'ศักดิ์สยาม' ยันไม่ค้านต่อสัมปทานสายสีเขียว เร่ง กทม.แจง 4 ปม
"ศักดิ์สยาม" ยันไม่ได้ค้านต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เร่งกทม.ทำข้อมูลเพิ่มเติม หลังคมนาคมแนะความเห็น 4 เรื่อง ก่อนสายสีเขียวส่วนต่อขยายเตรียมเปิดให้บริการ 16 ธ.ค.นี้ อาจสร้างภาระหนี้เพิ่ม
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยถึงกรณีการต่ออายุสัญญาสัมปทานโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว โดยระบุว่า กระทรวงฯ ยืนยันว่าไม่ได้คัดค้านการต่อสัมปทาน และเห็นด้วย แต่ต้องดำเนินการให้ครบถ้วนตามกฎหมายและหลักธรรมาภิบาล กระทรวงฯ มีเพียงข้อคิดเห็นเพิ่มเติม 4 เรื่องที่อยากให้มีความชัดเจน
ส่วนเรื่องภาระหนี้จากการเดินรถที่จะเพิ่มขึ้นสูงกว่า 8 พันล้าน หากเปิดบริการส่วนต่อขยายถึงสถานีคูคต ที่ทราบว่ามีกำหนดเปิด 16 ธ.ค.นี้ และยังไม่มีข้อสรุปในการต่อสัมปทาน ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องที่ทางกรุงเทพมหานคร (กทม.) จะต้องเร่งดำเนินการให้ชัดเจน
"ขณะนี้ข้อมูลที่เสนอมานั้นยังไม่ครบถ้วนทั้ง 4 เรื่อง ซึ่งจะต้องดูกระบวนการทั้งหมด บางเรื่องถ้าทำโดยไม่ได้ดูรายละเอียดอาจจะเกิดปัญหาในอนาคต หากทุกอย่างชัดเจนสามารถอธิบายได้ก็ดำเนินการได้ เราก็ไม่อยากให้เป็นแบบนั้น เชื่อว่าขณะนี้ยังมีเวลาพิจารณา"
สำหรับความเห็นเพิ่มเติมทั้ง 4 เรื่อง ประกอบด้วย 1.ความครบถ้วนตามหลักการพระราชบัญญัติการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 มาตรา 46และมาตรา 47 โดยกำหนดขั้นตอนการแก้ไขสัญญาร่วมทุนตามกระบวนการต้องใช้ระยะเวลาเพื่อให้เกิดความรอบคอบในการวิเคราะห์โครงการในเชิงผลประโยชน์ตอบแทนทางเศรษฐกิจ (EIRR) และอัตราผลตอบแทนทางด้านการเงิน (FIRR) รวมทั้งแหล่งที่มาของเงินทุนปริมาณผู้โดยสารและราคาค่าโดยสารที่เหมาะสมและเป็นธรรมกับประชาชน
2.กรณีการคิดอัตราค่าโดยสารที่เหมาะสม โดยในร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว กำหนดให้มีอัตราค่าโดยสารไม่เกิน 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเป็นอัตราค่าโดยสารสูงกว่ารถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินในปัจจุบัน สมควรพิจารณาภายใต้ข้อเท็จจริงโดยกำหนดอัตราค่าโดยสารที่ถูกที่สุดสำหรับประชาชนที่ใช้บริการในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล เนื่องจากปัจจุบันประชาชนต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเดินทางรถไฟฟ้า จำนวน 130 บาทต่อวันซึ่งคิดเป็น 35% ของค่าแรงขั้นต่ำ ประกอบกับรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นเส้นทางหลักของเส้นทางรถไฟฟ้าสายอื่นส่งผลให้สามารถลดอัตราค่าโดยสารลงได้มากกว่า 65 บาท
3.การใช้สินทรัพย์ของรัฐที่ได้รับโอนจากเอกชนให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามร่างสัญญาร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่งผลให้สินทรัพย์ทั้งหมดที่กำลังตกเป็นของรัฐเมื่อครบกำหนดตามสัญญาสัมปทาน พ.ศ.2572 ใช้ประโยชน์โดยผู้รับสัญญาสัมปทานรายเดิมต่อเนื่อง และรวมส่วนต่อขยาย ช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต
4.ข้อพิพาททางกฎหมายเกิดจากกรณีกรุงเทพมหานคร (กทม.) ได้ทำสัญญาจ้างร่วมกับบริษัทระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เดินรถไฟฟ้าส่วนต่อขยายช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการและช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ไปจนถึงปี 2585 สมควรรอผลการไต่สวนข้อเท็จจริงจากสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ที่จะมีผลกระทบต่อสัญญาสัมปทานที่อยู่ระหว่างการดำเนินการต่อสัญญาก่อน เพื่อให้เกิดความชัดเจนแล้วพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไปรวมทั้งเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดแก่รัฐและประชาชนตามหลักการจัดทำสัญญาเพื่อประโยชน์สาธารณะ