3 คำถามช่วยตัดสินใจ ก่อนลงทุน 'SSFX' โค้งสุดท้าย 30 มิ.ย. 63
เปิด 3 คำถามทบทวนตัวเอง เพื่อช่วยตัดสินใจ ก่อนลงทุน 'SSFX' (Super Savings Fund Extra) หรือ กองทุนเพื่อการออมพิเศษ กับโค้งสุดท้าย 30 มิ.ย. 63
นับถอยหลังเหลืออีกเพียงไม่กี่วัน สำหรับโอกาสในการซื้อ "SSF" หลักทรัพย์จดทะเบียน หรือ "SSFX" ที่มีกำหนดซื้อได้ถึงวันที่ 30 มิ.ย. 63 ซึ่งเป็นทางเลือกการลงทุนสำหรับผู้ที่ต้องการลงทุนระยะยาว มีเป้าหมายการใช้เงินก้อนในอีก 10 ปีข้างหน้า และมองหาสิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มจากวงเงิน SSF ปกติ และกลุ่มเกษียณอื่นๆ
สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดตัวช่วย สำหรับคนที่ยังไม่แน่ใจว่าจะลงทุนกองทุน SSFX ดีหรือไม่ หรือลงทุนกองไหนดี ด้วยการลองพิจารณา 3 คำถามต่อไปนี้ เพื่อช่วยเลือก SSFX ที่ใช่สำหรับตัวเองก่อนหมดเวลาขาย
1. กองทุนลงทุนในสินทรัพย์ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เรารับได้หรือไม่
ก่อนตัดสินใจลงทุน ผู้ลงทุนควรศึกษาว่าการลงทุนใน SSFX นั้น มีเงื่อนไขและมีความเสี่ยงอยู่ในระดับที่สามารถที่ตนเองรับได้หรือไม่ โดยทั่วไปหากกองทุนมุ่งเน้นการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น หุ้น มักทำให้มีโอกาสได้รับผลตอบแทนสูงขึ้น แต่การลงทุนก็มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วย ขณะที่กองทุนที่มีการผสมสินทรัพย์การลงทุนอื่นๆ ในพอร์ตนอกเหนือจากการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียน ยังมีการกระจายลงทุนในหุ้นกู้ เงินฝาก รวมถึงสินทรัพย์ทางเลือก (เช่น ทองคำ น้ำมัน ตราสารอนุพันธ์) ก็จะช่วยลดความเสี่ยงโดยรวมของกองทุนได้
แม้ SSFX ทุกกองมีเงื่อนไขให้ลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนไม่น้อยกว่า 65% ของ NAV อยู่แล้ว แต่ยังสามารถแบ่งได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ตามอัตราส่วนระหว่างการลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนกับสินทรัพย์อื่น คือ
1) กลุ่มที่เน้นลงทุนในหุ้น โดยกองทุนประเภทนี้มีนโยบายลงทุนในตราสารทุนตั้งแต่ 80% ขึ้นไปของ NAV
2) กลุ่มที่มีการกระจายการลงทุนในทรัพย์สินอื่น กองทุนประเภทนี้มีนโยบายลงทุนในตราสารทุน ระหว่าง 65-80% ของ NAV หรือ กระจายลงทุนในสินทรัพย์อื่น ระหว่าง 20-35% เช่น ตราสารหนี้ กองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ (REIT)
คำถามแรกที่จะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ SSFX คือ "เรารับความเสี่ยงได้หรือไม่" หากประเมินความเสี่ยงแล้วคำตอบคือ "รับได้" ค่อยพิจารณาข้ออื่นๆ ต่อไป
ฉะนั้น คำถามแรกที่จะต้องตอบตัวเองให้ได้ก่อนตัดสินใจเลือกซื้อ SSFX คือ "เรารับความเสี่ยงได้หรือไม่" หากประเมินความเสี่ยงแล้วคำตอบคือ "รับได้" ค่อยพิจารณาข้ออื่นๆ ต่อไป แต่หากตอบว่า "ไม่สามารถรับความเสี่ยงได้" ต้องลองค้นหากองทุนอื่นๆ ที่สอดคล้องกับความเสี่ยงที่เรารับได้ต่อไป
2. ใช้กลยุทธ์การลงทุนแบบ active หรือ passive
การลงทุนแบบ active คือ การลงทุนในหลักทรัพย์จดทะเบียนที่ผู้จัดการกองทุนมุ่งสร้างผลตอบแทนให้มากกว่าดัชนีอ้างอิง ซึ่งจะต้องอาศัยความสามารถของผู้จัดการกองทุนในการบริหารจัดการกองหรือมีกระบวนการคัดเลือกหุ้นด้วยการวิเคราะห์เชิงลึก
ในขณะที่การลงทุนแบบ passive จะเน้นสร้างผลตอบแทนไปในทิศทางเดียวกันกับดัชนีอ้างอิง ด้วยการลงทุนในหุ้นที่เป็นองค์ประกอบของดัชนีอ้างอิง เช่น SET50 หรือ SET100 และให้น้ำหนักการลงทุนในหุ้นแต่ละตัวสอดคล้องกับดัชนีอ้างอิง
ด้วยลักษณะการบริหารจัดการที่แตกต่างกัน จึงทำให้ค่าธรรมเนียมการจัดการกองทุนของกองทุนแบบ passive ต่ำกว่ากองทุนรวมที่มีกลยุทธ์แบบ active ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่นักลงทุนควรนะมาพิจารณาเลือกกองทุน ว่ากองทุนแต่ละกองมีลักษณะการลงทุนแบบไหน และมีค่าธรรมเนียมในการจัดการกองทุนที่เหมาะสมหรือไม่
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง:
3. ต้องการรับเงินปันผลระหว่างทางหรือไม่
ปัจจุบันกองทุน SSFX ที่เสนอขายแล้วมีทั้งกองทุนที่มีนโยบายจ่ายเงินปันผลและไม่จ่ายเงินปันผล ซึ่งมีข้อดีแตกต่างกัน คือ
SSFX ประเภทที่จ่ายเงินปันผล เหมาะกับผู้ลงทุนที่ชอบผลตอบแทนระหว่างการลงทุน หรือเพื่อให้มีกระแสเงินสด (cash flow) โดยเงินปันผลที่ได้รับมาจะถูกหักภาษี ณ ที่จ่าย 10% ด้วย
ในทางตรงกันข้ามหาก SSFX ประเภทที่ไม่จ่ายเงินปันผล จะไม่มีกระแสเงินสดตอบแทนผู้ลงทุนระหว่างลงทุน แต่ผลตอบแทนจะอยู่ในกองทุนสะสมต่อไปเรื่อยๆ และเติบโตไปตามกาลเวลาจนกระทั่งมีการขายออกเมื่อครบกำหนดระยะที่กองทุนกำหนด
การรับเงินปันผล หรือ ไม่รับเงินปันผล ไม่มีถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุนและสไตล์การลงทุนของแต่ละคน
ซึ่งการรับเงินปันผล หรือ ไม่รับเงินปันผล ไม่มีถูกหรือผิดขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ลงทุนและสไตล์การลงทุนของแต่ละคน แต่ควรนำมาพิจารณาในการเลือกกองทุนตั้งแต่ต้น เพื่อให้สามารถวางแผนการเงิน การลงทุน ในอนาคตได้ดีกว่า
สำหรับใครที่กำลังลังเล ลองตั้งคำถามกับตัวเองด้วย 3 คำถามนี้ เพื่อหากองทุนที่สอดคล้องกับสไตล์การลงทุนให้เหมาะสมกับตัวเอง ที่สำคัญอย่าลืมพิจารณาและหาข้อมูลให้ทันวันที่ 30 มิ.ย.นี้ ซึ่งเป็นวันสุดท้ายสำหรับการลงทุนใน “กองทุน SSF หลักทรัพย์จดทะเบียน” แล้ว
โดยนักลงทุนสามารถสอบถามข้อมูลของกองทุน SSFX ที่เปิดสนอขายแล้วจำนวน 20 กองทุน จากบริษัทจัดการกองทุน (บลจ.) 15 แห่งได้ที่ บลจ. สาขาของธนาคารพาณิชย์ รวมถึงแอพพลิเคชั่นของตัวแทนขายหน่วยลงทุนที่เสนอขายกองทุนดังกล่าว หรือสอบถามมาที่ สายด่วนศูนย์บริการประชาชน ก.ล.ต. 1207 ตลอด 24 ชั่วโมง