'TechFin' แพลตฟอร์มปฏิวัติวงการธนาคาร

'TechFin' แพลตฟอร์มปฏิวัติวงการธนาคาร

ทำความรู้จักแพลตฟอร์มที่เข้ามาปฏิวัติวงการธนาคาร "TechFin" คืออะไร? มีความแตกต่างจาก FinTech อย่างไรบ้าง? รวมถึง TechFin จะแทนเข้าที่ธนาคารได้หรือไม่?

TechFin ไม่ใช่ FinTech” อย่างที่เราทราบกันดีว่า FinTech หมายถึงการนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้หรือสนับสนุนการให้บริการทางการเงิน อย่างไรก็ดี ไม่กี่ปีที่ผ่านมา TechFin ถือเป็นรูปแบบการให้บริการทางการเงินแบบใหม่ที่น่าจับตามอง

TechFin คืออะไร บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ต้องการขยายบริการให้ครอบคลุมบริการทางการเงินบนแพลตฟอร์ม อย่างเช่น Facebook, Amazon, Apple, Grab, Alibaba และ Tencent ที่เดิมทีไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการทำธุรกิจเกี่ยวกับการเงินเป็นหลัก แต่เป็นแพลตฟอร์มที่ให้บริการ Social media หรือ e-marketplace มาก่อน

  • ความแตกต่างระหว่าง FinTech กับ TechFin

FinTech มีวัตถุประสงค์ในการปรับใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่ เพื่อช่วยผู้บริโภคให้เข้าถึงบริการการเงินในแบบที่สะดวกรวดเร็วขึ้น ซึ่งมีผลต่อการปรับเปลี่ยนรูปแบบของ Traditional Banks ในอดีต ซึ่งผู้เล่นใน FinTech Sector มีทั้งผู้ให้บริการที่เป็น Bank และ Non-Bank 

อย่างไรก็ดี TechFin มีลักษณะของการให้บริการแบบ “รวมศูนย์อยู่บนแพลตฟอร์ม” จากผู้ให้บริการแพลตฟอร์มที่อาจไม่ได้เป็นทั้ง Bank และ Non-Bank แต่ด้วยแพลตฟอร์มที่ตนมีอยู่ทำให้มีข้อมูลของผู้ใช้บริการจำนวนมาก ผ่านกิจกรรมที่หลากหลายในโลกออกไลน์ ซึ่งมากพอที่จะทำธุรกิจทางการเงินได้ไม่ยากนัก

  • TechFin การเงินแบบรวมศูนย์  

ที่ว่า “รวมศูนย์” ผู้เขียนหมายถึง Inclusive Financial platform ซึ่งตั้งใจจะชี้ให้เห็นว่าผู้ให้บริการแพลตฟอร์มในรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น e-Marketplace, Taxi Apps หรือ Social Networks ในท้ายที่สุดวัตถุประสงค์หลักคือต้องการเป็นวันสต็อปแพลตฟอร์มทั้งสิ้น 

ยกตัวอย่าง Grab ที่เริ่มต้นจากการเป็นแอพที่ให้บริการด้านการขนส่งผู้โดยสาร ต่อมาพัฒนาไปสู่การทำธุรกิจโลจิสติกส์และบริการต่างๆ อีกมากมาย รวมไปถึงการให้บริการ e-Wallet ที่เชื่อมโยงกับธนาคารทั่วโลก และการสร้างความร่วมมือในรูปแบบ JV กับกลุ่มธุรกิจทางการเงิน เช่น Grab ทำ JV กับ ZhongAn เพื่อทำ Digital Insurance Marketplace และทำ JV กับ Credit Saison เพื่อปล่อยสินเชื่อรายย่อย

  • Ant Group ตัวอย่าง TechFin เจ้าใหญ่ของโลก

Ant เริ่มต้นจากการเป็น Payment service บนแพลตฟอร์มของ Alibaba ได้ให้บริการทางการเงินที่หลากหลาย เช่น ธุรกิจชำระเงิน (Alipay) ธุรกิจบริหารจัดการหลักทรัพย์ (Yu’e Bao) ธุรกิจสินเชื่อ (Huabei) ธุรกิจประกันภัย (Xiang Hu Bao) ปัจจุบัน Ant จึงมีผู้ใช้งานมากกว่าพันล้านบัญชี และหากรวมมูลค่าการทำธุรกรรมการชำระเงินมากกว่า paypal ราว 25 เท่า

ในเชิงธุรกิจ ข้อมูลของผู้บริโภคในการใช้บริการทางการเงินบนแอพต่างๆ ของ Ant ถือเป็น Valuable Resource หรือทรัพยากรอันมีค่าที่สร้างจุดแข็งให้กับธุรกิจ ซึ่ง Ant ได้นำข้อมูลทั้งหมดที่เก็บได้จากแพลตฟอร์มไปสร้างเป็นธุรกิจ Credit rating service ในนาม Sesame Credit ซึ่งเป็นแอพที่สามารถคำนวณ Credit Scoring ให้กับลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสามารถตอบโจทย์ให้กับ Huabei ผู้ให้บริการเงินกู้ผ่าน Alipay ได้อย่างแม่นยำ

ความเติบโตที่เล่ามาในข้างต้นเป็นที่มาของการที่ Ant เตรียมตัวเปิดขาย IPO ที่ฮ่องกงในอีกไม่กี่อาทิตย์ข้างหน้าในมูลค่าที่สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ (30,000 ล้านดอลลาร์) เป็นการตอกย้ำความสำคัญของ “ข้อมูล” ที่เป็นทรัพยากรที่มีค่า แซงหน้า “น้ำมัน” ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็น Valuable Resource ในอดีต และนี่คือตัวอย่าง TechFin ที่เติบโตมากที่สุดในเวลานี้

  • อนาคตของ TechFin

การเกิดขึ้นของ TechFin เป็นสิ่งที่น่าสนใจและกำลังจะเปลี่ยนแปลงรูปแบบการให้บริการทางการเงินมากกว่าการใช้เทคโนโลยี เพื่อช่วยการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่าง FinTech ผู้เขียนขอตั้งประเด็นชวนคิด ดังนี้

ประเด็นแรก Privacy แลกกับ Financial Services กล่าวคือในเมื่อจุดแข็งของธุรกิจ TechFin คือข้อมูลที่หลากหลาย เมื่อเราเข้าใช้บริการแพลตฟอร์มเหล่านั้น ข้อมูลการใช้บริการจะถูกจดบันทึกไว้เพื่อประมวลผลในอนาคต หากประวัติการใช้ไม่ดี ผลที่ตามมาคืออุปสรรคในการเข้าถึงบริการทางการเงินอย่างหนึ่งได้ 

จึงเท่ากับว่าผู้บริโภคในยุคนี้ถูกเก็บข้อมูลในเชิงพฤติกรรมในแบบที่อาจไม่รู้ตัวจากการเข้าใช้บริการออนไลน์ในรูปแบบต่างๆ และแม้กฎหมายข้อมูลส่วนบุคคลทั่วโลกกำลังเริ่มต้นพัฒนาเพื่อคุ้มครองสิทธิของผู้บริโภค แต่การให้ความรู้ทางการเงิน (Financial Literacy) ในยุค digital finance ก็สำคัญไม่แพ้กัน

ประเด็นที่สอง TechFin จะแทนที่ธนาคารได้หรือไม่? สำหรับผู้เขียนมองว่ามีหลายปัจจัย ปัจจัยแรก ผู้เขียนเชื่อว่า Traditional Banks ต้องปรับตัว เทรนด์ที่เราจะได้เห็นต่อไปในอนาคต คือการให้บริการทางการเงินที่หลากหลายของกลุ่มธุรกิจการเงิน เช่น แพลตฟอร์ม Yandex ผู้ให้บริการ Web-search ในรัสเซีย มีโครงการที่เข้าซื้อธุรกิจ digital bank และ SherBank ได้รีแบรนด์โดยตัดคำว่า Bank ออก เพื่อเพิ่มการให้บริการส่งอาหาร และให้บริการ Telemedicine 

ดังนั้น สิ่งที่จะเกิดขึ้นในอนาคตที่ธนาคารไม่อาจเลี่ยงได้คือ “การแข่งขันสูง ดอกเบี้ยต่ำ” ซึ่งจะมีผลต่อ Lending margin และการความเสี่ยงที่ “การชำระเงิน และการบริการต่างๆ ที่ไม่ใช่ core tasks” จะมีผู้เล่นในตลาดเพิ่มมากขึ้น

ปัจจัยที่สอง ธุรกรรมบน TechFin เน้นตอบโจทย์การให้บริการลูกค้าบุคคลมากกว่าองค์กร เนื่องจากแพลตฟอร์มส่วนใหญ่ในปัจจุบันเก็บพฤติกรรมผู้บริโภคออนไลน์ ซึ่งเป็นบุคคลธรรมดามากกว่าองค์กร ดังนั้น จะเห็นได้ว่า แพลตฟอร์มจึงเน้นให้บริการ Microfinance เป็นหลัก

ปัจจัยที่สาม คือ TechFin จะเติบโตได้มากแค่ไหน ส่วนหนึ่งขึ้นอยู่กับหน่วยงานกำกับดูแล กล่าวคือการประกอบธุรกิจทางการเงินในรูปแบบต่างๆ เป็นกิจการที่ต้องได้รับอนุญาตจากทางการ ดังนั้น จึงขึ้นอยู่กับ Regulator เป็นสำคัญว่าจะกำกับดูแลอย่างไร จะปล่อยให้มีการแข่งขัน หรือจะตั้ง barrier ไว้ ย่อมเป็นไปตามความเหมาะสมของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศ

ท้ายที่สุดผู้เขียนเชื่อว่าหน่วยงานกำกับดูแลและกฎหมายที่เกี่ยวข้องจะเป็นกลไกที่สำคัญที่สุดในการเลือกจุดสมดุลที่เหมาะสมของธุรกิจ TechFin และ Traditional Banks ในอนาคต

(บทความนี้เป็นความเห็นส่วนตัวของผู้เขียน)