นายกฯฟื้นแลนด์บริดจ์ โปรเจคใหม่ต่อยอด“อีอีซี”

นายกฯฟื้นแลนด์บริดจ์  โปรเจคใหม่ต่อยอด“อีอีซี”

นายกฯ สั่งฟื้นโครงการแลนด์บริดจ์ภาคใต้ สั่งทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องศึกษา ระบุเป็นเครื่องยนต์เศรษฐกิจตัวใหม่เชื่อมอันดามัน-อ่าวไทย หลัง “อีอีซี” เดินหน้าตามแผน ชี้อีก 5 ปีต้องมีโครงการใหญ่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจต่อเนื่อง

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิขของประเทศไทยมาก เพราะเศรษฐกิจของเราพึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวมาก ดังนั้นเราต้องมีการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจใหม่และพัฒนาให้เกิดการลงทุนใหม่ในประเทศ

รวมทั้งพัฒนาโครงการขนาดใหญ่ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างผลักดัน เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) แต่ในอนาคตเราก็ต้องหาโครงการขนาดใหญ่ในการที่จะลงทุนตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

ทั้งนี้ นโยบายอีอีซีใช้เวลาในการลงทุนและก่อสร้างโครงการต่างๆ ซึ่งก็เริ่ม 5 ปีแล้ว ซึ่งในอีกระยะหนึ่งเมื่อโครงการอีอีซีสำเร็จก็ต้องหาโครงการใหม่ เช่น โครงการสะพานเศรษฐกิจภาคใต้ (แลนด์บริดจ์) ที่จะเชื่อมระหว่างทะเลภาคตะวันตกและภาคตะวันออก ระหว่างทะเลอันดามันกับอ่าวไทยในพื้นที่ภาคใต้ โครงการนี้กำลังพิจารณาว่าควรจะมีหรือไม่ ก็ให้ไปศึกษาความเหมาะสมและความเป็นไปได้

“ทุกอย่างใช้เวลาในการก่อสร้างอีอีซีเริ่มมาห้าปีแล้ว ก็ไปได้ระยะหนึ่ง ก็ต้องหาโครงการใหม่เรากำลังดูว่าจะเชื่อมตะวันตกตะวันออกได้อย่างไร ควรจะมีไหมเรื่องของแลนด์บริดจ์กำลังให้แนวทางไปศึกษากันอยู่ ผมคิดว่าก็จะช่วยเศรษฐกิจในระยะยาวได้ในต่อไป การขนส่งข้ามตะวันตกและตะวันออก อ่าวไทยกับอันดามัน ท่าเรือต่างๆ ต้องพัฒนาทั้งหมด อยู่ในยุทธศาสตร์ชาติต้องเดินต่อไป ขั้นตอนการศึกษา ขั้นตอนการลงทุน เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจในระยะยาวได้” พล.อ.ประยุทธ์กล่าว 

159957080757

นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้สั่งการใน ครม.ว่าให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาในเรื่องโครงการขนาดใหญ่ที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งให้ดำเนินการลักษณะเดียวกับโครงการเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในพื้นที่ต่างๆ 

ทั้งนี้ ต้องคิดแผนรองรับทั้งหมดเพื่อเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาล ซึ่งต้องดูในส่วนของพื้นที่เศรษฐกิจภาคใต้ก็ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาให้ครบทุกด้านทั้งในเรื่องของการพัฒนาท่าเรือ โลจิสติกส์และระบบรางที่จะเชื่อมโยงทั้งฝั่งตะวันออกและตะวันตก หรือโครงการที่เป็นโครงการลงทุนขนาดใหญ่อื่นให้ไปศึกษาแล้วนำกลับมารายงานให้นายกรัฐมนตรีรับทราบอีกครั้ง 

รายงานข่าวระบุว่า โครงการแลนด์บริดจ์ภาคใต้ของไทยเป็นโครงการที่มีการผลักดันมาหลายรัฐบาล โดยความคืบหน้าล่าสุด นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมได้ผลักดันโครงการแลนด์บริดจ์ โดยได้งบประมาณในการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการ ซึ่งแยกเป็น 3 ส่วน คือ 1.การพัฒนาท่าเรือนำลึก 2 ฝั่งทะเลอ่าวไทยและทะเลอันดามัน โดยพัมนาท่าเรือน้ำลึกระนอง และพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพร

2.การพัฒนาทางหลวงและมอเตอร์เวย์เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร 3.การพัฒนารถไฟทางคู่สายใหม่เชื่อมระหว่าง จ.ระนอง และ จ.ชุมพร ระยะทาง 120 กิโลเมตร โดยกระทรวงคมนาคมได้รับงบประมาณในการศึกษาแล้ว โดยมีการคาดหวังว่าโครงการนี้จะทำให้เกิดการพัฒนาเศรษฐกิจต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจโลจิสติกส์ และธุรกิจต่อเนื่องอีกมากมาย 

ก่อนหน้านี้ นายศักดิ์สยาม ระบุว่า การขนส่งทางเรือระหว่างประเทศมีเส้นทางจากจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ผ่านตอนใต้ของเวียดนาม จากนั้นเดินทางขนส่งผ่านช่องแคบมะละกาไปเอเชียใต้ ตะวันออกกลาง แอฟริกา และยุโรป โดยหากใช้เส้นทางตอนใต้ของเวียดนามเป็นตัวตั้งจะมีเส้นทางขนส่งทางเรือตัดตรงเข้ามา จ.ชุมพร ของไทย ซึ่งการพัฒนาแลนด์บริดจ์เชื่อม จ.ชุมพร ไปยัง จ.ระนอง เพื่อขนส่งสินค้าออกไปทางทะเลอันดามันจะลดระยะเวลาขนส่งได้ 2 วันครึ่ง

ในขณะที่แนวทางการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกชุมพรและท่าเรือน้ำลึกระนองจะพัฒนาเป็นสมาร์ทพอร์ต โดยจะมีการนำระบบออโตเมชันมาใช้ในการบริหารจัดการท่าเรือ ซึ่งจะทำให้ท่าเรือมีศักยภาพในการรองรับการขนส่งสินค้าได้มาก

ส่วนโครงการแลนบริดจ์ที่เคยสำรวจไว้ตั้งแต่สมัยรัฐบาลทักษิณ ชินวัตร คาดว่าจะใช้การลงทุน 1.5 ล้านล้านบาท โดยจะเป็นการเชื่อมทะเลทั้ง 2 ฝั่งเข้า ด้วยกันด้วยเส้นทางรถไฟ ถนนมอเตอร์เวย์ ท่อส่งน้ำมัน และท่อก๊าซ โดยพื้นที่ที่จะดำเนินการก่อสร้างท่อส่งน้ำมันเชื่อมต่อในฝั่งอันดามัน คือ พื้นที่ใกล้กับท่าเรือปากบารา จ.สตูล ส่วนฝั่งอ่าวไทยอยู่ที่บริเวณ ต.นาทับ อ.จะนะ จ.สงขลา 

รวมทั้งมีการก่อสร้างเส้นทางเชื่อมต่อพื้นที่อื่นและมีพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ นิคมอุตสาหกรรมเพื่อรองรับอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมปิโตรเคมี โรงกลั่นน้ำมัน เหล็ก จะอยู่ในฝั่งอ่าวไทย ส่วนอุตสาหกรรมเบาอาจอยู่ฝั่งอันดามัน ซึ่งการพัฒนาระบบขนส่ง ทั้งทางถนน ทางรถไฟ และทางท่อ ซึ่งจะมีการลงทุนอุตสาหกรรมต่อเนื่องปีละ 3,000-4,000 ล้านบาท 

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 20 พ.ค.2551 ครม.เคยเห็นชอบในหลักการให้กระทรวงคมนาคมลงนามในบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) ความร่วมมือเบื้องต้นกับ กลุ่มดูไบเวิลด์ ซึ่งเป็นนิติบุคคลของรัฐบาลสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี) เพื่อสนับสนุนค่าใช้จ่ายแบบให้เปล่าแก่รัฐบาลไทยในการศึกษาโครงการแลนด์บริดจ์เชื่อมโยงระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยและฝั่งทะเลอันดามัน

รายละเอียดเอ็มโอยูดังกล่าว ดูไบเวิลด์ จะคัดเลือกที่ปรึกษาจากต่างประเทศที่จะเข้ามาทำงานร่วมกับที่ปรึกษาที่ทางการไทยคัดเลือก โดยคาดว่าจะสามารถสรุปผลการศึกษาภายใน 1 ปีหลังจากลงนามเอ็มโอยู โดยพิจารณาแนวเส้นทางเดิม คือ ท่าเรือปากบารา จ.สตูล มาที่ท่าเรือน้ำลึก จ.สงขลา และ ท่าเรือทับละมุ จ.พังงา-อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช หรือ จ.กระบี่-อ.ขนอม จ.นครศรีธรรมราช