'ช้อปดีมีคืน' เพื่อ 'ลดหย่อนภาษี' คุ้มแน่ แค่รู้ 3 เรื่องนี้!

'ช้อปดีมีคืน' เพื่อ 'ลดหย่อนภาษี' คุ้มแน่ แค่รู้ 3 เรื่องนี้!

เปิดทริคและเรื่องที่ต้องรู้สำหรับคนที่ต้องการใช้มาตรการ 'ช้อปดีมีคืน' เพื่อ 'ลดหย่อนภาษี' ปี 2563 ที่จะช่วยให้ประหยัดภาษีได้คุ้มเกินคุ้ม

เทศกาลลดหย่อนภาษีกลับมาอีกครั้ง หลายคนกำลังมองหาตัวช่วยในการลดหย่อนที่ทำให้ประหยัดภาษีมากขึ้น หนึ่งในมาตรการที่รับความสนใจมากในปีนี้ คือ "ช้อปดีมีคืน" ที่สามารถเข้าร่วมโครงการได้แล้ววันนี้ถึง 31 ธ.ค. 63 

ก่อนที่จะตัดสินใจ "ช้อป" เพื่อให้ได้ "คืนภาษี" อยากให้ลองพิจารณา 3 ข้อนี้ ก่อนที่จะควักในกระเป๋าจับจ่าย โดย "กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" รวบรวม 3 เรื่องที่รู้แล้วทำตามจะได้สิทธิประโยชน์จากการลดหย่อนภาษีเต็มๆ และไม่เสียสิทธิ์ ดังนี้

 

  •  รู้จัก "รายได้สุทธิ" ของตัวเอง 

ก่อนที่จะ "ช้อป" หวังลดหย่อนภาษีจาก "ช้อปดีมีคืน" สิ่งที่แรกที่ต้องรู้คือ "รายได้สุทธิ" ของตัวเองเพื่อให้รู้ว่าอัตราภาษีที่ตัวเองที่ต้องจ่ายอยู่เท่าไร เพื่อนำมาพิจารณาว่าการช้อปสินค้าและบริการต่างๆ เพื่อลดหย่อนภาษีตามโครงการนี้ ช่วยลดหย่อนภาษีได้มากน้อยแค่ไหน หรือไม่ช่วยเลยกันแน่

การลดหย่อนภาษี ไม่ใช่ใครก็คุ้มค่า เพราะการลดหย่อนภาษีคุ้มหรือไม่คุ้มไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าเราช้อปหรือซื้อของมากน้อยแค่ไหน แต่ขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถใช้สิทธิในการลดหย่อนภาษีในอัตราเท่าไร 

เราสามารถ "ลดหย่อนภาษี" จาก "ช้อปดีมีคืน" มากแค่ไหน ดูจาก "เงินได้สุทธิ" ของเรา โดยระดับเงินได้สุทธิต่อปีที่สูง มีโอกาสได้รับอัตราการลดหย่อนภาษีที่มากกว่า ดังนี้

- 0-150,000 บาท ได้รับการยกเว้นภาษี ไม่ได้สิทธิ์คืนภาษี จากโครงการช้อปดีมีคืน 
- 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์คืนภาษีสูงสุด 1,500 บาท 
- 300,001-500,000 บาท อัตราภาษี 10% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 3,000 บาท
- 500,001-750,000 บาท อัตราภาษี 15% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 4,500 บาท
- 750,001-1,000,000 บาท อัตราภาษี 20% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด6,000 บาท
- 1,000,001-2,000,000 บาท อัตราภาษี 25% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด7,500 บาท
- 2,000,001-5,000,000 บาท อัตราภาษี 30% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 9,000 บาท
- 5,000,001 บาทขึ้นไป อัตราภาษี 35% หากช้อปเต็มจำนวน 30,000 บาท มีสิทธิ์ได้คืนภาษีสูงสุด 10,500 บาท

โดยวิธีคำนวณ "รายได้สุทธิ" สำหรับภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา สามารถทำเองเบื้องต้นตามวิธีดังต่อไปนี้

160610020566

หมายเหตุ: "ค่าใช้จ่าย" และ "ค่าลดหย่อน" เป็นไปตามการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง : 

 2. เก็บเอกสารได้ถูกต้อง 

อีกหนึ่งเงื่อนไขสำคัญสำหรับการ "ช้อปดีมีคืน" เพื่อ "ลดหย่อนภาษี" คือการเก็บเอกสารที่ต้องใช้ให้ครบ และถูกต้องตามรูปแบบที่กำหนด จึงจะสามารถใช้เป็นหลักฐานในการลดหย่อนได้แบบสมบูรณ์

ซึ่งเอกสารที่ต้องขอเมื่อช้อปดีมีคืน ได้แก่ "ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ" หรือ "ใบเสร็จรับเงิน" (ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่จดทะเบียน VAT) ซึ่งเอกสารเหล่านี้ต้องมีข้อมูลครบถ้วน ถูกต้อง และเป็นความจริง

  • "ใบกำกับภาษีแบบเต็มรูปแบบ" 

1. ต้องมีคำว่า "ใบกำกับภาษี" ในที่ที่เห็นได้ชัดเจน เด่นชัด

2. ต้องมี ชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ประกอบการ จดทะเบียนที่ออกใบกำกับภาษี และในกรณีที่ตัวแทนเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86 วรรคสี่ หรือมาตรการ 86/2 หรือผู้ทอดตลาดเป็นผู้ออกใบกำกับภาษีในนามของผู้ประกอบการจดทะเบียน ตามมาตรา 86/3 ให้ระบุชื่อ ที่อยู่ และเลขประจำตัวผู้เสียภาษีอากรของตัวแทนนั้นด้วย

3. ชื่อ ที่อยู่ ของผู้ซื้อสินค้าหรือผู้รับบริการ

4. หมายเลขลำดับของใบกำกับภาษี และหมายเชขลำดับของเล่ม (ถ้ามี)

5. ชื่อ ชนิด ประเภท ปริมาณ และมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ

6. จำนวนภาษีมูลค่าเพิ่มที่คำนวณจากมูลค่าของสินค้าหรือของบริการ โดยให้แยกออกจากมูลค่าของสินค้า และหรือของบริการให้ชัดแจ้ง

7. วัน เดือน ปี ที่ออกใบกำกับภาษี

  • "ใบเสร็จรับเงิน"

ใบเสร็จรับเงิน (ในกรณีที่ซื้อสินค้าจากผู้ขายที่ไม่จดทะเบียน VAT) ต้องมีลักษณะสำคัญ ดังนี้

1. เลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ขาย

2. ชื่อหรือยี่ห้อของผู้ขาย

3. เลขลําดับของเล่มและใบเสร็จรับเงิน

4. วันเดือนปีที่ออกใบเสร็จรับเงิน

5. ชื่อ นามสกุล ที่อยู่ และเลขประจําตัวผู้เสียภาษีอากรของผู้ซื้อ

6. ชนิด ชื่อ จํานวน และราคาสินค้าที่ซื้อ

7. จํานวนเงิน

 3. ประเมินความจำเป็น และกำลังทรัพย์ของตัวเอง 

อีกหนึ่งเรื่องที่มองข้ามไม่ได้คือการ "ประเมินกำลังทรัพย์ของตัวเอง" หลายคนเร่งช้อปให้ทันสิ้นปี ตามเงื่อนไขโครงการเพราะอยากประหยัดภาษี จนลืมคำนึงว่าสิ่งที่ซื้อจำเป็นสำหรับตอนนี้มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากเราทำเงินไปซื้อสินค้าเพราะหวังได้ลดหย่อนภาษีเยอะๆ แบบไม่ได้ใช้ประโยชน์ก็อาจจะได้ไม่คุ้มเสีย โดยเฉพาะคนที่มีอัตราภาษีที่ต้องจ่ายน้อย อาจจะไม่ได้ประหยัดอย่างที่คิด

ที่มา: iTAX