เซ็นทรัลปรับแผนทุกเดือน! บูม ‘เมกะเซล’ ปลุกกำลังซื้อ
แม้การแพร่ระบาดของโควิดในประเทศไทยจะปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่สถานการณ์ยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ 100% ขณะที่ โควิดเอฟเฟกต์ ทำให้ความคล่องตัวในการใช้จ่ายของประชาชนลดลง จากภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว ปัญหาการว่างงานเพิ่มสูงขึ้น กระทบต่อการทำตลาดและสร้างยอดขาย
นิโคโล กาลันเต้ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ ซีอาร์ซี กล่าวว่า ปี 2563 นับเป็นปีที่สาหัสสำหรับประชาชนชาวไทยและภาคธุรกิจโดยเฉพาะอุตสาหกรรมท่องเที่ยว และค้าปลีก แม้ภาพรวมขณะนี้สถานการณ์โควิดจะไต่ระดับดีขึ้น แต่การขับเคลื่อนธุรกิจยังไม่กลับมาเป็นปกติเทียบก่อนเกิดวิกฤติ ยิ่งในทำเลเมืองท่องเที่ยว อาทิ ภูเก็ต พัทยา ฟื้นตัวได้ช้ามาก
วิกฤติโควิด กำลังซื้อและเศรษฐกิจซบเซา ความไม่มั่นคงทางรายได้ของผู้บริโภค และความผันผวนของสถานการณ์ต่างๆ ล้วนเป็นตัวแปรและปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง! ในการขับเคลื่อนธุรกิจที่เรียกว่ามีการ “ปรับแผนทุกเดือน” ให้สอดคล้องกับสถานการณ์
โดยแผนการลงทุนต้องเป็นไปอย่างระมัดระวัง เน้นใช้เงินกับโอกาสและเพิ่มศักยภาพ เช่น การลงทุนในเทคโนโลยี เพื่อต่อยอดธุรกิจและเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน
ขณะที่ธุรกิจเซ็นทรัลกรุ๊ปในไทยและอิตาลีโดยภาพรวมการลงทุนค่อนข้างชะลอตัว แต่ “เวียดนาม” ยังมุ่งขยายตลาดในอัตราเร่ง!
อย่างไรก็ดี การดำเนินมาตรการกระตุ้นกำลังซื้อต่างๆ จากภาครัฐขณะนี้ เชื่อว่า จะทำให้เกิดการกระจายเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจ สอดรับภาคธุรกิจมุ่งเดินหน้ากิจกรรมการตลาดและส่งเสริมการขายเชิงรุกอย่างต่อเนื่อง เพื่อปลุกกำลังซื้อ
อย่างไรก็ตาม ช่วงปีที่ผ่านมาถือเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญของการก้าวเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซ การใช้จ่ายช่องทางออนไลน์พุ่งขึ้นอย่างรวดเร็วและทั่วถึงในกลุ่มลูกค้าทุกเจนเนอเรชั่น
“6 เดือนที่ผ่านมา ผู้บริโภคหันมาช้อปออนไลน์อย่างถล่มทลาย ทำให้มียอดการเข้าซื้อสินค้าทางเว็บไซต์อีคอมเมิร์ชในเครือเซ็นทรัลรีเทล เติบโตทุกกลุ่มสินค้าแบบก้าวกระโดดถึง 350% ในไตรมาสที่ 2 เทียบช่วงเดียวกันของปีก่อน"
จุดแข็งแพลตฟอร์มดิจิทัลที่หลากหลายช่องทางของเซ็นทรัลรีเทลทำให้ยอดขายออนไลน์เติบโตทั้งกลุ่มสินค้าของใช้จำเป็น อุปกรณ์กีฬา เครื่องสำอาง, สินค้าแฟชั่น, ของตกแต่งบ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า ซึ่งจะเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นกำลังซื้อและปลุกบรรยากาศการใช้จ่ายในตลาดค้าปลีกให้มีความคึกคักในช่วง 4 เดือนสุดท้ายไฮซีซันประจำปี!
ทั้งนี้ ทุกธุรกิจในอาณาจักรเซ็นทรัล ตั้งแต่ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, ซูเปอร์สปอร์ต, เพาเวอร์บาย, ซีเอ็มจี, ไทวัสดุ, บ้านแอนด์บียอนด์, บีทูเอส, ศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนาทั้ง 33 สาขาทั่วประเทศ, เซ็นทารา, เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป, ดอลฟิน วอลเล็ท, เดอะวัน (The1) และบัตรเครดิตเซ็นทรัลเดอะวัน จัดบิ๊กแคมเปญลดราคาส่งท้ายปี เซ็นทรัล รีเทล ดับเบิ้ล เมกา เซล (Central Retail Double Mega Sale) ตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. เป็นส่วนหนึ่งของการฟื้นฟูเศรษฐกิจโค้งสุดท้ายด้วยกลยุทธ์ราคาคุ้มค่าสอดรับพฤติกรรมระมัดระวังการใช้จ่าย
คิกออฟที่เดือน ก.ย.ด้วยแคมเปญ Central Retail 9.9 Double Mega Sale # ลดไม่เลือกหน้าทั้งหน้าร้านและหน้าเว็บลดสูงสุด 90% ระดมสินค้ากว่า “1 ล้านรายการ” จากร้านค้ามากกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ เชื่อมต่อประสบการณ์ชอปปิงให้ลูกค้าได้คุ้มค่าแบบ “ดับเบิ้ล” เช่น ใช้ส่วนลดจากใบเสร็จหน้าร้านไปใช้ลดต่อที่หน้าเว็บไซต์ สั่งซื้อด้วยบริการ Click & Collect (คลิกสั่งซื้อหน้าเว็บ แล้วไปรับที่หน้าร้าน) จะได้รับคูปองส่วนลดเพิ่ม “คูณสอง”
การชอปปิงแบบไร้รอยต่อของลูกค้าด้วย Dual Platform คาดว่าจะสร้างเงินสะพัดในกลุ่มธุรกิจหรือช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของครัวเรือนไทยตีเป็นมูลค่ารวมกว่า 2,000 ล้านบาท
แคมเปญนี้ ได้ ป๊อก-ภัสสรกรณ์ และ มาร์กี้-ราศรี บาเล็นซิเอก้า จิราธิวัฒน์ เป็นแอมบาสเดอร์ สะท้อนภาพตัวแทนครอบครัวรุ่นใหม่ ซึ่งมองหาแพลตฟอร์มการซื้อสินค้าที่หลากหลาย สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ยุคปัจจุบันที่ต้องการความสะดวก รวดเร็ว และเชื่อถือได้ ไม่ว่าจะเลือกซื้อสินค้าที่ร้านค้าหรือช้อปผ่านออนไลน์
แคมเปญใหญ่สร้างสีสันบนแพลตฟอร์มออนไลน์ด้วยบิ๊กโปรโมชั่นในแต่ละเดือน “9.9-10.10-11.11-12.12” เรียกว่าปะทะกับบรรดาอีคอมเมิร์ซยักษ์ที่ยึดวันดับเบิ้ลเหล่านี้ลดกระหน่ำดึงลูกค้า! กันทุกราย โดยเซ็นทรัลรีเทล มองว่า แม้ออนไลน์จะเป็นจุดแข็งและสร้างความได้เปรียบในห้วงสถานการณ์นี้ก็ตาม แต่ยังมีจุดอ่อนที่ลูกค้าอยากได้สินค้าในทันที หรือลูกค้าอาจได้รับสินค้าผิดสี ผิดไซส์
“การซื้อสินค้าออนไลน์ยังมีข้อจำกัด ที่เซ็นทรัลรีเทล ได้ใช้จุดแข็งของหน้าร้านผสานออนไลน์มารวมกันสร้างความได้เปรียบในการเข้าถึงลูกค้าด้วยแพลตฟอร์มออมนิแชนแนล ซื้อได้ทุกที่ทุกเวลา”
เซ็นทรัล รีเทล เรือธงด้านค้าปลีก เป็นรากฐานของกลุ่มเซ็นทรัล ณ สิ้นปี 2562 มีเครือข่ายร้านค้าภายใต้แบรนด์ค้าปลีกที่สำคัญกว่า 3,833 ร้านค้า ครอบคลุม 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย มีห้างร้านค้าปลีก รวม 1,934 แห่ง ใน 51 จังหวัด และธุรกิจค้าปลีกในอิตาลี และเวียดนาม รวม 141 แห่ง