เป้าใหญ่ ‘พยุงจ้างงาน’ ดัน ‘เศรษฐกิจไทย’ พ้นวิกฤติโควิด
การพยุงการจ้างงาน สิ่งสำคัญสุดต้องทำให้บริษัทต่างๆ อยู่รอดให้ได้ท่ามกลางวิกฤติ ขณะนี้หลายบริษัทขาดสภาพคล่อง โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจึงต้องทำให้บริษัทข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ เพราะหากไม่สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจเหล่านี้ไว้ได้ กำลังซื้อจะยิ่งทรุดหนักไปอีก
วิกฤติโรคระบาดจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือ "โควิด-19" ในครั้งนี้ สร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจโลกอย่างใหญ่หลวง โดยเฉพาะเศรษฐกิจที่ต้องพึ่งพา "ดีมานด์" จากต่างประเทศเป็นหลัก เช่น "เศรษฐกิจไทย" ...จะเห็นได้ว่าประมาณการเศรษฐกิจขององค์กรใหญ่ๆ ระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) หรือธนาคารโลก (เวิลด์แบงก์) ต่างประเมินว่าวิกฤติคราวนี้ "เศรษฐกิจไทย" โดนผลกระทบหนักสุดในอาเซียน
สาเหตุที่เป็นเช่นนั้น เพราะเศรษฐกิจไทยพึ่งพารายได้จากต่างประเทศเป็นหลักทั้ง "การส่งออก" ที่มีสัดส่วนต่อตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงราว 60% และยังพึ่งพารายได้จาก "นักท่องเที่ยวต่างชาติ" อีกราวๆ 12% ของจีดีพี แค่สองส่วนนี้ก็คิดเป็นสัดส่วนต่อจีดีพีที่สูงเกินกว่า 3 ใน 4 ของระบบเศรษฐกิจแล้ว ...วิกฤติโรคระบาดในครั้งนี้ทำให้ "ดีมานด์" จากทั่วโลกทรุดลงอย่างหนัก แถมการเดินทางระหว่างประเทศยังทำได้อย่างยากลำบากจากมาตรการล็อกดาวน์ ด้วยเหตุนี้เศรษฐกิจไทยจึงโดนผลกระทบที่หนักหนาสาหัสกว่าหลายๆ ประเทศในภูมิภาคเดียวกัน
ความจริงแล้วก่อนที่จะเกิดวิกฤติโควิด สำนักวิจัยทางเศรษฐกิจของไทยหลายๆ แห่ง ได้เสนอแนะให้ "รัฐบาล" หันมาให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจภายในประเทศมากขึ้น เพื่อลดการพึ่งพาเศรษฐกิจต่างประเทศลง แต่การขับเคลื่อนทำได้ยากลำบาก ส่วนหนึ่งเพราะ "กำลังซื้อ" ภายในประเทศ โดยเฉพาะของคนกลุ่มล่างอ่อนแอมานานแล้ว ยิ่งมาเจอวิกฤติโควิด ยิ่งทำให้ความเปราะบางซึ่งมีอยู่เดิมกำลังจะแตกลง สะท้อนผ่านตัวเลขการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินของประชาชนรายย่อยที่สูงกว่า 10 ล้านคน คิดเป็นมูลค่ากว่า 3.7 ล้านล้านบาท
แต่ไม่ว่ายังไงก็ตาม การผลักดันให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวจากวิกฤติในคราวนี้ จำเป็นที่ "ภาครัฐ" จะต้องขับเคลื่อนเศรษฐกิจจาก "ภายใน" เพราะการหวังพึ่งพาเศรษฐกิจโลกและนักท่องเที่ยวต่างชาติ ดูมืดมนไร้หนทาง เนื่องจากหลายประเทศในเวลานี้ยังพบจำนวนผู้ติดเชื้อรายใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เพียงแต่การขับเคลื่อนเศรษฐกิจจากภายในจำเป็นต้องสร้างความเชื่อมั่นดึงกำลังซื้อของคนที่ยังมีแรงอยู่กลับคืนมาให้ได้ การจะทำสิ่งเหล่านี้ได้ประเด็นสำคัญสุด คือ ต้องพยุงการจ้างงานไว้ให้มากที่สุด
อย่างไรก็ตาม การพยุงการจ้างงานสิ่งสำคัญสุด ต้องทำให้บริษัทต่างๆ อยู่รอดให้ได้ก่อนท่ามกลางวิกฤติที่เกิดขึ้น เพราะเวลานี้หลายบริษัทขาดสภาพคล่องอย่างหนัก โดยสภาพคล่องที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และธนาคารพาณิชย์ต่างๆ อัดฉีดเข้าสู่ระบบยังน้อยและมีเงื่อนไขที่หยุมหยิมมากมาย ทำให้หลายบริษัทไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำได้ โจทย์ใหญ่ของรัฐบาลจึงอยู่ที่จะทำให้บริษัทต่างๆ เข้าถึงแหล่งเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำเพื่อหล่อเลี้ยงธุรกิจพยุงการจ้างงานได้อย่างไร หากไม่สามารถหล่อเลี้ยงธุรกิจเหล่านี้ไว้ได้ กำลังซื้อจะยิ่งทรุดหนักจากปัญหาว่างงาน ถึงตอนนั้นการจะหวังให้เศรษฐกิจไทยฟื้นในรูป "ตัววี" ลืมไปได้เลย เพราะแม้จะฟื้นในรูป "ตัวยู" ยังลำบากยากเย็น