นโยบายการเงิน 'ธปท.' ไม่เป็นอุปสรรคต่อเศรษฐกิจฟื้น
เปิดมุมมอง "เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ" ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยคนใหม่ กับภาพรวมเศรษฐกิจไทยในภาวะวิกฤติโควิด-19 ทั้งภาคการท่องเที่ยวและการส่งออก รวมถึงแนวทางนโยบายการเงินพยุงเศรษฐกิจไทย
“แนวทางจะเป็นการพยุงไม่ใช่กระตุ้น เพราะการอัดให้เต็มหลุมนั้นยาก จึงเป็นเรื่องของการประคับประคอง” เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย
ก่อนเข้ารับตำแหน่งผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คนที่ 21 อย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ 1 ต.ค.2563 เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ใช่ว่าจะเป็นคนนอกเสียทีเดียว เพราะก่อนหน้านี้ เศรษฐพุฒิ เป็น 1 ใน 7 เสียงที่ให้น้ำหนักกับนโยบายการเงินและเศรษฐกิจของประเทศไทย จากบทบาทของหนึ่งเสียงในคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) มาร่วม 6 ปี ที่ทำให้เขามีความคุ้นเคยกับผู้บริหารระดับสูงของธนาคารกลางแห่งนี้เป็นอย่างดี ซึ่งจะมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายการเงินให้เป็นไปทิศทางเดียวกัน
“ผมถือว่าเป็นกึ่งคนนอก กึ่งคนในมาระยะหนึ่ง แต่เมื่อเข้ามานั่งเต็มตัว ก็จะเห็นว่า ภาพของธนาคารแห่งประเทศไทยไม่ต่างกัน เพราะผมขลุกกับคนนอกมาระดับหนึ่ง รู้ถึงสภาพปัญหาของเศรษฐกิจอย่างดี” เศรษฐพุฒิ ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่ง
เศรษฐพุฒิ ยอมรับว่าปัญหาเศรษฐกิจไทยก่อนเข้ามารับตำแหน่งหนักหนาสาหัส และต่างกับวิกฤติต้มยำกุ้งในปี 2540 อย่างมาก ซึ่งวิกฤติครั้งนั้นเกิดกับธนาคารแห่งประเทศไทยโดยตรง ส่งผลกระทบต่อกลุ่มรายใหญ่ คนร่ำรวย เงินทุนสำรองระหว่างประเทศหมด อัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาท มีปัญหาจากการถูกโจมตีค่าเงิน แต่วิกฤติโควิด-19 ผลกระทบจะกระจายเป็นวงกว้างและกระทบไปถึงระดับฐานราก ซึ่งเป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศ
“เหตุผลที่ผมเข้ามาตรงนี้ ก็เพราะรู้สึกว่า ปัญหามันรุนแรง คิดว่าน่าจะช่วยได้ ซึ่งก็มีบทเรียนระดับหนึ่งจากช่วงวิกฤติปี 40 แต่ปัญหาต่างกันเยอะ ดังนั้นวิธีการจัดการก็ต้องต่างกันด้วย"
วิกฤติปี 2540 เป็นปัญหาของธนาคารพาณิชย์ขาดเสถียรภาพและความมั่นคง จึงไม่สามารถใช้กลไกของธนาคารแก้ปัญหาได้ แต่วิกฤติโควิด-19 ภาพแตกต่างกัน ธนาคารมีเสถียรภาพมาก ทุนสำรองต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) สูงถึง 19 เท่า สูงเป็นอันดับ 3 ในภูมิภาค จึงสามารถใช้กลไกธนาคารพาณิชย์ในการแก้ไขปัญหาได้
- ท่องเที่ยวอาการหนัก-กระทบกว้าง
ผู้ว่าการ ธปท. กล่าวว่า ช่วงที่เกิดวิกฤติโควิด-19 ใหม่ ประเมินว่าปัญหารุนแรงและจะจบลงในระยะสั้น การแก้ปัญหาของรัฐบาลที่ใช้ทั้งมาตรการการเงินและการคลัง จึงจัดเต็มแบบเหมาเข่งและปูพรม ไม่ว่าจะเป็นการแจกเงิน หรือการพักชำระหนี้ แต่ถึงวันนี้ได้รับรู้แล้วว่า วิกฤติรุนแรงและลากยาว ดังนั้นการแก้ไขปัญหาก็จะไม่ใช่การปูพรม
“เมื่อพ้นวันที่ 22 ตุลาคม 2563 ที่มาตรการพักชำระหนี้เป็นการทั่วไปหมดลง เราให้ธนาคารพาณิชย์ ซึ่งเป็นคนใกล้ชิดลูกค้า เป็นคนพิจารณาเองว่า ลูกค้ารายใดสมควรที่จะยืดอายุหนี้ออกไปอีก หรือรายใดสมควรที่จะปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพราะหากประกาศเป็นมาตรการทั่วไป ผลข้างเคียงจะเยอะกว่า จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาแบบเหมาเข่งได้”
ขณะนี้ผลกระทบหนักที่สุดคือภาคการท่องเที่ยว สะท้อนจากจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไปจากปีก่อนที่มี 40 ล้านคน ขณะนี้ชัดเจนว่าทั้งปีนักท่องเที่ยวต่างชาติจะเหลือไม่ถึง 8 ล้านคน หายไป 1 ใน 5 หรือลดลงถึง 80% ขณะที่รายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติคิดเป็น 11-12% ของจีดีพี หากลดลง 80% ของสัดส่วน 11-12% หรือ จะทำให้จีดีพีของประเทศหายไปถึง 9.6% ถือว่าเป็นขนาดของหลุมที่หายใหญ่มาก
- ส่งออกฟื้น แต่ช่วยได้น้อย
ดังนั้นหากจะต้องถมหลุมที่ใหญ่นี้ให้กลับมาเท่าเดิมได้ เราต้องเบ่งรายได้จากการท่องเที่ยวขึ้นอีกมาก เพราะรายได้จากการท่องเที่ยวปีก่อนอยู่ที่ 3 ล้านล้านบาท โดยมาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ 2 ล้านล้านบาท ซึ่งปีนี้หายไป 80% และนักท่องเที่ยวไทย 1 ล้านล้านบาท และถ้าหวังจะมาเบ่งรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยก็คงทำได้ยาก ในภาวะที่รายได้ครัวเรือนลดลง จากปัญหาการว่างงานที่มากขึ้น
ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติ 40 ล้านคน เข้ามาอยู่ไทยเฉลี่ย 9 วัน ใช้จ่ายประมาณ 50,000 บาทต่อทริป หากจะต้องทดแทนกับ 80% ที่ลดลง จะต้องเบ่งแค่ไหนให้กลับมาเท่าเดิมได้ จะให้อยู่ไทยเพิ่มจาก 9 วัน เป็น 20 วัน หรือค่าใช้จ่ายต้องเพิ่มขึ้น 2 เท่า คือ 2 แสนบาทต่อทริป จึงจะกลับไปเท่าเดิมได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ยาก ขณะที่โอเวอร์ซัพพลายท่องเที่ยวในระบบยังมีมหาศาล ยังมีเรื่องจ้างงาน ทั้งโรงแรม ร้านอาหารและค้าปลีก
ภาคการท่องเที่ยวจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย เนื่องจากมีสัดส่วนการจ้างงานถึง 20% ของการจ้างงานไทย ขณะที่การส่งออกแม้ว่าจะฟื้นตัว แต่หากประเมินจาก 3 อุตสาหกรรมหลักในการส่งออกคือ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งมีมูลค่า 50% ของการส่งออกรวม ยังมีการจ้างงานไม่ถึง 4% ของการจ้างงานทั้งหมด ดังนั้นกว่าที่จะทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวกลับมาในระดับเดียวกับก่อนที่จะเกิดโควิด-19 ต้องใช้เวลาถึง 2 ปี หรือในปี 2565
- นโยบายการเงินมุ่งพยุงจีดีพี
ดังนั้นการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารแห่งประเทศไทย จะต้องไม่เป็นอุปสรรคต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แนวทางการดำเนินงานจะเป็นการพยุงไม่ใช่กระตุ้น เพราะการจะอัดให้เต็มหลุมนั้นยาก จึงเป็นการประคับประคอง นโยบายของรัฐคือ ดูแลให้คนจับจ่ายใช้สอยได้ จึงอาจเป็นเหตุผลที่รัฐบาลเก็บวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาทไว้ เพื่อตุนกระสุนไว้ในอนาคต เพราะยังมีความไม่แน่นอนอยู่มาก ที่ช่วยได้คือการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อลดภาระรายย่อย และผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ให้พอไปได้ในภาวะที่รายได้ลดลง
“มาตรการที่จะออกมาจากนี้ ต้องเปลี่ยนจากเดิมที่เป็นปูพรม มาเป็นตรงจุด แยกแยะระหว่างคนที่ถูกกระทบ และต้องมีความยืดหยุ่น เพราะว่าสถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง จึงต้องออกมาตรการที่ยืดหยุ่น และต้องครบวงจร ต้องมองข้างหน้า ระยะ 2 ปี เพราะการแก้ปัญหาใช้เวลานาน และเครื่องมือที่จะรองรับ 2 ปีหน้ามีอะไรบ้าง โจทย์ไม่ใช่แค่การพักชำระหนี้ แต่หลังจากนั้นต้องทำอย่างไรให้กระบวนการปรับโครงสร้างดี และต้องดูว่าเมื่อปรับโครงสร้างหนี้ ท้ายที่สุดจะต้องมีหนี้เสีย เราจะจัดการกับส่วนนี้อย่างไร”