'การเหยียด' ในสังคม กระทบ 'เศรษฐกิจ' อย่างไร?
"การเหยียด" ที่ฝังรากในสังคม ทั้งการ "เหยียดวัย" "เหยียดเพศ" "เหยียดผิว" ฯลฯ ไม่ได้ทำให้แย่แค่ความรู้สึก แต่ยังส่งผลกระทบ "เศรษฐกิจ" ของประเทศแบบปฏิเสธไม่ได้ และทุกคนอาจเคยมีส่วนร่วมกับความเจ็บปวดเหล่านี้
"การเหยียด" หรือการพูดที่ดูแคลน ดูถูก ที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจ กลายเป็นความขุ่นเคือง คับแค้น เลือกปฏิบัติ สามารถกลายเป็นชนวนของสารพัดปัญหา นอกจากมิติทางสังคมแล้ว การเหยียดที่แทรกอยู่ในชนชั้นยังแทรกซึมไปเป็นผลกระทบทาง "เศรษฐกิจ" ให้ไม่สามารถขับเคลื่อนได้เท่าที่ควรจะเป็น หรือบางครั้งถึงขั้นหยุดชะงักเพราะความขัดแยกที่มีจุดเริ่มต้นมาจากการเหยียดทั้งหลายเหล่านี้
- การเหยียด
การเหยียด แทรกซึมอยู่ในทุกสังคม และเป็นปัญหาที่แก้ไม่ตก และมีเงื่อนของปัญหาที่ในรายละเอียด แตกต่างกันออกไปต่างพื้นที่ ต่างบริบท โดยในประเทศไทย เอง มีการเหยียดเกิดในสังคมมานาน และเกิดขึ้นให้เห็นไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไร
อาทิ การเหยียดผิว ที่บางครั้งมักจะซ่อนมากับความขบขัน เช่น ประโยคเจ็บๆ ที่มีการเหยียดเป็นส่วนประกอบแบบไม่รู้ตัว อย่าง "กาคาบพริก" ที่เปรียบเทียบคนที่มีผิวเข้มที่สวมเสื้อผ้าสีแดงสด ที่ทำให้ผู้ฟังเสียความมั่นใจการในการแต่งกาย
"เด็กปากไม่สิ้นกลิ่นน้ำนม" มีความหมายตามราชบัณฑิตยสถานว่า "ยังเป็นเด็ก" ซึ่งหากได้ยินจากปากคนที่อาวุโสกว่า กล่าวเป็นนัยว่าคนที่อายุน้อยกว่าว่ามีประสบการณ์ที่น้อย ไม่รู้อะไร เหมือนยังเป็นเด็ก ทำนองเดียวกับวลีคุ้นหูอย่าง "มนุษย์ป้า" ที่คนอายุน้อยกว่าเรียกคนที่อายุมากกว่าในเชิงลบ เช่น ใช้กล่าวถึงคนที่มีพฤติกรรมที่มองว่าไม่เหมาะสม เช่น แซงคิว ด่าทอคนอื่นในที่สาธารณะ ฯลฯ
หรือแม้แต่การ เหยียดเพศ ที่กลุ่ม LGBT ต้องเผชิญกับคำเสียดสี หรือคำเหยียดต่างๆ นานา เนื่องจากมุมมองเดิมของสังคมไทยเคยมองว่า การมีรสนิยมทางเพศที่ไม่ตรงกับเพศสภาพเป็นเรื่องของคนที่มี "ความผิดปกติทางจิต" ซึ่งนำไปสู่การถูกลดโอกาสแสดงความสามารถในการทำงาน เพราะถูกกรอบเหล่านี้ครอบเอาไว้
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมา ยังมีทั้งการเหยียดการศึกษา เหยียดอาชีพ รสนิยม ชาติกำเนิด การแต่งกาย ฯลฯ ซึ่งกลายเป็นปมที่ซ่อนอยู่เบื้องลึกของคนในสังคม ซึ่งตุ่มปมเหล่านี้จะขมวดแน่นขึ้น และเพิ่มมากขึ้น ตราบใดที่แนวความคิดในการเหยียดยังไม่หมดไป ความเสียหายที่มากกว่าแค่ความรู้สึกแย่ๆ จากคำพูดจะเพิ่มพูนและส่งผลเชิงลบในมิติทางเศรษฐกิจแบบที่คาดไม่ถึง
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวมผลกระทบจากการเหยียด และการเลือกปฏิบัติ ที่มีส่วนเกี่ยวกับข้องกับเศรษฐกิจที่เห็นอย่างชัดเจน ไว้ได้อย่างน้อย 4 ประการ ดังนี้
- องค์กรสูญเสียงบประมาณ และบุคลากรที่มีคุณภาพ
การเหยียด เป็นสิ่งที่สะท้อนว่าในสังคมนั้นๆ มองมนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน ซึ่งแนวคิดเหล่านี้จะนำไปสู่การเลือกปฏิบัติ ที่ส่งผลต่อการแสดงศักยภาพของบุคคลได้ โดยงานวิจัยของ Americanprogress เดือนมีนาคม 2555 ระบุว่า การเลือกปฏิบัติมีราคาที่ต้องจ่าย เช่น การเลือกปฏิบัติในสถานที่ทำงานในสหรัฐอเมริกา ประเมินว่ามีค่าใช้จ่ายประมาณ 64,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี เนื่องจากมีการสูญเสียและทดแทนคนงานชาวอเมริกันมากกว่า 2 ล้านคนที่ต้องออกจากงานในแต่ละปีเนื่องจากความไม่ยุติธรรมและการเลือกปฏิบัติ
การเลือกปฏิบัติในการจ้างงานสามารถเกิดขึ้นได้โดยอาศัยลักษณะเฉพาะที่แยกออกจากการปฏิบัติงานของพนักงานโดยสิ้นเชิง ซึ่งที่มาของการเลือกปฏิบัติ เกิดขึ้นได้ทั้งจากเชื้อชาติ สีผิว ชาติพันธุ์ เพศ อายุ ความพิการ ชาติกำเนิด ศาสนา สถานะทหารผ่านศึก หรือสถานะการตั้งครรภ์ นอกจากนี้การเลือกปฏิบัติอาจเกิดขึ้นได้จากข้อมูลทางพันธุกรรมของพนักงาน เช่น การเลือกที่จะไม่จ้างเนื่องจากครอบครัวของเขามีประวัติเป็นมะเร็งเต้านม เป็นต้น
- ผู้ถูกเหยียดเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจได้ยาก
ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา ประเทศไทยมีเส้นกั้นแบ่งสถานะทางสังคมที่ไม่เป็นทางการที่กีดกันให้คนที่ “ไม่เข้าพวก” ถูกปัดตกจากโอกาสต่างๆ ในชีวิตที่ควรจะได้รับ แม้การเหยียดจะเป็นแค่ส่วนหนึ่งของปัญหานี้ แต่เมื่อประชาชนทุกคนไม่สามารถเข้าถึงโอกาสทางสังคมและเศรษฐกิจได้อย่างเท่าเทียมกัน โอกาสในการแสดงศักยภาพที่มีอยู่ก็ลดลง และแน่นอนว่าสถานะทางเศรษฐกิจของบุคคลนั้นๆ จะได้รับผลกระทบ เช่น มีโอกาสประสบความสำเร็จทางการเงินต่ำกว่า และกลายเป็นปัญหาความยากจนที่หยั่งรากในสังคมที่ยากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจมหภาค กลายเป็นสังคมรวยกระจุก จนกระจาย
- ปัญหาสุขภาพทั้งร่างกายและจิตใจ
ผู้ถูกเหยียด มีแนวโน้มเผชิญปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งหากสะสมไปเรื่อยๆ จะส่งผลต่อสุขภาพกาย ซึ่งพบว่าในสังคมที่การเหยียดสูง โดยเฉพาะการเหยียดเชื้อชาติหรือสีผิว ผู้ถูกเหยียดมักเข้าถึงบริการสาธารณสุขได้ลำบาก ก่อปัญหาสุขภาพ ย้อนมาทำให้ผู้ถูกเหยียดในวัยแรงงานทำงานได้ไม่เต็มประสิทธิภาพ
ยิ่งไปกว่านั้นการเหยียดที่ส่งผลกระทบต่อจิตใจอย่างหนักยังนำไปสู่ "การฆ่าตัวตาย" โดยผลการศึกษาที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัยมิชิแกน (UM) จากการทำแบบสํารวจชีวิตชาวอเมริกันแห่งชาติ (National Survey of American Life) จํานวน 1,271 คน เมื่อเดือน ต.ค. 62 พบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามให้ข้อมูลถึงเหตุผลสําคัญที่ส่งผลให้พวกเขาต้องเผชิญกับความคิดที่จริงจังเกี่ยวกับการจบชีวิตตนเองเนื่องจากการถูกปฏิบัติเพราะเชื้อชาติ เพศ อายุ ชาติพันธุ์ และขนาดร่างกายของพวกเขา
และแน่นอนว่าเมื่อความเจ็บป่วยทั้งทางร่างกาย จิตใจ จนกระทั่งความคิดฆ่าตัวตายเกิดขึ้น จะทำให้สูญเสียแรงงานที่มีคุณภาพ ที่เป็นกำลังในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปโดยปริยาย
- การหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ
การเหยียดสามารถนำไปการหยุดชะงักทางเศรษฐกิจได้ เมื่อความขุ่นเคืองสั่งสมหนักจนปะทุออกมาในรูปแบบการนัดหยุดงาน การประท้วง การก่อจลาจล เช่น เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเมื่อเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ชาวอเมริกันออกชุมนุมประท้วงใหญ่ทั่วประเทศเพื่อต่อต้านการเหยียดเชื้อชาติและการใช้ความรุนแรง หลัง จอร์จ ฟลอยด์ ชายอเมริกันเชื้อสายแอฟริกัน เสียชีวิตขณะถูกตำรวจจับกุมอย่างรุนแรง ซึ่งหลายฝ่ายมองว่าเรื่องนี้เกิดขึ้นจากการถูกเลือกปฏิบัติจากตำรวจผิวขาวภายใต้ความรู้สึกเหยียดผิวและเชื้อชาติ ที่ฝังรากลึกอยู่เดิมในสังคมอเมริกัน
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงตัวอย่างของผลกระทบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในสังคมที่มีการเหยียดเท่านั้น เมื่อมองในมิติทางสังคม สิ่งที่เกิดขึ้นมีแต่ความเจ็บปวด ผู้ที่ถูกเหยียดได้รับผลกระทบอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ทำให้ชีวิตของคนคนหนึ่งอาจต้องเปลี่ยนไปตลอดกาล และตราบใดชุดความคิดที่ว่ามนุษย์ไม่เท่าเทียมกัน มีผู้ที่เหนือกว่าและต่ำกว่าอยู่เสมอ สิ่งเหล่านี้ย่อมเกิดขึ้นไม่จบสิ้น และจะสร้างผลกระทบต่อไปเรื่อยๆ จากรุ่นสู่รุ่น
ไม่ว่าจะเหยียดเชื้อชาติ สีผิว วัย ความคิด ความเชื่อ ศาสนา เพศ ฯลฯ ที่นำมาสู่ความเหลื่อมล้ำ ล้วนคิดเป็นต้นทุนทางเศรษฐกิจจำนวนมหาศาล ที่ไม่สามารถหาสิ่งใดมาทดแทนได้ เมื่อความเจ็บปวดยังบาดความรู้สึกของคนกลุ่มในสังคมอยู่ และมีการเลือกปฏิบัติต่อไป เศรษฐกิจเองก็ปฏิเสธความเสียหายและความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ไม่ได้เช่นกัน
ที่มา: xinhuathai the people americanprogress bangkokbiznews