วายดีเอ็ม เน้นผูกพันธมิตร พลิกกระบวนท่า หนีโฆษณาดิจิทัลติดลบ!
ปัญหาเศรษฐกิจ เรื่องของปากท้องเป็นสิ่งที่ประชาชนกังวลกันมาก ยิ่งโควิด-19 ทุบธุรกิจเสียหาย รายได้ลด ต้องลด เลิกจ้างพนักงาน กระเทือน “อำนาจซื้อ” ผู้บริโภค เมื่อไม่มีเงินจับจ่ายใช้สอย “ยอดขาย” หดตัว สุดท้ายแบรนด์แตะเบรกชะลอใช้จ่ายเงินโฆษณา
นีลเส็น รายงานการใช้จ่ายเงินผ่านสื่อโฆษณาเดือนก.ย.หดตัว 10% รวม 9 เดือน ตลาดยังติดลบ 16% ขณะที่สื่อโฆษณาดิจิทัลปีนี้ เดิมทีเป็นความหวังจะเติบโต แต่ธุรกิจพังทั้งกระดาน จึงเห็นการปรับประมาณการโต 0.5% ทว่าเดือนกันยายน ตัวเลขอยู่ใน Red Zone ติดลบ 4%
“ทั้งปีอุตสาหกรรมโฆษณาดิจิทัลคาดว่าจะติดลบ ซึ่งถือเป็นสถานการณ์แย่สุดของโฆษณาดิจิทัลในรอบ 10 ปี เพราะตัวเลขเราไม่เคยติดลบมาก่อน ทั้งที่เราอยู่ในเซ็กชั่นที่ดีสุดของอุตสาหกรรมโฆษณา” ธนพล ทรัพย์สมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท วายดีเอ็ม (ไทยแลนด์) จำกัด คาดคะเนตลาด พร้อมให้เห็นผลว่าแบรนด์สินค้าและบริการทุกหมวดหมู่ “ชะลอ” ใช้จ่ายเงินโฆษณาตั้งแต่ไวรัสร้ายระบาด
ส่วนไตรมาส 4 ที่คาดว่าจะฟื้นตัว ก็ยังไม่เห็นสัญญาณ โดยเฉพาะความต้องการ(Demand)ของผู้บริโภค ทั้งกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ยานยนต์ อสังหาริมทรัพย์ และไตรมาส 4 จะยิ่งเห็นสถานการณ์ความเป็นจริงของตลาดที่หดตัว จากไตรมาส 2-3 ค่อนข้างทรงตัว จากดีมานด์การซื้อสินค้าตุนไว้มหาศาลเป็นตัวหลอก
ทั้งนี้ โอกาสไม่ได้หายไปทั้งหมด เพราะตลาดพรีเมี่ยม หรือจับกลุ่มเป้าหมายผู้บริโภคมั่งคั่งกำลังซื้อสูงยังคงมี ทำให้บรรดาสินค้าความงามระดับลักชัวรี่และมีอาวุธการตลาดดิจิทัลพร้อม ยังทำเงินได้ ส่วนอีกกลุ่มที่กำลังซื้อน้อย สินค้าราคาต่ำมากๆก็เป็นอีกทางเลือก
เศรษฐกิจ โควิดที่ว่าแย่ โค้งสุดท้ายปี 63 ผู้ประกอบการต้องเผชิญปัจจัยการชุมนุมทางการเมือง ทำให้บางเซ็กเมนต์อาจได้รับผลกระทบ ซึ่งต้องเจาะลึกเป็นหมวดๆไป
ท่ามกลางความเปราะบางรอบด้าน จะทำการตลาดดิจิทัลอย่างไรให้สร้างยอดขาย จังหวะนี้ ธนพล ขอปรับกระบวนท่า เน้นกลยุทธ์ความร่วมมือ(Collaboration)กับพันธมิตรเพื่อรอดแพ็คคู่(Win-Win strategy) ดึง “จุดแข็ง” ของกันและกัน เพื่อสร้างสรรค์โมเดลธุรกิจใหม่ๆ ซึ่งที่ผ่านมา วายดีเอ็มฯ ผนึกทั้ง “เอ็มคอต”หรือช่อง 9 อสมท ลุยทีวีโฮมชอปปิง ร่วมกับไร้ท์แมน ลุยงานอีเวนท์ออนไลน์ “เวอร์ชวล โซลูชั่น” เล็งจับมือกับ “แกรมมี่” ผุดโปรเจคใหม่ หารายได้
“เรามองหาพันธมิตรเคลื่อนธุรกิจ ตอนนี้คนไม่มีเงินแต่เรามีแรง นำแรงที่มีมาช่วยกันทำงาน อะไรที่เคยเป็นต้นทุนเปลี่ยนมาร่วมมือกันหารายได้แบ่งกัน(Revenue sharing) ซึ่งกลยุทธ์นี้นำไปใช้ได้กับหลายธุรกิจ ไม่แค่สื่อโฆษณาดิจิทัล”
การหาโมเดลธุรกิจใหม่ ยังเป็นการหารายได้เข้ามาสม่ำเสมอ สร้างการเติบโตระยะยาวด้วย เทียบกับงานการตลาดดิจิทัลเหมือน “หนูถีบจักร” โปรเจคจบต้องหาใหม่เสริมทัพ การปรับตัวครั้งนี้จึงหวังธุรกิจใหม่ทำรายได้เกิน 50% จากปัจจุบันราว 10%
“เป็นการมองการณ์ไกล เพราะรายได้ธุรกิจใหม่ที่มี 10% ไม่สามารถช่วยให้เรารอดปีนี้ได้”
ส่วนการทำตลาดดิจิทัลโค้งสุดท้าย ลูกค้าทุกรายได้ล้วนโฟกัสผลลัพธ์ด้านยอดขาย ทำให้ทุกหมวดสินค้าเน้นโปรโมชั่น ลด แลก แจก แถม เพื่อปั๊มยอด ที่สำคัญยังเป็นการ “ระบายสต๊อก” แลกกับ “กระแสเงินสด” ไว้
“บางธุรกิจจำเป็นต้องมีกระแสเงินสดมากๆ ช่วงนี้โปรโมชั่นจึงเป็นสิ่งจำเป็น อีกทั้งสต๊อกสินค้าไว้มีแต่จมเงิน สู้อัดโปรโมชั่นตัดขายสินค้า ตุนเงินสดไว้ดีกว่า เพราะหากเราไม่ตัดขายสินค้า คู่แข่งตัดราคาขาย เราก็ตายเหมือนกัน ตอนนี้คิดกลยุทธ์การตลาดท่าปกติไม่ได้”
สถานการณ์ตลาดโฆษณาแย่ทั้งอุตสาหกรรม ทำให้ภาพรวมรายได้บริษัทปีนี้ “หดตัว” อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จากปีก่อนปิดรายได้ราว 500 ล้านบาท แต่ในแง่ความสามารถทำ “กำไร” ยังดีจากการปรับตัวตลอดเวลา
“ตอนต้นปีเราเปิดตัวมาสวย เติบโตหลายเท่าตัว เดิมคิดว่าจะเป็นปีทอง จนโควิด-19 ระบาด ทุกอย่างเปลี่ยนหมด ปีนี้ไม่ขาดทุนก็ถือว่าพอใจแล้ว”