ครม.เคาะงบเดินหน้าแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมาย 171 ล้าน
ครม.เคาะงบกลางฯ ปี 63 ให้กระทรวงเกษตร เดินหน้าแก้ปัญหาประมงผิดกฎหมายอย่างบูรณาการและต่อเนื่อง นายกฯย้ำไม่ยอมให้ประมงไทยโดนใบเหลืออีก ครม.รับทราบรายงานการดำเนินการคุ้มครองแรงงานในงานประมงมีความคืบหน้าทุกด้าน
นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 29 กรกฎาคม 2563 ว่า ครม.เห็นชอบโครงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ที่เสนอโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายกรัฐมนตรี ได้เน้นย้ำถึงเรื่องนี้ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ เพื่อไม่ให้ประเทศไทยต้องเสี่ยงโดนใบเหลืองจากสหภาพยุโรปอีก มาตรการใดที่ออกมาแล้ว หากกระทบต่อผู้ทำประมงพื้นบ้านหรือประมงพาณิชย์ รัฐบาลพร้อมรับฟังและให้การดูแล ทั้งนี้ คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้กระทรวงเกษตรฯ ใช้งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2563 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น เพื่อดำเนินการโครงการการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย วงเงินทั้งสิ้น 171.60 ล้านบาท
ที่มาของโครงการนี้ สืบเนื่องจากทางการไทยได้มีการหารือระดับทวิภาคีกับสหภาพยุโรป และมีข้อเสนอแนะว่า การแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU Fishing) ของไทย มีแนวโน้มที่จะไม่สามารถคงประสิทธิภาพได้ หากไทยไม่ดำเนินการอย่างเข้มงวดและต่อเนื่อง ซึ่งฝ่ายสหภาพยุโรปยังคงติดตามการดำเนินการของไทยในหลายประเด็นอย่างใกล้ชิด อาทิ กรอบกฎหมาย การบริหารจัดการกองเรือ และการบังคับใช้กฎหมาย มากไปกว่านั้น สหรัฐอเมริกาได้มีการออกระเบียบว่าด้วยการป้องกันการทำลายสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม (Marine Mammal Protection Act : MMPA) จากการทำประมง ซึ่งหากไทยไม่มีการเตรียมพร้อม อาจส่งผลให้ไทยไม่สามารถส่งออกสินค้าสัตว์น้ำไปสหรัฐอเมริกาได้ในปี 2565
เพื่อเป็นการยกระดับการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมายของไทยให้มีประสิทธิภาพและเป็นการเตรียมความพร้อมรับมือกับมาตรการกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา ในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม กระทรวงเกษตรฯ จึงได้จัดทำโครงการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ 1)ให้การทำประมงของไทยทั้งในน่านน้ำไทยและนอกน่านน้ำไทยเป็นไปอย่างถูกกฎหมาย มีการรายงานและมีการควบคุมตามมาตรฐานสากล 2)เพื่อต่อต้านการทำประมงผิดกฎหมายรวมถึงการควบคุมไม่ให้สินค้าประมงที่มาจากการทำประมงผิดกฎหมายเข้ามาในห่วงโซ่การผลิต 3)เพื่อยกระดับคุณภาพสินค้า รายได้ คุณภาพชีวิตและลดความเหลื่อมล้ำในการประกอบอาชีพของประมงพื้นบ้าน และ 4)เพื่อการอนุรักษ์และความยั่งยืนของทรัพยากรน้ำ
สำหรับการดำเนินงานของโครงการนี้ เป็นการบูรณาการร่วมกันระหว่าง กรมประมง กรมเจ้าท่า สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรมสวัสดิการและคุ้มแรงงาน และองค์การสะพานปลา โดยร่วมกันทำงานในด้านต่างๆ ประกอบด้วย 1)ปรับปรุงการเก็บข้อมูลการทำประมงพาณิชย์และพื้นบ้าน ให้ครอบคลุมทุกจังหวัดชายทะเล 2)การตรวจสอบความถูกต้องของการบริหารจัดการเรือ ที่ได้รับใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ 3)การตรวจสอบ ติดตาม ควบคุม และเฝ้าระวังการทำประมงของเรือประมงไทย 4)การพัฒนาระบบอิเล็กทรอนิกส์ในระบบการตรวจสอบย้อนกลับ 5)การเตรียมความพร้อมในการป้องกันการใช้มาตรการกีดกันทางการค้า ในประเด็นเรื่องการทำลายทรัพยากรสัตว์ทะเลหายากและสัตว์ทะเลเลี้ยงลูกด้วยนม และ6) การบริหารจัดการแรงงานต่างด้าวในภาคประมงและการจัดหาแรงงานที่ถูกกฎหมาย ซึ่งมีระยะเวลาดำเนินงาน 3 เดือน (กรกฎาคม – กันยายน 2563)
ด้านนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีเผยว่า ครม.รับทราบรายงานการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 ระหว่างวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562-31 พฤษภาคม 2563 ) ภายใต้กรอบนโยบาย 5 P (Policy Prevention Prosecution Protection and Partnership) เพื่อคุ้มครองแรงงานในงานประมงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล สร้างเครือข่ายความร่วมมือและป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ระหว่างประเทศพบเรือประมงกระทำความผิดลดน้อยลง
ทั้งนี้ รายงานผลการดำเนินการตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานในงานประมง พ.ศ. 2562 มีความก้าวหน้าใน 5 ด้าน ได้แก่ ด้านนโยบาย (Policy) มีการแต่งตั้งคณะทำงานกำกับและติดตามการป้องกันและแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินงาน การออกกฎหมายลำดับรองเพื่อแก้ไขปัญหาแรงงานในภาคประมงทั้งระบบ ด้านการบังคับใช้กฎหมาย (Prosecution) จากการตรวจเรือประมง ณ ศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) พบการกระทำความผิด 9 ลำจาก 37,054 เที่ยว หรือเพียงร้อยละ 0.024 ขณะที่การตรวจเรือประมงกลางทะเล 508 ลำ พบการกระทำความผิด 2 ลำจาก (ร้อยละ 0.39) ด้านการป้องกัน (Prevention) การบริหารจัดการแรงงานในกิจการประมงจำนวน 160,950 คน อาทิ ตรวจสุขภาพแรงงานต่างด้าวเพื่อแสดงความพร้อมในการทำงานบนเรือประมง จำนวน 92,233 คน รวมทั้งมีการออกใบอนุญาตทำการประมงพาณิชย์ในน่านน้ำไทย ในรอบปีการประมง พ.ศ. 2563-2564 จำนวน 10,202 ลำ นอกน่านน้ำไทย จำนวน 6 ลำ ด้านการคุ้มครองช่วยเหลือ (Protection) มีการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยที่ตกทุกข์ได้ยากในต่างประเทศ 3 ราย เป็นต้น รวมทั้งการแสวงหาความร่วมมือ(Partnership) กับประเทศต่างๆ อาทิ โครงการสิทธิจากเรือสู่ฝั่ง (Ship to Shore Rights Project) ร่วมกับสหภาพยุโรปและองค์การแรงงานระหว่างประเทศ โครงการ ATLAS Project ร่วมกับกระทรวงแรงงานสหรัฐอเมริกา เพื่อยกระดับการแก้ไขปัญหาแรงงานเด็ก การใช้แรงงานบังคับ และการค้ามนุษย์ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืน
รัฐบาลประกาศให้การป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติตั้งแต่ปี 2558 โดยบูรณาการทำงานร่วมกันอย่างจริงจังภายใต้กรอบ 5 P ส่งผลให้สถานะไทยดีขึ้น โดยถูกจัดอยู่ในระดับ Tier 2 ตามรายงานสถานการณ์การค้ามนุษย์ของสหรัฐ ฯ ปี 2563 ต่อเนื่อง 3 ปีตั้งแต่ 2561-2563 รวมทั้งสหภาพยุโรปประกาศปลดสถานะใบเหลืองของประมงไทยในปี 2562 ด้วย