'เมกะเทรนด์' ก่อนและหลังโควิด-19
ส่อง 5 เมกะเทรนด์ สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวช่วงหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน จากช่วงก่อนที่ประเทศไทยและโลกจะเผชิญวิกฤติโรคระบาดครั้งนี้ เพื่อที่ผู้ประกอบการไทยจะได้เตรียมตัวรับนิวนอร์มอล
ก่อนที่เราจะไปพูดถึงเมกะเทรนด์ที่กำลังสร้างนิวนอร์มอลในอนาคต ลองมาพิจารณาดูว่าอะไรเป็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลงในโลกนี้ ซึ่งทำให้เกิดวิถีใหม่ที่กำลังตามมา
Bloombergmedia ชี้ให้เห็นถึง 5 เมกะเทรนด์ ได้แก่
1.Reality, enhanced
2.Life, restructured
3.Data, revolutionized
4.Power, redistributed
5.Consumption, reimagined
ซึ่งผู้เขียนขออนุญาตดัดแปลงใหม่เป็นกลุ่มลูกค้าที่แยกตามพฤติกรรม เพื่อให้สามารถเชื่อมโยงไปกับธุรกิจท่องเที่ยวในอนาคตได้ดังต่อไปนี้นะคะ
แนวโน้มที่ 1 ชีวิตเติมพลัง คนรุ่นใหม่เป็นคนที่แสวงหาประสบการณ์ ต้องการหาความหมายในชีวิต รวมทั้งมีส่วนร่วมในการสร้างความดีงามให้กับชุมชนและสังคม สนใจความคิดสร้างสรรค์ การมีสุขภาพที่ดี คนกลุ่มนี้ต้องการเทคโนโลยีที่ลดเวลารอคอยและทำให้ประสบการณ์มีคุณค่ามากขึ้น เป็นกลุ่มคนที่ใช้เทคโนโลยี AR/VR มาเพิ่มประสบการณ์ให้กับตนเอง สนใจแอพพลิเคชั่นที่สามารถนำทางให้ท่องเที่ยวในเมืองหรือในชนบทได้อย่างเจาะลึกแต่ต้องการให้เทคโนโลยีเป็นตัวช่วยหรือต้องการให้สามารถควบคุมเทคโนโลยีได้โดยสนใจเทคโนโลยีที่สามารถลดการรบกวนได้
กลุ่มนี้จะสนใจกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการเสริมสุขภาพพัฒนาตัวเอง สนใจการควบรวมการเดินทางเข้ากับกิจกรรมกีฬาตามไลฟ์สไตล์ของตนและมีกิจกรรมที่สร้างสรรค์เชิงศิลปะ สนใจเทศกาลหรือนิทรรศการเกี่ยวกับภาพยนตร์ ศิลปะและดนตรี กลุ่มนี้ไม่สนใจการท่องเที่ยวแบบแมส (Mass) ต้องการแสวงหาความเฉพาะและความแปลกใหม่และความแท้จริง
แนวโน้มที่ 2 ชีวิตแบ่งปัน เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เคยชินกับการใช้วิถีแบ่งปัน การพัฒนาด้านเทคโนโลยีความสามารถที่จะเคลื่อนไหวระหว่างโลกเสมือนกับโลกที่แท้จริง ทำงานที่ไหนก็ได้หรือเที่ยวเมื่อใดก็ได้ ซึ่งทำให้เส้นแบ่งระหว่างการทำงานกับการพักผ่อนนั้นจางลง ทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจแบ่งปันที่สามารถซื้อขายแลกเปลี่ยนบริการผ่านแอพพลิเคชั่น แม้แต่บริการรับจ้างแม่บ้าน ผู้มีชีวิตในกลุ่มนี้สนใจการทำงานที่เป็นอิสระและยืดหยุ่น เป็นเจ้านายตัวเอง สามารถแสดงความเป็นตัวของตัวเองได้อย่างเต็มที่ หรือเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในเศรษฐกิจชั่วคราว (Gig economy) ในสหรัฐขยายตัวเร็วมากและคาดว่าภายในปี 2027 กว่า 50% ของหน่วยงานจะเป็นผู้ที่ทำงานอยู่ในภาคเศรษฐกิจชั่วคราวหรือ Gig economy
คนกลุ่มนี้มีชีวิตที่ไร้ความผูกพันต่อทรัพย์สิน เช่น บ้านหรือรถยนต์ เปลี่ยนมุมมองต่อทรัพย์สินว่าไม่ใช่เพื่อสะสมความมั่งคั่งแต่เพื่อสร้างความสะดวกในการใช้ชีวิต ดังนั้น จึงนิยมเช่าบ้านรถยนต์ เช่น Grab หรือใช้ Airbnb หรือตู้เจีย (Airbnb ของจีน) หรือแม้แต่เช่าสัตว์เลี้ยง เช่น สุนัข เป็นต้น
ขณะนี้จีนมีผู้ใช้ระบบเศรษฐกิจแบ่งปันถึง 600 ล้านคนและคาดว่าภายในปี 2525 เศรษฐกิจแบ่งปันจะมีสัดส่วนถึง 25% ของจีดีพี ทำให้เกิดนักท่องเที่ยวกลุ่มใหม่ ซึ่งเป็น Nomad workers or Nomad tourists ซึ่งจะท่องเที่ยวและทำงานไปพร้อมๆ กันโดยผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัล
แนวโน้มที่ 3 ชีวิตดิจิทัล เป็นชีวิตที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูลและเทคโนโลยีดิจิทัล เป็นมนุษย์แพลตฟอร์มที่คุ้นชินกับการใช้ข้อมูลตลอดเวลา เช่น ใช้แพลตฟอร์มเป็นตัวหาข้อมูลตัดสินใจสั่งซื้อจ่ายเงินและแชร์ข้อมูล นักท่องเที่ยวในอนาคตไม่จำเป็นต้องมีล่ามเพราะสามารถใช้แอพพลิเคชั่นภาษา ขณะเดียวกันนักท่องเที่ยวเหล่านี้ก็มีความกังวลเกี่ยวกับความปลอดภัยทางไซเบอร์การถูกโจรกรรมข้อมูลและความเป็นส่วนตัวของการใช้ข้อมูล อย่างไรก็ดี แพลตฟอร์มกลางส่วนใหญ่ในประเทศไทยเป็นของต่างชาติและเป็นแพลตฟอร์มของบริษัทใหญ่ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะมีเศรษฐกิจกินรวบในภาคการท่องเที่ยวได้
โอกาสทางเศรษฐกิจคือ การจัดการท่องเที่ยวที่ไร้รอยต่อการใช้ข้อมูลขนาดใหญ่จากผู้บริโภคมาสร้างโปรแกรมการเที่ยวใหม่ๆ หรือ Users generated content เป็นเมืองแพลตฟอร์มหรือเมืองท่องเที่ยวอัจฉริยะ จึงจะสามารถขายนักท่องเที่ยวที่เป็นมนุษย์แพลตฟอร์มได้
แนวโน้มที่ 4 ชีวิตสู่วิถีบูรพาโลกได้เห็นและจะเห็นการเปลี่ยนผ่านอำนาจซื้อบริการท่องเที่ยวจากตะวันตกสู่ตะวันออก ทศวรรษหน้าจะเป็นทศวรรษของนักท่องเที่ยวจากซีกโลกตะวันออก โดยเฉพาะจีนในปี 2017 ขนาดจีดีพีของสหรัฐมากกว่าของจีนอยู่ที่ 1.6 เท่า แต่คาดว่าก่อนปี 2030 จีนจะแซงหน้าสหรัฐในฐานะประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลกประเทศ
ในทวีปเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มชนชั้นกลางของประเทศเอเชีย ประมาณ 9 ใน 10 คนของชนชั้นกลางในโลกนี้จะเป็นชาวเอเชียและในจีนคนที่เกิดหลังปี 1990 จะมีองค์ประกอบถึง 36% ของประชากรจีนภายในปี 2027 กลุ่มนี้จะมีการบริโภคสูง แต่ก็ไม่หวั่นไหวกับราคาเท่าคนรุ่นก่อนๆ ประเทศกลุ่มเศรษฐกิจก้าวหน้าใหม่ได้แก่ อินเดีย บราซิล รัสเซีย อินโดนีเซีย เม็กซิโก และตุรกี รวมกับ E-7 และจีนจะเป็นกลุ่มประเทศที่มีรายได้ถึง 50% ของจีดีพีโลกการขยายตัวของเมืองในกลุ่มประเทศนี้จะมีผลอย่างยิ่งต่อการท่องเที่ยวโลก
แนวโน้มที่ 5 ชีวิตอารยะ ผู้บริโภคในกลุ่มนี้จะเป็นผู้ที่สนใจไลฟ์สไตล์ที่มีประสิทธิภาพในการใช้ทรัพยากรมากขึ้น เป็นกลุ่มนักบริโภครุ่นใหม่ที่สนใจผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยยินดีที่จะจ่ายเพิ่มมากขึ้นสำหรับสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ประมาณ 3% ของ Gen Y ยินดีที่จะจ่ายมากกว่า Gen X และ 65% ของ Gen X บอกว่าจะต้องแสวงหาข้อมูลเกี่ยวกับที่มาของสินค้าก่อนที่จะซื้อ แต่อย่างไรก็ดี ทั้งหมดนี้เป็นการบริโภคสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ดังนั้นบริษัทเอกชนจะพบความกดดันจากความเสี่ยงและความจำเป็นที่ต้องดูแลสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โอกาสของการท่องเที่ยวของกลุ่มนี้อยู่ที่ความพยายามที่จะแสดงถึงความรับผิดชอบของผู้ขายสินค้าท่องเที่ยวต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยทั้งผู้ขายสินค้าท่องเที่ยวและผู้บริโภคควรมีความรับผิดชอบตลอดช่วงห่วงโซ่การผลิต
เมื่อเห็นเมกะเทรนด์แล้ว ผู้ประกอบการไทยก็เตรียมตัวรับนิวนอร์มอลได้เลยค่ะ