หุ้นส่งออกไร้กระทบระยะสั้น โบรกมั่นใจกำไรปี 63 โตตามคาด

หุ้นส่งออกไร้กระทบระยะสั้น  โบรกมั่นใจกำไรปี 63 โตตามคาด

ความเคลื่อนไหวค่าเงินบาทกลับมาอยู่ในความสนใจอีกครั้งจากการที่ค่าเงินบาทแข็งค่าในช่วงเดือนพ.ย. มาอยู่ที่ 30.29 บาทต่อดอลลาร์   (18 พ.ย.)  จากก่อนหน้านี้ค่าเงินบาท 31บาทปลายๆ ค่อนจะไปที่ 32 บาท

จนทำให้ภาคธุรกิจมีความกังวลว่าหากให้ค่าเงินบาทแข็งค่าไปเรื่อยๆจะยิ่งซ้ำเติมธุรกิจในช่วงที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการส่งออกของไทยอาจจะเผชิญปัจจัยลบจากค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมาได้   สอดคล้องกับสภาอุตสาหกรรมที่ไม่ต้องการให้ค่าเงินหลุดไปสู่ระดับ 29 บาทต่อดอลลาร์  อัตราอ้างอิงควรเกาะกลุ่มกับคู่แข่ง

ที่สำคัญจะต้องมีเสถียรภาพ มีการเคลื่อนไหวที่ไม่ผันผวนจนเกินไป แต่ละวันส่วนต่างการขึ้นลงจะต้องไม่สูงมาก เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ในการทำการค้าและการลงทุน     สร้างความสามารถในการแข่งขันการส่งออกสินค้าไทยช่วงโควิด-19

ปัจจุบันค่าเงินบาทต้นเดือนพ.ย. อยู่ที่   31.01 บาทต่อดดอลาร์  ล่าสุด มาอยู่ที่ 30.29  บาทต่อดดอลาร์แข็งค่าขึ้น 2.3 %   และเมื่อเทียบกับในช่วงต้นปี2563 เดือน ม.ค.ค่าเงินอยู่ที่ 33.00 บาทต่อดอลลาร์ เท่ากับเป็นการแข็งค่ามากกว่า 8 %

สถานการณ์ค่าเงินบาทยังแข็งค่าเหมือนภาพปี 2562 ที่แข็งค่าถึง7-8 %  และยังแข็งค่าอันดับต้นๆของสกุลเงินในเอเชีย  จนทำให้เกิดผลกระทบตามมาเป็นลูกโซ่  คือ คำสั่งซื้อที่ลดลง การหาตลาดอื่นทดแทน  และสุดท้ายคือภาคการส่งออกของไทยที่หดตัวหนักตั้งแต่ไตรมาส 2 ปี 2562 จนทำให้สิ้นปีตัวเลขการส่งออก ลดลง 2.65 % เป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 4 ปี ตั้งแต่ปี 2558

อย่างไรก็ตามด้วยภาคการส่งออกของไทยปี2563 เผชิญการติดลบต่อเนื่องอยู่แล้วแต่มีสัญญาณดีขึ้นในสินค้าหลายรายการทั้งสินค้าเกษตร แพ็กเกจจิ้ง  สินค้าเทคโนโลยีตามความต้องการในช่วงโควิด-19 ระบาดรุนแรงในต่างประเทศ

สินค้าและอุปกรณ์ยานยนต์ที่ส่งออกไปยังตลาดจีนที่เห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐจีน ทั้งยอดขายรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น 7.4 % ในเดือนก.ย. ที่ผ่านมา จนฉุดสินค้ายางพาราเพื่อใช้ผลิตเป็นล้อรถยนต์ทำราคาในไทยทะลุ 60 บาทต่อกิโลกรัมไปในช่วงต้นสัปดาห์  จากการที่จีนเป็นผู้นำเข้ายางพาราอันดับ 1 ของโลก หรือคิดเป็น 40 %

อย่างไรก็ตามการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ให้ออกมาระบุแล้วว่าพร้อมใช้มาตรการดูแลค่าเงินเพิ่มเติมหากมีความจำเป็นและติดตามเงินทุนเคลื่อนย้ายอย่างใกล้ชิด ซึ่งทำให้ตลาดเชื่อมั่นค่าเงินบาทจะสามารถทรงตัวและไม่ต่ำไปกว่า  30.10 บาทต่อดอลลาร์  

ด้านหุ้นที่อ่อนไหวกับประเด็นค่าเงินบาทหนีไม่พ้นกลุ่มชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์   และชิ้นส่วนยานยนต์  กลุ่มนี้มีสัดส่วนในการส่งออกสูงและบางบริษัทมีโรงงานผลิตในต่างประเทศ ในมุมมองบริษัทหลักทรัพย์ (บล.) ทรีนีตี้  มองว่าหุ้นในกลุ่มส่งออกที่ได้รับผลกระทบแค่ด้านเซนติเมนท์กในการลงทุนด้านจากการแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาอย่าง คือ กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์

เมื่อโฟกัสไปที่หุ้นที่คาดว่าจะมีกลับมีปัจจัยเชิงบวกรออยู่คือกำไรในช่วงไตรมาสที่ 4 นี้อย่างเช่น  บริษัท เคซีอี  อีเลคโทรนิคส์ จำกัด (มหาชน) หรือ KCE และ บริษัท เดลต้า  อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ  DELTA เป็นต้น

เฉพาะ KCE  คาดว่ารายได้ในสกุลดอลลาร์จะโตได้ 13% - 17% ตามการฟื้นตัวของยอดขายรถยนต์  อัตราการผลิตเพิ่มขึ้นมาที่ระดับ 95% จากไตรมาส 3 ปี2563 ที่ราว 70% อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Margin)  คาดว่าจะเพิ่มขึ้นมาเป็น 24% -25% จากไตรมาส 3 ปี 2563 ที่ระดับ 19% จากอัตรากำลังผลิตที่เพิ่มขึ้น ทำให้ได้ Economy of Scale

ดังนั้นประเมินด้วยยอดขายที่โตขึ้นกว่า 15% และ Gross Margin ที่ปรับขึ้นมาเป็น 25% นั้น คาดว่าจะเห็นกำไรไตรมาส 4 ปี2563 เพิ่มขึ้นมาเป็นระดับ 400-500 ล้านบาท เติบโตถึง 90% จากไตรมาสก่อน