กรมวิชาการเกษตร เล็งประสาน"ไทยแพน" แก้ปัญหาตกค้างผัก-ผลไม้

กรมวิชาการเกษตร เล็งประสาน"ไทยแพน" แก้ปัญหาตกค้างผัก-ผลไม้

กรมวิชาการเกษตร ประสาน ไทยแพน ตรวจสอบแหล่งผลิต แก้ปัญหาสารตกค้างในผัก-ผลไม้ แจ้งเตือนเกษตรกร เล็งถอนการรับรอง กรณีพบสารเคมีผิดกฎหมายตกค้าง

นายพิเชษฐ์   วิริยะพาหะ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า จากการที่กรมวิชาการเกษตรได้ตรวจสอบข้อมูลสินค้าทางการเกษตรตามที่ไทยแพนได้แถลงข่าวและมีการเผยแพร่ผ่านเว็บไซต์ของไทยแพนที่ระบุผลการสุ่มตรวจตัวอย่าง 509  ตัวอย่างแบ่งเป็นการสุ่มจากห้างโมเดิร์นเทรด 6 แห่งจำนวน 201  ตัวอย่าง สุ่มจากตลาด  10 แห่ง  308  ตัวอย่าง โดยมีทั้งตัวอย่างนำเข้าและตัวอย่างที่ผลิตในประเทศทั้งที่ได้รับรองมาตรฐานและไม่ได้รับรอง  ซึ่งข้อมูลดังกล่าวกรมวิชาการเกษตรจะได้นำมาใช้ในการตรวจสอบสินค้าที่ตรวจพบปัญหาดังกล่าวต่อไป  รวมทั้งจะหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์  และสำนักงานอาหารและยา(อย.) กระทรวงสาธารณสุขในการบูรณาการตรวจสอบร่วมกันเพื่อให้ผลผลิตทางการเกษตรของไทยปลอดภัยมากที่สุดสมกับการเป็นครัวของโลก

160740576659

ทั้งนี้ จากที่ไทยแพนรายงานผลการสุ่มตรวจสารตกค้างในผลผลิตทางการเกษตร  กรมได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องตรวจสอบทันทีและรายงานผลเข้ามาเมื่อ 7 ธ.ค.2563 ประกอบด้วย ตัวอย่างสินค้านำเข้าที่มีการตรวจพบสารตกค้าง โดยเฉพาะในองุ่นแดงนอกและพุทราจีน เป็นสินค้านำเข้าที่กำกับดูแลโดยด่านอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข  ซึ่งในส่วนของด่านตรวจพืช กรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตรวจเฉพาะศัตรูพืชกักกันเท่านั้น แต่อย่างไรก็ตามกรมวิชาการเกษตรจะได้หารือร่วมกับอย.ในการกำกับดูแลสินค้านำเข้าพร้อมกับทบทวนการตรวจสอบการนำเข้าสินค้าแนวชายแดนใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้พบปัญหาสารตกค้างในสินค้าที่นำเข้าทุกชนิด  

สำหรับสินค้าที่ได้รับรองมาตรฐานต่างๆ รวม 50 ตัวอย่าง ทั้งหมดเป็นสินค้าที่วางจำหน่ายในห้าง Modern Trade ได้แก่มาตรฐาน Organic Thailand, Q GAP, Thai GAP, PGS, มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ต่างประเทศ  กรมวิชาการเกษตรจะมีการตรวจสอบรหัสรับรองโดยละเอียดเพิ่มเติม  

160740580944

หากเป็นรหัสรับรองที่ถูกต้องและพบว่าสินค้ามีสารตกค้างเกิน MRL กำหนด จะแจ้งไปยังหน่วยงานรับรองในพื้นที่เพื่อตรวจสอบและดำเนินการแจ้งเตือนเกษตรกรเพื่อแก้ไขปรับปรุง กรณีตรวจพบใช้สารเคมีที่ไม่อนุญาตให้ใช้ในประเทศไทยแล้ว จะเพิกถอนการรับรอง และจะได้ประสาน Thai PAN  เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมสำหรับตรารับรองมาตรฐานอื่นเพื่อตรวจสอบแหล่งผลิตต่อไป   ส่วนกรณีสินค้าที่ไม่ได้รับรองมาตรฐานในตลาดค้าส่งและค้าปลีก จะวางมาตรการควบคุมการใช้สารเคมีที่ถูกต้องและปลอดภัยโดยจัดอบรมเพื่อสร้างการรับรู้และให้แนวทางการปฏิบัติที่ถูกต้องและปลอดภัยต่อไป  

“กรมวิชาการเกษตรได้เดินหน้าต่อเนื่องในการนำเสนอสิ่งทดแทนวัตถุอันตรายที่ยกเลิกการขึ้นทะเบียนแล้ว โดยมีมาตรการทั้งระยะสั้น ระยะกลางและระยะยาว  การวิจัยพัฒนาสารชีวภัณฑ์และสารสกัดจากพืชมาทดแทนสารเคมีเกษตรอย่างต่อเนื่อง   ซึ่งปัจจุบันมีชีวภัณฑ์กำจัดศัตรูพืชแนะนำให้เกษตรกรใช้แล้ว 17 ชนิด โดยแนะนำให้ใช้แบบผสมผสานในระบบเกษตรปลอดภัย(GAP)  และใช้กำจัดศัตรูพืชในระบบเกษตรอินทรีย์   นอกจากนั้นแนวทางในการขึ้นทะเบียนเพื่อให้มีสารชีวภัณฑ์และสารสกัดจากพืชมาใช้กำจัดวัชพืช แมลงและโรคพืชเพิ่มมากขึ้นในอนาคตกรมจะจัดความสำคัญในการขึ้นทะเบียนเป็นลำดับแรกและลดขั้นตอนความยุ่งยาก  แต่ยังคงเน้นย้ำเรื่องความปลอดภัยต่อคน สัตว์และสิ่งแวดล้อม  และในระยะยาวจะมีการเร่งรัดงานวิจัยเพื่อให้มีการพัฒนาสารจำกัดศัตรูพืชที่ปลอดภัย  มีประสิทธิภาพ  และต้นทุนต่ำ”