CP ย้ายสถานีป่วนไฮสปีดเทรน กระทบเวนคืนที่ดิน-โมโนเรลพัทยา
ร.ฟ.ท.-สกพอ.เร่ง “ซีพี” เคลียร์ปมย้ายสถานีไฮสปีดเทรนเชื่อม 3 สนามบิน ส่งข้อมูลภายใน พ.ย.นี้ ชี้ต้องเป็นประโยชน์ต่อผู้โดยสาร ไม่กระทบชุมชน หวั่นแผนเวนคืนสะดุด “เมืองพัทยา”ห่วงกระทบโมโนเรล กรมโยธาฯ เช็คข้อมูลย้ายสถานี ประกอบทำผังเมืองระดับอำเภอ
โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง สุวรรณภูมิ อู่ตะเภา) ลงนามร่วมลงทุนระหว่าง การรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) และบริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด (กลุ่มซีพี) ครบ 1 ปีแล้ว ซึ่งที่ผ่านมา ร.ฟ.ท.ได้หารือกับเอกชนต่อเนื่องและเตรียมส่งมอบพื้นที่ก่อสร้าง
แหล่งข่าวจาก ร.ฟ.ท.เปิดเผยกับกรุงเทพธุรกิจว่า ขณะนี้ ร.ฟ.ท.อยู่ระหว่างเตรียมส่งมอบพื้นที่โครงการให้เอกชน ซึ่งคาดว่าจะส่งมอบพื้นที่ส่วนแรก ช่วงสุวรรณภูมิ–อู่ตะเภา ให้เอกชนเข้าดำเนินงานตามสัญญากำหนดในสัญญาภายในเดือน ต.ค.2564
ส่วนข้อเสนอทางเอกชนที่ขอปรับแนวสถานีรถไฟความเร็วสูง ซึ่ง ร.ฟ.ท.กำลังพิจารณาข้อมูลอย่างละเอียดร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) โดยการพิจารณาจะต้องสอดรับความต้องการของผู้ใช้บริการ รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อชุมชนและไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชุมชนรอบสถานี และไม่ก่อให้เกิดความแออัดของที่อยู่อาศัย ตลอดจนต้องสร้างความสุขให้กับทุกคนในพื้นที่
ทั้งนี้ การขอย้ายที่ตั้งสถานีดำเนินการได้ตามสัญญาร่วมลงทุน ซึ่งเป็นสิทธิของเอกชนที่จะพิจารณาเพื่อประโยชน์สูงสุดของโครงการ แต่การย้ายสถานีจะต้องมีเหตุผลประกอบให้ชัดเจน ซึ่งภาคเอกชนยังไม่สรุปชัดเจนว่าจะย้ายสถานีไปพื้นที่ใด หรือมีวัตถุประสงค์อย่างไรของการย้ายสถานี โดยที่ผ่านมาเคยมีการระบุถึงการขอย้ายสถานีฉะเชิงเทรา ชลบุรีและพัทยา ส่วนสถานีศรีราชาอาจไม่ย้าย เพราะ ร.ฟ.ท.ให้สิทธิในพื้นที่เพื่อพัฒนาเชิงพาณิชย์ 25 ไร่
นอกจากนี้ หากเอกชนผลักดันให้ย้ายสถานีอาจต้องเร่งเสนอพื้นที่ใหม่และเหตุผลการย้ายสถานีภายในเดือน พ.ย.นี้ เพื่อเป็นข้อมูลให้ ร.ฟ.ท.พิจารณา เพราะภาครัฐมีความจำเป็นต้องดำเนินการเวนคืนที่ดิน และเตรียมส่งมอบพื้นที่ตามกำหนดในสัญญา
และเมื่อเดินหน้าเวนคืนที่ดินตามแผนแล้ว แต่เอกชนยืนยันปรับแนวสถานีจะกระทบต่อชุมชนที่ถูกเวนคืนที่ดิน และทำให้การเวนคืนไม่ตรงตามวัตถุประสงค์เพื่อพัฒนารถไฟความเร็วสูง ซึ่งทำให้เอกชนต้องเร่งเสนอข้อมูลเพื่อไม่ให้เกิดกรณีเวนคืนที่ไปแล้วและต้องมาเวนคืนเพิ่มในภายหลัง
สำหรับการเวนคืนได้ออกพระราชกฤษฎีกาแล้วเมื่อวันที่ 18 ธ.ค.2562 ครอบคลุมพื้นที่กรุงเทพมหานคร สมุทรปราการ ฉะเชิงเทรา ชลบุรีและระยอง
ส่วนขั้นตอนการเวนคืนที่ดินขณะนี้ อยู่ขั้นตอนรอประกาศราคาที่จะชดเชยให้ผู้ถูกเวนคืน โดยคาดว่าจะดำเนินการได้ในอีกไม่นานและหากภายในเดือน พ.ย.นี้ เอกชนไม่ให้ข้อมูลประกอบข้อเสนอย้ายแนวสถานีเพิ่มอีก ซึ่งกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าภาครัฐจำเป็นต้องดำเนินการเวนคืนที่ดินเพื่อไม่ให้โครงการเกิดความล่าช้าและมีปัญหาการส่งมอบที่ดิน
รวมทั้งในกรณีที่ ร.ฟ.ท.อนุมัติให้เอกชนเปลี่ยนจุดก่อสร้างสถานี เอกชนต้องเป็นผู้จัดการเวนคืนที่ดินใหม่เพื่อก่อสร้างแนวสถานีเอง เพราะผิดไปจากข้อตกลงสัญญา รวมทั้งการปรับเปลี่ยนแบบหรือการก่อสร้างสถานีใหม่ต้องไม่กระทบข้อตกลงในสัญญา เพราะการเปลี่ยนสถานีที่ส่งผลต่อการปรับปรุงแบบอาจทำให้งานล่าช้ากว่าแผน ซึ่งเกิดจากการปรับเปลี่ยนแผนของเอกชนไม่ได้เกิดขึ้นจากข้อผิดพลาดของภาครัฐ
นายมาโนช หนองใหญ่ รองนายกเมืองพัทยา กล่าวกับกรุงเทพธุรกิจว่า หากโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน เปลี่ยนแนวเส้นทางจะกระทบรถไฟฟ้าโมโนเรลของเมืองพัทยามาก เพราะเดิมสถานีรถไฟความเร็วสูงตั้งอยู่ในตัวเมืองและห่างจากสถานีรถไฟฟ้าโมโนเรลไม่มาก ทำให้เชื่อมการเดินทางระหว่างรถไฟฟ้าความเร็วสูง รวมทั้งรถไฟฟ้าโมโนเรลได้สะดวก และกระจายผู้โดยสารไปยังพื้นที่อื่นในพัทยาได้เร็ว
สำหรับที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงพัทยาที่คาดว่าจะเปลี่ยนแปลง สถานีพัทยาจะห่างจากสถานีโมโนเรลพัทยาเหนือถึง 15 กิโลเมตร ถือว่าไกลจนเปลี่ยนแนวเส้นโมโนเรลไม่ได้ เพราะต้นทุนก่อสร้างจะสูงมาก โดยขณะนี้เมืองพัทยากำลังเจรจากับผู้รับผิดชอบโครงการรถไฟความเร็วสูงเพื่อแก้ปัญหานี้ ซึ่งอาจสร้างระบบขนส่งรองมาเชื่อมโมโนเรล เช่น ชัตเติลบัส
“ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุปว่ารถไฟความเร็วสูงจะเปลี่ยนแนวเส้นทางหรือไม่ แต่ทั้งนี้อยากให้คงเส้นทางเดิม เพื่อให้ระบบคมนาคมเชื่อมต่อกันสะดวก เพราะถ้าขยายเส้นทางโมโนเรลจะมีค่าใช้จ่ายที่สูงเกินไป” นายมาโนช กล่าว
แหล่งข่าวจากกรมโยธาธิการและผังเมือง กล่าวว่า หลังจากประกาศใช้แผนผังการใช้ประโยชน์ในที่ดินและแผนผังการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและระบบสาธารณูปโภคเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก เมื่อวันที่ 9 ธ.ค.2562
ขณะนี้กรมโยธาธิการฯ กำลังร่างผังเมืองอำเภอที่ลงรายละเอียดเพิ่มจากแผนผังอีอีซี โดยทำ 30 ผังเมือง ครอบคลุม 30 อำเภอ แบ่งเป็น ชลบุรี 11 อำเภอ ฉะเชิงเทรา 11 อำเภอ ระยอง 8 อำเภอ ซึ่งจะรับฟังความเห็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ให้ความเห็นชอบ
ทั้งนี้ การร่างผังเมืองดังกล่าวกรุงเทพธุรกิจรายงานว่าครอบคลุมการเตรียมพัฒนาพื้นที่รอบสถานีขนส่งมวลชน (TOD) ของสถานีรถไฟความเร็วสูงฉะเชิงเทรา ชลบุรี พัทยา ศรีราชา อู่ตะเภา โดยจัดให้เป็นพื้นที่สีแดง (ที่ดินประเภทศูนย์กลางพาณิชยกรรม) และพื้นที่สีส้ม (ที่ดินประเภทชุมชนเมือง)
โดยถ้าเปลี่ยนที่ตั้งสถานีรถไฟความเร็วสูงอาจต้องขยายพื้นที่สีแดงหรือสีส้มเพิ่มขึ้น หากจุดที่ย้ายสถานีไปไม่ใช่สีดังกล่าว โดยยังดำเนินการในขั้นตอนการทำผังเมืองอำเภอ แต่กลุ่มซีพีควรรีบสรุปที่ตั้งสถานีเพื่อไม่ให้กระทบการทำผังเมือง