'เราไม่ทิ้งกัน' เช็คข่าวปลอม 'เงินเยียวยา' โลกออนไลน์ ข่าวไหนจริง ข่าวไหนมั่ว!

'เราไม่ทิ้งกัน' เช็คข่าวปลอม 'เงินเยียวยา' โลกออนไลน์ ข่าวไหนจริง ข่าวไหนมั่ว!

"เราไม่ทิ้งกัน" ย้ำข่าวปลอม "เงินเยียวยา" รอบ 2 และมาตรการแจกเงินอื่นๆ ถูกหยิบขึ้นมาปั่นกระแสเต็มโซเชียล และโลกออนไลน์ เตือนใช้วิจารณญาณ เช็คแหล่งข้อมูล อย่าหลงเชื่อ!

มาตรการช่วยเหลือเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่อเนื่อง 3 เดือน ในโครงการ เราไม่ทิ้งกัน ผ่านการลงทะเบียนใน www.เราไม่ทิ้งกัน.com จ่ายเงินให้กับผู้ลงทะเบียนต่อเนื่อง 3 เดือน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท จนถึงตอนนี้ แม้ว่าโครงการจะปิดไปแล้วตั้งแต่วันที่ 29 พฤษภาคม 2563 เมนูในเว็บไซต์ยังเหลือ 2 เมนูให้ทำรายการคือ ตรวจสอบสถานะ และ สละสิทธิ

ที่ผ่านมา ระบบได้ดำเนินการจ่ายเงินเยียวยาต่อเนื่อง เดือนละ 5,000 บาท ตั้งแต่เดือนเมษายน ถึง มิถุนายน รวมเป็นเงิน 15,000 บาท ขณะเดียวกัน มาตรการก็ยังคงดำเนินการโอนเงินให้กับผู้ลงทะเบียนที่ผ่านการตรวจสอบสิทธิ แต่ประสบปัญหาโอนเงินไม่สำเร็จเพราะชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อที่ลงทะเบียนไว้ รวมทั้ง หามาตรการที่เหมาะสมให้กับ กลุ่มผู้ร้องเรียนเยียวยาทั้ง 2.2 ล้านราย

อย่างไรก็ตาม ช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีกระแสข่าวเกี่ยวกับมาตรากรเงินเยียวยา เราไม่ทิ้งกัน อยู่ตลอด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจ่ายเงิน 5,000 บาท นั้นจะได้ 3 เดือน หรือ 6 เดือน, เราไม่ทิ้งกันเปิดลงทะเบียน รอบ 2 หรือไม่ หรือ มีเงินเยียวยาจากโครงการอื่นๆ ที่มาบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 อีกบ้างไหม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

159678126610

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงโค้งสุดท้ายของมาตรการเมื่อเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ประเด็นเกี่ยวกับการต่ออายุมาตรการเยียวยา หรือการเปิดลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 ถูกพูดถึงอย่างกว้างขวาง และมีการพูดถึงอยู่ตลอดมาจนถึงปัจจุบัน

เบื้องต้น สำหรับการต่ออายุมาตรการนั้น ทางกระทรวงการคลังเคยออกมาให้รายละเอียดอย่างชัดเจนว่า จะไม่ได้มีการเปิดโครงการใหม่ หรือขยายเวลาโครงการตามที่ อุตตม สาวนายน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เคยออกมาพูดถึงเรื่องดังกล่าวตั้งแต่เมื่อวันที่ 26 พฤษภาคม 2563 แล้ว

สำหรับเหตุการณ์หลังจากนี้จะประเมินสถานการณ์ภาพรวม ซึ่งหากสถานการณ์ยังไม่ดีขึ้น ทางมาตรการอาจจะพิจารณาเพิ่มเติมลงทะเบียนเราไม่ทิ้งกันต่อไป โดยขอให้ติดตามข่าวจากภาครัฐที่จะตามมาอย่างใกล้ชิด

แต่ถึงอย่างนั้น ก็ยังมีรายละเอียดเกี่ยวกับมาตรการจ่ายเงินเยียวยาที่ก่อให้เกิดความเข้าใจผิด หรือความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนถูกเผยแพร่ออกสู่สาธารณะอยู่เป็นระยะ โดยเฉพาะตามกลุ่มที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ติดตามสถานการณ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเงินเยียวยาในโครงการดังกล่าว

ที่ผ่านมา อย่างกลุ่มสาธารณะ ในโซเชียลมีเดีย ที่ชื่อ เราไม่ทิ้งกัน นอกจากจะมีลิงก์ข่าวสารเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของมาตรการแจกเงินเยียวยาต่างๆ ของรัฐแล้ว ยังกลายเป็นช่องทางการเผยแพร่ข้อมูล และโฆษณาเกี่ยวกับการจ่ายเงินในรูปแบบต่างๆ รวมทั้งข้อมูลที่คลาดเคลื่อน หรือสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับมาตรการอีกด้วย

ขณะที่ กลุ่มสาธารณะ www.เราไม่ทิ้งกัน.com สร้างขึ้นเพื่อแบ่งปันข้อมูล โครงการเยียวยาผู้ที่ได้ผลกระทบจากปัญหาเชื้อไวรัส COVID-19 ซึ่งมีสมาชิกเกือบ 6 แสนราย ช่วงหลังๆ นอกจากข่าวมาตรการ เรื่องที่อยู่ในความสนใจของสังคมทั่วไปแล้ว ก็ยังมีโพสต์ข้อความ และแชร์ลิงก์ข่าวที่สร้างความเข้าใจผิด หรือคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับการแจกเงิน หรือกระทั่ง คำค้นบนกูเกิ้ลก็ยังปรากฏว่ามีคลิปวิดีโอ หรือลิงก์ข่าวที่คลาดเคลื่อนไปจากความเป็นจริงอยู่

159678118356

โดยเรื่องดังกล่าว เพจ Anti-Fake News Center Thailand หรือ ศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม ประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความเตือนถึง กรณี ข่าวปลอม ศบค. แจ้งเพิ่มเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่ออีก 1 เดือน โดยเนื้อหาระบุว่า

ข่าวปลอม อย่าแชร์! ศบค. แจ้งเพิ่มเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่ออีก 1 เดือน
.
ตามที่ได้มีข่าวปรากฎในสื่อออนไลน์ต่างๆ ถึงประเด็นเรื่อง ศบค. แจ้งเพิ่มเงินเยียวยา 5,000 บาท ต่ออีก 1 เดือน ทางศูนย์ต่อต้านข่าวปลอมได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงโดย ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) พบว่าข้อมูลที่ปรากฏดังกล่าว เป็นข้อมูลเท็จ
.
จากกรณีข้อความที่การกล่าวถึงศบค. ว่าได้ออกมาแจ้งเรื่องมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ที่มีการต่ออีก 1 เดือนนั้น ทางศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 หรือ ศบค. ได้ออกมาชี้แจงว่าไม่เป็นความจริง เนื่องจากทางศบค. ไม่เคยกล่าวว่ามีการต่อมาตรการเยียวยาอีก 1 เดือน ตามที่กล่าวอ้าง
.
อีกทั้งปัจจุบันมาตรการเราไม่ทิ้งกัน หรือมาตรการเยียวยา 5,000 บาท เป็นระยะเวลา 3 เดือนนั้น ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาถึงเรื่องการต่อมาตรการเยียวยาออกไปอีก 1 เดือน
.
สำหรับกลุ่มผู้ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการฯ แต่ยังไม่ได้รับเงินเยียวยาเนื่องจากประสบปัญหาโอนเงินไม่สำเร็จเพราะชื่อบัญชีไม่ตรงกับชื่อ และนามสกุลที่ลงทะเบียนไว้ กระทรวงการคลังยังดำเนินการโอนเงินให้แก่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ โดยขอให้ผู้ได้รับสิทธิ์ไปดำเนินการผูกบัญชีพร้อมเพย์ด้วยเลขบัตรประจำตัวประชาชน ซึ่งจะมีการโอนเงินให้ผู้ได้รับสิทธิ์ต่อไป (ข้อมูล ณ วันที่ 3 สิงหาคม 2563)
.
ดังนั้นขอให้ประชาชนอย่าหลงเชื่อข้อมูลดังกล่าว และขอความร่วมมือไม่ส่ง หรือแชร์ข้อมูลดังกล่าวต่อในช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ เพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) สามารถติดตามข้อมูลได้ที่เฟซบุ๊ก ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) หรือโทร GCC1111
.
บทสรุปของเรื่องนี้คือ : ศบค. ไม่เคยกล่าวว่ามีการต่อมาตรการเยียวยาอีก 1 เดือน ซึ่งปัจจุบันมาตรการเยียวยา 5,000 บาท ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และขณะนี้ยังไม่มีการพิจารณาถึงเรื่องการต่อมาตรการเยียวยาออกไปอีก 1 เดือน
.
หน่วยงานที่ตรวจสอบ : ศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.)

159678121830

ก่อนหน้านี้ ด้าน สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือ สศศ. ได้ออกมาชี้แจงถึงกรณี การเผยแพร่ข้อความเรื่องรัฐฯ เปิดลงทะเบียนเงินเยียวยาเราไม่ทิ้งกัน รอบ 2 เริ่มสิงหาคมนี้ เป็นการบิดเบือนข้อเท็จจริง และทำให้เกิดความเข้าใจผิด เนื่องจาก มาตรการเราไม่ทิ้งกัน ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ทำให้ข้อมูลที่มีการโพสต์ และแชร์ต่อในขณะนี้ เป็นข้อมูลบิดเบือน ขอความร่วมมือประชาชน ไม่แชร์ ไม่ส่งต่อข่าวดังกล่าว เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น และเพื่อให้ประชาชนได้รับข้อมูลข่าวสารจากสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง หรือ โทร. 0 2273 9020

159678130388

สำหรับใครที่ต้องการทราบว่า เงินเยียวยา ของตนเองนั้นอยู่ในสถานะไหน สามารถเข้าไปตรวจสอบสถานะจากเราไม่ทิ้งกันได้ที่ เมนูตรวจสอบสถานะ
วิธีใช้งาน เมนูตรวจสอบสถานะ นั้นมีขั้นตอน คือ

1.เข้าไปยังเว็บไซต์ www.เราไม่ทิ้งกัน.com

2. กดเมนู ตรวจสอบสถานะ หรือ คลิกที่นี่

3. กรอกข้อมูลผู้ลงทะเบียน หมายเลขบัตรประจำตัวประชาชน 13 หลัก, หมายเลขโทรศัพท์ที่ใช้ลงทะเบียน และวัน-เดือน-ปีเกิด (หรือไม่ทราบ วัน เดือนเกิด)

4. กด ตรวจสอบสถานะ ก็จะทราบผลการดำเนินการว่าในขณะนี้ผู้ลงทะเบียนได้รับสิทธิ หรือ ขั้นตอนการโอนเงินดำเนินการถึงไหนแล้ว มีปัญหาติดขัดหรือไม่ อย่างไร