านสุขภาพตั้งแต่แรกเกิด นอกจากนี้ร่างกายของแม่ก็ได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน ผลิตน้ำนมน้อยลง และมีคุณภาพต่างกัน

อีกประเด็นสำคัญคือทารกและเด็กเล็กไม่สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิได้เหมือนผู้ใหญ่ ซึ่งยิ่งน่าเป็นห่วงมากขึ้นเมื่อพวกเขาคลอดก่อนกำหนด เพราะร่างกายยังไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิของร่างกายได้ ต่อมเหงื่อยังไม่แข็งแรงเหมือนกับผู้ใหญ่ จึงทำได้แค่หายใจเร็วขึ้น ซึ่งเร็วกว่าผู้ใหญ่มาก ยิ่งทำให้เสี่ยงต่อผลกระทบของมลพิษเป็นพิเศษ 

“เมื่อพูดถึงอากาศที่เป็นพิษ เช่น ไฟป่า การเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล การหายใจเอาอากาศนั้นเข้าไปเร็วขึ้นเป็นสองเท่า เมื่อทารกแรกเกิดหายใจในปอดที่กำลังขยายตัว ผลกระทบนี้จะคงอยู่ตลอดชีวิต ยิ่งไปกว่านั้นหากแม่ที่ตั้งครรภ์หายใจเอาอากาศที่เป็นมลพิษ สมองของเด็กจะได้รับผลกระทบในครรภ์ พวกเธอจะไม่มีวันฟื้นตัวจากสิ่งนั้นได้” ฟาน เดอร์ ไฮจ์เดนกล่าวสรุป

ภัยธรรมชาติที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้นจะนำมาซึ่งปัญหาด้านสุขภาพทั้งในปัจจุบันและในระยะยาว ส่งผลกระทบต่อการอยู่รอด การเติบโต และพัฒนาการในวงกว้างของเด็ก ๆ รวมถึงการผลิตอาหารและการแพร่กระจายของโรค

ฟาน เดอร์ ไฮจ์เดน ระบุว่า ในปัจจุบันผลผลิตทางการเกษตรทวีปแอฟริกาลดลงโดยเฉลี่ย 30%-50% แต่ทวีปนี้กลับมีเด็กและเยาวชนเพิ่มขึ้นมาก ซึ่งหากในช่วง 5 ปีแรกไม่ได้รับสารอาหารเพียงพอ จะนำไปสู่สิ่งที่เราเรียกว่าภาวะแคระแกร็น ซึ่งถือเป็นความพิการทางสติปัญญาตลอดชีวิตที่ไม่สามารถฟื้นตัวได้ และในขณะนี้ บางส่วนในเอธิโอเปียก็มีเด็กที่อยู่ในภาวะแคระแกร็นสูงถึง 40% 

การเปลี่ยนแปลงของรูปแบบสภาพอากาศยังส่งผลต่อการแพร่กระจายของโรคต่าง ๆ เมื่อเกิดน้ำท่วมในช่วงที่มีปริมาณน้ำฝนสูง จะเป็นช่วงที่โรคติดเชื้อและโรคที่แพร่กระจายโดยแมลงเพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโรคอหิวาตกโรค โรคท้องร่วง โรคมาลาเรีย ไข้ซิกา และไข้เลือดออก เมื่อ 10 ปีก่อน เรามีผู้ป่วยแค่ครึ่งล้านคน แต่ปัจจุบันเรามีผู้ป่วยไข้เลือดออก 5.2 ล้านคน 

“เด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบต้องแบกรับภาระด้านสุขภาพทั่วโลกถึง 88% ทั้งที่พวกเขาไม่ได้สร้างปัญหานี้เลยด้วยซ้ำ แต่กลับได้รับผลกระทบไปตลอดชีวิต” ฟาน เดอร์ ไฮจ์เดนกล่าว

สร้างอนาคตที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง

สภาเศรษฐกิจโลก หรือ WEF คาดการณ์ว่าภายในปี 2050 การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะทำให้มีผู้เสียชีวิตเพิ่มขึ้น 14.5 ล้านคน และมีมูลค่าสูญเสียทางเศรษฐกิจ 12.5 ล้านล้านดอลลาร์ทั่วโลก แล้วเราจะปกป้องเด็ก ๆ จากอันตรายและความเสี่ยงเหล่านี้ได้ดีขึ้นอย่างไร ในช่วงเวลาที่ภัยคุกคามจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเพิ่มมากขึ้น

ฟาน เดอร์ ไฮเดนกล่าวว่า UNICEF จะผลักดันให้รักษาเป้าหมายสภาพภูมิอากาศ 1.5 องศาเซลเซียสด้วยความช่วยเหลือจากผู้สนับสนุนรุ่นเยาว์ และปรับนโยบายด้านสุขภาพ โภชนาการ การศึกษา การคุ้มครองทางสังคม และสุขอนามัยเพื่อบูรณาการการพิจารณาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“เมื่อเราเข้าสู่รอบการวางแผนสภาพภูมิอากาศรอบต่อไป และประเทศต่างๆ ทั้งหมดต้องส่ง NDC [คำมั่นสัญญาเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ] ฉบับต่อไป แผนสภาพภูมิอากาศ 2.0 ในช่วงต้นปี 2025 ซึ่งเป็นช่วงก่อนการประชุม COP30 โดยแผนดังกล่าวจะต้องแสดงให้เห็นถึงความทะเยอทะยานของแต่ละประเทศ”

เพราะวิธีแก้ปัญหาไม่ได้มีแค่การทุ่มเงินให้กับปัญหาเท่านั้น แต่ยังต้องปรับตัวในทุกด้านด้วย เช่น การพัฒนานโยบายที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลางเพื่อให้เด็ก ๆ ได้แสดงความคิดเห็น

เธอกล่าวเสริมว่า “ไม่จำเป็นต้องมีเงินเสมอไป แต่ต้องทำให้แน่ใจว่าเมื่อเราทำโครงการด้านสุขภาพ การศึกษา หรือโครงการอื่น ๆ จะต้องดำเนินการในลักษณะที่เน้นเด็กเป็นศูนย์กลาง โดยคำนึงถึงความเสี่ยงเฉพาะตัวของเด็ก ๆ ต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศด้วย”

วิธีที่ทำได้ง่ายกว่านั้น คือ การเปิดใจฟัง ค้นคว้าเพิ่มเติม ออกนโยบายที่เหมาะสมและเป็นมิตรต่อเด็ก โดยร่วมกับเยาวชน ให้พวกเขาได้ออกแบบอนาคตของพวกเขาเอง แต่ระบบการศึกษาก็เป็นอีกปัจจัยสำคัญเช่นกัน

เรเชล ซี เอ็ดเวิร์ดส์ นักวิจัยอาวุโสด้านสาธารณสุข มหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน เสนอว่าภาคการศึกษาควรให้การเรียนรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศและความยั่งยืนครอบคลุมวิชาต่าง ๆ มากขึ้น รวมถึงบูรณาการไว้ในหลักสูตร เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเกี่ยวข้องกับแทบทุกแง่มุมของชีวิตเรา เด็ก ๆ จะสามารถเรียนรู้ และผลกระทบที่เกิดขึ้นจากปัญหาดังกล่าวได้รวดเร็วมากยิ่งขึ้น

พร้อมพัฒนาวิธีการสอนที่ตอบสนองทางอารมณ์ การสร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับสภาพอากาศถือเป็นความท้าทายทางอารมณ์ โดยเฉพาะสำหรับเด็กที่มีความรู้เกี่ยวกับปัญหาเหล่านี้มาก่อนเพียงเล็กน้อย อีกทั้งนักเรียนควรได้รับการสนับสนุนให้แบ่งปันอารมณ์ของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นความเศร้า ความวิตกกังวล หรือความโกรธ สิ่งเหล่านี้เป็นปฏิกิริยาที่ถูกต้องและเป็นธรรมชาติเมื่อเรียนรู้เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

โรงเรียนควรเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ต่อสู้กับวิกฤติสภาพภูมิอากาศและปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ ด้วย จะช่วยสนับสนุนความรู้สึกในการตัดสินใจ ซึ่งมีความสำคัญต่อการกระตุ้นให้เกิดการกระทำ การให้นักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมร่วมกันสามารถมีประสิทธิผลอย่างยิ่งในการเสริมพลังให้พวกเขาและปลูกฝังความหวัง


ที่มา: The ConversationWorld Economic Forum