หลังโควิด-19 ธุรกิจ Food Delivery ขยายตัวบนการแข่งขันที่ยิ่งรุนแรง … ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรุกไปสู่ Super Application

หลังโควิด-19 ธุรกิจ Food Delivery ขยายตัวบนการแข่งขันที่ยิ่งรุนแรง …  ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรุกไปสู่ Super Application

ประเด็นสำคัญ

  • ความนิยมในการใช้บริการสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ผ่านแอพพลิเคชั่นออนไลน์ ดึงดูดให้มีผู้เล่นรายใหม่ที่นำเสนอรูปแบบการทำธุรกิจที่ต่างจากเดิมให้เข้ามาแข่งขัน ซึ่งจะยิ่งยกระดับการแข่งขันในตลาดผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารที่เดิมถูกขับเคลื่อนโดยผู้เล่น 4 รายหลักให้รุนแรงขึ้น ขณะที่ผู้บริโภคยังมีแนวโน้มให้ความสำคัญกับส่วนลดที่ได้รับและความหลากหลายของร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม ดังนั้น การเข้ามาแบ่งฐานตลาดของผู้บริโภคและสร้างฐานพันธมิตรทางธุรกิจของผู้ให้บริการรายใหม่คงจะไม่ใช่เรื่องง่าย ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่างผู้เล่นเดิมและผู้เล่นใหม่ในช่วงที่เหลือของปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564 อาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ ขณะที่ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายเดิมคงเร่งรุกไปสู่การเป็น Super Application
  • ทิศทางของธุรกิจการจัดส่งอาหารไปยังที่พักในช่วงที่เหลือของปี 2563 แม้ปริมาณการใช้บริการอาจจะลดลงกว่าในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ แต่การใช้บริการยังคงสูงกว่าช่วงก่อนเกิดโควิด-19 เนื่องจากผู้บริโภคคุ้นชินกับการใช้บริการ กอปรกับการแข่งขันกันกระตุ้นการใช้บริการจากฝั่งผู้ให้บริการแอพพลิเคชั่นสั่งอาหาร ดังนั้น ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักในปี 2563 จะสูงกว่า 66-68 ล้านครั้ง หรือขยายตัวทั้งปีสูงถึงร้อยละ 0-84.0 เมื่อเทียบกับปีก่อน อย่างไรก็ดี การขยายตัวที่เร่งขึ้นก็อาจผลักดันให้ตลาดเข้าสู่ภาวะอิ่มตัวเร็วขึ้น และทำให้ผู้เล่นบางรายอาจจำเป็นต้องออกจากตลาดไป

จากวิกฤติการระบาดของไวรัสโควิด-19 และการที่ทางการไทยต้องใช้มาตรการเข้มข้นในการปิดกิจการหรือจำกัดการให้บริการของภาคธุรกิจเป็นการชั่วคราว รวมถึงธุรกิจร้านอาหารที่เหลือเพียงช่องทางการซื้อกลับและการจัดส่งอาหารไปส่งยังที่พัก (Food Delivery) ผ่านแอพพลิเคชั่นต่างๆ ซึ่งได้กลายเป็นช่องทางที่สำคัญของทั้งผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหารและผู้บริโภค จากข้อมูลของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์ พบว่า มีจำนวนร้านอาหารขนาดเล็ก-กลาง สมัครเข้าร่วมกับแพลตฟอร์มจัดส่งอาหาร ไม่น้อยกว่า 20,000 ต่อสัปดาห์ ส่งผลทำให้ในช่วงครึ่งแรกของปี 2563  จำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารไปยังที่พักเติบโตสูงถึงประมาณร้อยละ 150 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน สำหรับทิศทางของตลาดธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักและภาวะการแข่งขันในช่วงครึ่งหลังของปี 2563 หลังจากการเข้ามาร่วมแข่งขันของผู้ให้บริการรายใหม่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า

ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พักที่เข้ามาในตลาดเพิ่มขึ้น ส่งผลต่อตลาดในมิติที่หลากหลาย

           

            จากความนิยมของผู้บริโภคในการใช้แอพพลิเคชั่นสั่งอาหารไปยังที่พัก (Food Delivery) ทำให้ธุรกรรมในตลาดเติบโตเร่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงเป็นที่สนใจของผู้ให้บริการแพลตฟอร์มสั่งอาหารเพื่อจัดส่งไปยังที่พัก ทั้งต่างชาติและไทยเข้ามาทำตลาด ซึ่งมาจากทั้งในกลุ่มอุตสาหกรรมเดียวกันรวมถึงผู้เล่นจากนอกอุตสาหกรรมโดยเฉพาะเมื่อผู้ให้บริการรายใหม่ของไทยได้เข้ามาในตลาดนี้ ด้วยรูปแบบการทำธุรกิจใหม่ (Business Model) ที่ต่างจากเดิม อาทิ การไม่จัดเก็บค่าบริการต่างๆ จากร้านอาหาร (ปัจจุบันผู้ให้บริการมีการหักค่าบริการ ซึ่งขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและอัตราที่จะมีความแตกต่างกัน แต่อาจสูงถึงร้อยละ 35) เช่น การหักค่าบริการจากกำไรขั้นต้น (ค่า GP) และอื่นๆ ระยะเวลาการชำระเงินคืนกลับไปยังร้านอาหารที่รวดเร็ว รวมถึงการเพิ่มคุณสมบัติและระบบการทำงานของแอพพลิเคชั่นที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน หรือการออกแบบวิธีการทำงานของแอพพลิเคชั่นการจัดส่งที่ให้ร้านอาหารสามารถเปรียบเทียบราคาค่าส่งอาหารจากผู้ให้บริการส่งอาหารได้ เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารและผู้บริโภค

 

            ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่จะสร้างความตื่นตัวและส่งผลต่อธุรกิจจัดส่งอาหารในมิติต่างๆ ดังนี้

 

  • กระตุ้นให้ผู้เล่นรายเดิม[1]จัดโปรโมชั่นด้านราคาอย่างต่อเนื่องเพื่อรักษาฐานตลาดและความสามารถในการแข่งขันของผู้ให้บริการแพลตฟอร์ม หลังจากสถานการณ์ของไวรัสโควิด-19 ในประเทศดีขึ้น ร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการตามปกติ รวมถึงผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นและกลับไปใช้บริการนั่งรับประทานในร้านมากขึ้น ทำให้ปริมาณผู้ใช้บริการสั่งอาหารออนไลน์ชะลอลง และส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มจัดส่งอาหารไปยังที่พักยังคงต้องกระตุ้นตลาดอย่างหนักเพื่อรักษาฐานลูกค้าที่มีรวมถึงดึงดูดกลุ่มเป้าหมายใหม่ๆ ให้เข้ามาใช้งาน นอกจากนี้น่าจะมีการทำการตลาดร่วมกับพันธมิตรร้านค้ารายเดิมมากยิ่งขึ้น
  • แม้จะเพิ่มช่องทางการขายให้กับผู้ประกอบการร้านอาหาร ขณะเดียวกันทำให้การแข่งขันในธุรกิจร้านอาหารรุนแรงขึ้นรวมถึงสร้างข้อจำกัดให้กับผู้ประกอบการร้านอาหารในการทำตลาด ถึงแม้ว่าการเข้ามาของผู้ให้บริการรายใหม่ส่งผลดีต่อผู้ประกอบการร้านอาหาร เนื่องจากมีช่องทางการขายเพิ่มขึ้นและสามารถเลือกใช้บริการในแพลตฟอร์มที่เหมาะสมกับโครงสร้างต้นทุนของผู้ประกอบการ แต่ในอีกด้านหนึ่งส่งผลทำให้เกิดการแข่งขันระหว่างผู้ประกอบการร้านอาหารที่รุนแรง และสร้างความท้าทายให้กับผู้ประกอบการธุรกิจร้านอาหาร อาทิ การปรับขึ้นราคาสินค้าที่อาจจะมีข้อจำกัด เนื่องจากลูกค้าสามารถเปรียบเทียบราคาสินค้าอาหารภายในแอพพลิคชั่นได้ อีกทั้งผู้ประกอบการต้องระมัดระวังในเรื่องคุณภาพและบริการ จากการที่แพลตฟอร์มของผู้ให้บริการสั่งออนไลน์บางรายจะมีการให้บริการคอมเมนท์ของผู้บริโภค หรือการวัดคุณภาพของผู้ประกอบการร้านอาหาร

[1] ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มออนไลน์จัดส่งอาหารไปยังที่พัก 4 รายหลัก

  • การปรับโมเดลรูปแบบธุรกิจเพื่อสร้างความสมดุลและประโยชน์ของผู้ที่อยู่ในห่วงโซ่ธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พัก เมื่อผู้ให้บริการรายใหม่เข้ามาด้วยรูปแบบของธุรกิจที่ต้องการแก้จุดอ่อนของตลาด ส่งผลทำให้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มรายเดิมคงจะมีการปรับกลยุทธ์ เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเข้ามา อาทิ เงื่อนไขบางประการเพื่อให้เหมาะสมกับพาร์ทเนอร์แต่ละกลุ่ม อย่างการปรับรูปแบบการคิดค่าบริการจากร้านอาหารและผู้ให้บริการรับจ้างส่งอาหาร รวมถึงการจัดสรรทรัพยากรที่ไม่ได้ถูกใช้งานเข้ามาสนับสนุนธุรกิจจัดส่งอาหารไปยังที่พักในบางพื้นที่ที่ได้รับความนิยมสูง หรือการปรับสวัสดิการสำหรับผู้ขับขี่ให้เหมาะสมมากขึ้น เพื่อให้เกิดความสมดุลกับทุกฝ่ายและรักษาจำนวนพาร์ทเนอร์ของแพลตฟอร์ม รวมถึงการจัดสร้างครัวกลาง (Cloud Kitchen) ที่คาดว่าจะเข้ามาช่วยลดข้อจำกัดในการสั่งอาหารข้ามพื้นที่
  • การยกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอพพลิเคชั่นของผู้เล่นรายเดิม เข้าสู่ Super Application ด้วยการให้บริการครอบคลุมไปยังกิจกรรมด้านอื่นๆ ของผู้บริโภค เพื่อสร้างรายได้ระยะยาว  โดยคาดว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์ออนไลน์รายเดิมจะมีการเร่งพัฒนายกระดับคุณสมบัติการใช้งานของแอพพลิเคชั่นให้ครอบคลุมไปยังกิจกรรมในชีวิตประจำวันด้านอื่นๆ ของผู้บริโภคหรือมีลักษณะเป็น One-Stop Application เพื่อเพิ่มโอกาสการสร้างรายได้ เนื่องจากธุรกิจการให้บริการจัดส่งอาหารไปยังที่พักต้องใช้งบประมาณสูงในการกระตุ้นตลาดด้วยการใช้กลยุทธ์ด้านราคาเข้ามาทำตลาด และส่งผลกระทบให้กำไรสุทธิจากการทำธุรกิจดังกล่าวติดลบ กอปรกับ การระดมเงินทุนเพิ่มเติมจากภายนอกองค์กร อาจทำได้ยากอย่างยิ่งในภาวะที่เศรษฐกิจโลกมีความเปราะบางเช่นนี้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า ทิศทางธุรกิจการจัดส่งอาหารยังคงแข่งขันรุนแรง ผู้เล่นส่วนใหญ่ยังคงนำส่วนลดและโปรโมชั่นเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือที่สำคัญในการแข่งขันเพื่อแย่งชิงฐานลูกค้า กอปรกับแนวโน้มของผู้บริโภคที่ยังคงให้ความสำคัญกับส่วนลดที่ได้รับและความหลากหลายของร้านอาหารบนแพลตฟอร์ม แม้การเข้ามาของผู้เล่นรายใหม่สร้างความตื่นตัวให้กับตลาดด้วยรูปแบบการทำธุรกิจ (Business Model) ที่ต่างจากเดิม อาทิ การนำเสนอคุณสมบัติของแอพพลิเคชั่นที่ต่างจากผู้ให้บริการรายเดิม และที่สำคัญรูปแบบธุรกิจที่ไม่มีการจัดเก็บค่าบริการจากร้านอาหาร ซึ่งสร้างความท้าทายให้กับผู้บริการรายเดิมที่คงจะต้องมีการปรับรูปแบบธุรกิจเพื่อรักษาขีดความสามารถในการแข่งขัน แต่ด้วยความแข็งแกร่งของผู้ให้บริการรายเดิม ไม่ว่าจะเป็นเครือข่ายร้านอาหาร ผู้ให้บริการขนส่ง (Riders) ฐานลูกค้าที่หนาแน่น และการทำตลาดกระตุ้นการใช้งานที่เข้มข้นอย่างต่อเนื่องของผู้ให้บริการรายเดิม สร้างเงื่อนไขให้กับผู้ให้บริการรายใหม่ที่อาจจะต้องพิจารณากลยุทธ์ทางการตลาดมากขึ้น เนื่องจากการที่จะสร้างแรงดึงดูดเพื่อให้พาร์ทเนอร์ร้านอาหารและผู้บริโภคเข้ามาใช้บริการคงจะไม่ใช้เรื่องง่าย ส่งผลให้ส่วนแบ่งทางการตลาดระหว่างผู้เล่นเดิมและผู้เล่นใหม่ในช่วงที่เหลือของปี 2563 ต่อเนื่องจนถึงต้นปี 2564 อาจไม่ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ