'สุพัฒนพงษ์' แย้มมีข่าวดีจีดีพีไตรมาส 3 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจฟื้นตัว
“สุพัฒนพงษ์” แย้มข่าวดีจีดีพีไตรมาส 3 มั่นใจไทยฟื้นตัวดีกว่าหลายประเทศในอาเซียน ย้ำไทยเดินหน้าแก้ปัญหาเศรษฐกิจถูกทาง สศช.มั่นใจเศรษฐกิจไทยผ่านจุดต่ำสุดแล้วในไตรมาสที่ 2 กางตัวชี้วัด 3 เดือน ก.ค. - ส.ค. พบดีขึ้นแทบทุกตัวชีิ้วัดยกเว้นภาคท่องเที่ยวรายไ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พลังงาน เปิดเผยว่าตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาส 3/2563 ที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) จะประกาศอย่างเป็นทางการในวันจันทร์ที่ 16 พ.ย.นี้ ซึ่งจะมีข่าวดีและตนเชื่อว่าถ้าเป็นไปในทิศทางที่ได้เห็นจากดัชนีตัวชี้วัดต่างๆก็จะเห็นว่าเราฟื้นตัวได้ดี และดีกว่าหลายประเทศในอาเซียนด้วย
ขณะที่ในรายงานขององค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ล่าสุดได้ปรับพยากรณ์เศรษฐกิจของประเทศไทยดีขึ้นซึ่งเป็นประเทศเดียวที่ได้มุมมองที่ดีขึ้น ส่วนประเทศอื่นๆ IMF ยังไม่ได้ปรับพยากรณ์ดีขึ้น
“ที่ผ่านมานักเศรษฐศาสตร์หลายคนเคยพูดว่าเราจะมีอัตราเติบโตน้อยที่สุดในอาเซียน แต่ผมคิดว่าไม่ใช่ ถึงสิ้นปีเดี๋ยวเรารอดูกัน แต่ตอนนี้พูดได้ว่าความร่วมมือและการแก้ปัญหาอย่างถูกจุด ตรงประเด็นตามกลุ่มทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้ดี”
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการ สศช.กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจของสศช.เป็นรายเดือนมั่นใจว่าเศรษฐกิจของไทยได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้วในช่วงไตรมาสที่ 2/2563 ที่ผ่านมาที่เศรษฐกิจไทยติดลบถึง 12.2% ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจไทยติดลบใกล้เคียงกับช่วงวิกฤตปี 2540 โดยในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัวแรงเป็นช่วงที่เราตัดสินใจล็อคดาวน์เศรษฐกิจในช่วงเดือน เม.ย. - มิ.ย. แต่หลังจากที่คล่อยๆคลายล็อกเศรษฐกิจก็ค่อยๆดีขึ้นเป็นลำดับซึ่งเห็นได้จากตัวชี้วัดต่างๆเช่น การลงทุนภาคเอกชนที่ในเดือนพ.ค. -18.3% ในเดือน มิ.ย. -10% ในเดือน ส.ค. - 4.6% ค่อยๆมีการติดลบลดลงเรื่่อยๆ
ขณะที่การใช้กำลังการผลิตฟื้นกลับขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 60% ในเดือน ส.ค.ซึ่งใกล้เคียงกับในปี 2562 ในช่วงก่อนที่จะมีการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่วนราคาสินค้าเกษตรก็เพิ่มขึ้นมากเมื่อรวมกับเม็ดเงินจากการกระตุ้นเศรษฐกิจและเงินกู้รัฐบาลออกมาตรการต่างๆช่วยเหลือในกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบทำให้ช่วยประคองเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาไว้ได้
แหล่งข่าวจากศูนย์บริหารสถานการณ์เศรษฐกิจจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 (ศบศ.) เปิดเผยว่า สศช.ได้รายงานข้อมูลเศรษฐกิจในส่วนชองตัวชี้วัดเศรษฐกิจต่างๆที่มีการติดตามผลกระทบและการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจากโควิด-19 เป็นรายเดือนให้ ศบศ.รับทราบโดยล่าสุดในการประชุม เดือน ต.ค.2563 ที่ผ่านมาตัวชี้วัดเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ที่น่าสนใจมีดังนี้
- -ดัชนีการอุปโภคและบริโภคภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจากเดือนเม.ย.ที่ระดับ - 14.5% เหลือ -4.5% ในเดือน มิ.ย. -0.1%ในเดือน ก.ค. และ -1.1%ในเดือน ส.ค.
- ดัชนีการลงทุนภาคเอกชน ปรับตัวดีขึ้นจาก-18.3%ในเดือน พ.ค. เป็น - 10.1% ในเดือนมิ.ย. และปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจนเหลือ -4.6% ในเดือน ส.ค.
- การส่งออก (ข้อมูลดุลชำระเงิน) ปรับตัวดีขึ้นจากเดือน พ.ค.และมิ.ย.ที่ - 23.6% และ - 24.6% เป็น -8.2% ในเดือน ส.ค.
- การเบิกจ่ายงบประมาณประจำปีในส่วนของงบลงทุนปรับเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนคือจากเดือน พ.ค.ที่-4.7% เพิ่มเป็น 26.2% ในเดือน มิ.ย.และเพิ่มเป็น 41% ในเดือน ส.ค.
- ดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นเล็กน้อยจากในเดือน พ.ค.ที่-0.8% เป็นขยายตัว 1.2% ในเดือน ส.ค.
- ดัชนีราคาสินค้าเกษตร ปรับตัวเพิ่มขึ้นจาก - 4.5% ในเดือน มิ.ย. ปรับเพิ่มเป็น 7.7% ในเดือน ส.ค.
- ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ปรับตัวดีขึ้นจากในเดือน พ.ค.ที่ -23.8% เป็น -9.3% ในเดือนส.ค.
- อัตราการใช้กำลังการผลิต ปรับเพิ่มขึ้นจากระดับ 51.3% ในเดือน เม.ย. เป็น 60.7% ในเดือน ส.ค.
- รายรับและจำนวนนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ยังติดลบ 100%ในช่วงไตรมาสที่ 2 โดยติดลบในระดับดังกล่าวต่อเนื่องมาจากเดือน เม.ย. ที่มีการปิดสนามบินและห้ามเที่ยวบิณพาณิชย์เข้าประเทศ
- อัตราการเข้าพัก ในไตรมาสที่2มีสัญญาณการฟื้นตัวโดยจากที่อยู่ระดับ 2.3% ในเดือน เม.ย.เป็น 26.9% ในเดือน ส.ค. เป็นต้น