ถอดรหัส “ภูริต ภิรมย์ภักดี” เคลื่อน“บุญรอดเทรดดิ้ง”ฝ่าโควิด
ปี 2563 ไม่ว่าธุรกิจ “เล็ก” หรือ “ใหญ่” ต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทั้งสิ้น แต่ความรุนแรง เสียหายที่เผชิญแตกต่างกันไปตามหมวดอุตสาหกรรม การพึ่งพาตลาดเป้าหมาย
เมื่อธุรกิจแขวนอยู่บนเส้นด้าย “รอด” หรือ “ร่วง” ทำให้การปรับกระบวนท่า หาหมากรบใหม่ถูกนำมาใช้เพื่อก้าวพ้นวิกฤติกันมากมาย “บุญรอดบริวเวอรี่” หรือ “สิงห์” อาณาจักรเครื่องดื่มรายใหญ่ของเมืองไทย และขยายสู่ธุรกิจใหม่ๆเพิ่มเสาหลักองค์กร เช่น อสังหาริมทรัพย์ มีโรงแรม ที่อยู่อาศัย ออฟฟิศ, ผลิตบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว กระจกฯ ใช้ห้วงเวลาดังกล่าว “พัฒนาองค์กร” รอจังหวะตลาดฟื้นตัวอีกครั้ง
“วิกฤติโควิด เป็นตัวแปรที่เราต้องไม่ยอมแพ้ เชื่อว่าหลายคนได้รับผลกระทบ แต่เวลานี้ต้องสู่ต่อไป สร้างพันธมิตร เพื่อมาช่วยให้เราและเขาแข็งแรง” ภูริต ภิรมย์ภักดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บุญรอดเทรดดิ้ง จำกัด แชร์วิธีคิดการทำงาน
บุญรอดบริวเวอรี่ เป็นองค์กรธุรกิจเก่าแก่เข้าสู่วัย 87 ปี สิ่งสำคัญและทำตลอดคือการพัฒนาองค์กรอยู่เสมอเพื่อให้เติบโตในทิศทางที่กำหนดไว้ ขณะที่ “บุญรอดเทรดดิ้ง” ซึ่ง “ภูริต” เป็นแม่ทัพ มีภารกิจใหญ่และท้าทายคือการขยายพอร์ตโฟลิโอสินค้าและรายได้ของกลุ่ม “สินค้าไม่มีแอลกอฮอล์” ให้เติบโตมากขึ้น
กลยุทธ์สานเป้าหมายดังกล่าว วิจัยและพัฒนาสินค้า ลงทุนสร้างโรงงานใหม่อาจล่าช้า อีกทั้ง หากความต้องการตลาด(Demand)น้อยไป จนมีกำลังการผลิตเพียง 15-20% ย่อมไม่คุ้มที่จะลงทุน ทำให้บริษัทมองหา “โอกาส” ในการร่วมทุน ผนึกพันธมิตร ตลอดจนการ “ซื้อกิจการ” เข้ามาเสริมทัพ
ตลอด 2-3 ปีที่ผ่านมา การบริษัทลงทุนและได้ธุรกิจใหม่มาเกือบ 10 รายการ ที่เข้าตาล้วนเป็นธุรกิจที่ทำตลาดในต่างประเทศ ส่วนที่เล็งไว้เพิ่มยังมี และให้น้ำหนักกับสินค้าและบริการ รวมถึงแพลตฟอร์มที่บริษัทยังไม่มี เพื่อนำมาต่อยอดให้พอร์ตสินค้าบริษัทแข็งแกร่งขึ้น ยิ่งช่วงโควิดพังธุรกิจจำนวนมากล้มทั้งกระดาน มีผู้ประกอบการเสนอขายจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน โรงงานผลิตสินค้ามีบ้างแต่อัตราส่วนทางการเงิน(PE)ต้องไม่สูงเกินไป เพราะทำธุรกิจทั้งทีต้องมี “กำไร” คืนทุนได้ในระยะเวลาเหมาะสม
“2 ปีมานี้เราซื้อกิจการเกือบ 10 รายการ คุณสมบัติของธุรกิจที่ต้องการคือมีครบตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ เพราะบุญรอดฯ ไม่ได้ทำแค่เครื่องดื่ม เรามีบริษัทโฆษณา ทำอีเวนท์ จัดจำหน่าย ทำการตลาด โลจิสติกส์ ฯ ครบวงจรต้นถึงปลายน้ำ ดังนั้นอะไรที่ทำให้เรามีประสิทธิภาพเพิ่ม ต้นทุนดีขึ้น ต่อจิ๊กซอว์ภาพใหญ่ให้สมบูรณ์แบบ เราเปิดกว้างพร้อมเจรจา”
ทั้งนี้ การมีพอร์ตสินค้าที่หลากหลายขึ้น และหากมีความต้องการจนกำลังการผลิตแตะระดับ 50% บริษัทจะลงทุนสร้างโรงงานผลิตสินค้าแห่งใหม่ จากปัจจุบันโรงงานน้ำดื่ม 9 แห่ง กำลังการผลิตเต็ม ซึ่งล่าสุด บุญรอดฯ ปั้นสินค้าใหม่ “สิงห์ เลมอนโซดา” บุกตลาดน้ำอัดลม มองหาสินค้ากาแฟ การผลิตทั้ง 2 ส่วนลงทุนต่างกัน เครื่องผจักรลิตน้ำอัดลมใช้เงินราว 500 ล้านบาท หากผลิตกาแฟนแตะ 1,000 ล้านบาท เป็นต้น และยังมี “เพอร์ร่า วิตามิน วอเตอร์” แต่จ้างพันธมิตรผลิต
การมีสินค้าหลากหลายยังเพิ่ม “อำนาจต่อรอง” ในการค้าขายกับช่องทางจำหน่ายต่างๆ รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่งสินค้าให้ดีขึ้นด้วย ที่ผ่านมา สินค้าใหม่ที่เข้ามาเสริมพอร์ต มีทั้งคราฟท์เบียร์แบรนด์ “ชาละวัน” และการที่ “ภูริต” เป็นชาร์กในรายการ “ชาร์กแทงก์ ไทยแลนด์ ซีซั่น2” ยังได้ฟังโมเดลธุรกิจของผู้ประกอบการที่มาออกรายการ และได้เจรจาเป็นพันธมิตร 7-8 ราย แต่อาจปิดดีลได้ 3-4 ราย โดยการถือหุ้นไม่จำเป็นต้อง “ใหญ่” เพื่อให้การบริหารและจิตวิญญาณการทำธุรกิจเจ้าของเดิมยังอยู่ แต่บริษัทจะเสริมแกร่งเพื่อโตไปด้วยกัน
ปี 2563 บุญรอดฯ สร้างปรากฏการณ์ตลาดอย่างมาก น้ำดื่มสิงห์ส่งฉลากลายมิกกี้เมาส์ ปั้นสิงห์ เลมอนโซดอน บุกตลาดน้ำอัดลม โซดาสิงห์ผนึกมิสเตอร์การ์ตูน ออกลวดลายเท่ เพอร์ร่าลุยน้ำดื่มผสมวิตามิน ฯ ใน 2 สัปดาห์จะเขย่าตลาดอีกระลอก
“ปีนี้เราคุยกับทีมงาน เน้นออกสินค้าให้มากขึ้น Very aggressive” พร้อมกันนี้ได้ “โละ” สินค้าที่ไม่ทำ “กำไร” อย่าง“ยูเบียร์”ด้วยหลังแจ้งเกิด 3 ปี โดยได้หยุดผลิตมาตั้งแต่ต.ค.ที่ผ่านมา
เขายังเห็นว่า ธุรกิจจะ“เติบโต” ในปีนี้เป็นเรื่องยาก เช่นเดียวกันบุญรอดฯ ต้องมอง “กำไร” ทีหลัง นาทีนี้นอกจากลดงบลงทุนเพื่อประคองกิจการให้รอดและแกร่งรับปี 2564 ที่คาดว่าจะสาหัสกว่าปีนี้ งบประมาณบางส่วนยังช่วยภาคสังคม ตลอดจนคู่ค้าเพื่อรอดร่วมกัน
“ปีที่แล้วบุญรอดเทรดดิ้งปิดรายได้ราว 120,000 ล้านบาท ปีนี้ดูบรรทัดสุดท้าย(กำไร)ไม่มีใครดีหรอก แต่เราช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นบนวิกฤติได้ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคม บริจาคเงินให้โรงพยาบาล ช่วยร้านค้าที่มีศักยภาพให้อยู่ได้ เมื่อเพื่อนๆเราดี ทุกอย่างจะกลับมาหาเราเอง”