เกมสภาฯ เสี่ยงแท้ง ส.ส.ร. ขั้วอนุรักษ์ ขวาง รธน.ใหม่

เกมสภาฯ เสี่ยงแท้ง ส.ส.ร. ขั้วอนุรักษ์ ขวาง รธน.ใหม่

"พรรคเพื่อไทย-พรรคประชาชน" ผลักดันร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อให้มี ส.ส.ร.มาจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทว่าเกมการแก้ไขในรัฐสภา คงไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะยังมีอุปสรรคจากกลไกของฝ่ายอนุรักษนิยม คอยจ้องล้มและขัดขวางไม่ให้แก้ไขได้สำเร็จ

KEY

POINTS

  • เกมการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงไม่ใช่งานง่ายสำหรับปีกพรรคการเมืองที่ต้องการรื้อโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย 
  • ฉบับ “พรรคเพื่อไทย”  ส.ส.ร.ห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 
  • ฉบับ “พรรคประชาชน” ห้าม ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ
  • อุปสรรคขัดขวางร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเลือกตั้ง ส.ส.ร. มีความเสี่ยงถูกขัดขวางจากทั้ง สว.สายสีน้ำเงิน ทั้งจากช่องทางการร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ
  • แหล่งข่าวจากมือกฎหมายในพรรคเพื่อไทย แสดงความกังวลสูตรประชามติเพียง 2 ครั้ง เป็นการวางหมากที่ไม่ปลอดภัยสำหรับการเดินหน้าผลักดัน ส.ส.ร.
  • ความเสี่ยงของการถูกทำแท้งรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ซึ่งจะซ้ำรอยกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งก่อนที่ถูกคว่ำลงในวาระที่ 3 

เกมร้อน เกมด่วน ปีก “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ดำเนินการผลักดันร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15/1 การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เข้าสู่รัฐสภาผ่านประธานรัฐสภาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เหลือเพียงรอ “ประธานรัฐสภา” บรรจุเข้าสู่วาระของที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาในวาระที่หนึ่ง เพียงแต่ตอนนี้ยังคงต้องรอจังหวะให้ซีกวุฒิสภา ได้ทำการศึกษาก่อน

ปฏิทินการแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เดิมจะวางไว้ในวาระที่หนึ่ง วันที่ 14-15 ม.ค. 2568 จึงต้องขยับออกไปก่อน 1 เดือน เรียกว่า “ยื้อ” ไว้ก่อน ตามเกมของฝ่ายที่ยังไม่ต้องการให้เร่งรีบ หรือขวางทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญ

ค่ายแดงและค่ายส้ม ต่างมีธงจุดหมายเดียวกันคือ เร่งผลักดันให้มีสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้นมาเป็นทำหน้าที่จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยให้ ส.ส.ร. มีจำนวน 200 คนมาจากการเลือกตั้ง

ค่ายเพื่อไทย ต้องการให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งโดยตรงแต่ละจังหวัด ส่วนค่ายพรรคประชาชน ต้องการให้มี ส.ส.ร.จากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน และแบบบัญชีรายชื่อใช้เขตประเทศเป็นเขตเลือกตั้ง 100 คน

โดยเนื้อหาสาระสำคัญของ “พรรคเพื่อไทย” ต้องการแก้ไขหลักเกณฑ์การลงมติเกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยวาระที่ 1 ให้ตัดเสียงเห็นชอบของ สว.ออกไป 1 ใน 3 รวมทั้งตัดเรื่องเสียง สว.1 ใน 3 และ สส.ฝ่ายค้านนร้อยละ 20 ออกไปในวาระที่ 3

ขณะที่ “พรรคประชาชน” การลงมติในวาระที่ 1 และในวาระที่ 3 ให้ตัดอำนาจ สว.เห็นชอบ 1 ใน 3 ออก เหลือเพียงคะแนนเสียงเห็นชอบไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของสมาชิกสองสภา และมี สส.เห็นชอบด้วยไม่น้อยกว่า 2 ใน 3

เท่ากับว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะทำได้ง่ายมากขึ้นไม่เป็นอุปสรรคเหมือนเช่นที่ผ่านมา

ฉบับ “พรรคเพื่อไทย” ยังกำหนดให้กรณีรัฐสภายื่นร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจะต้องทำประชามติ ใน 3 หมวด คือ หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์ และ หมวด 15 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน พร้อมตัดเงื่อนไขอื่นออกที่มีการแก้ไขแล้วจะต้องจัดออกเสียงประชามติ

ขณะที่ ฉบับ “พรรคประชาชน” ให้ทำประชามติเพียงเรื่องเดียว คือกำหนดให้การแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 15 แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญหรือการแก้ไขเพิ่มเติมเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ หลังรัฐสภาเห็นชอบก่อนนำขึ้นทูลเกล้าฯ จะต้องจัดให้มีการออกเสียงประชามติก่อน

เกมสภาฯ เสี่ยงแท้ง ส.ส.ร. ขั้วอนุรักษ์ ขวาง รธน.ใหม่

ฉบับ “พรรคเพื่อไทย” ให้ ส.ส.ร.ห้ามจัดทำรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมหมวด 1 หมวด 2 ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ซึ่งกระทำมิได้

ฉบับ “พรรคประชาชน” ห้าม ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยฯ หรือมีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงรูปแบบของรัฐ

เกมสภาฯ เสี่ยงแท้ง ส.ส.ร. ขั้วอนุรักษ์ ขวาง รธน.ใหม่

อย่างไรก็ตาม เกมการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ คงไม่ใช่งานง่ายสำหรับปีกพรรคการเมืองที่ต้องการรื้อโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย โดยเฉพาะอำนาจศาลและองค์กรอิสระ

รัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2560 แม้จะได้รับเสียงเห็นชอบจากประชาชนในการทำประชามติ แต่ที่มาการยกร่างนั้นถูกดีไซน์โดยองค์กรรากเหง้าของการรัฐประหาร

ฉะนั้น อุปสรรคขวางทางการจัดทำรัฐธรรมนูญ ยังคงมีอยู่

แหล่งข่าวจากฝ่ายกฎหมายของพรรคเพื่อไทย มองเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญครั้งนี้ของ 2 ค่าย โดยพลิกสาระสำคัญของคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 4/2564 ที่ตีความไว้ว่า

“รัฐสภามีหน้าที่และอำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ โดยต้องให้ประชาชนผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญได้ลงประชามติเสียก่อนว่าประชาชนประสงค์จะให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่หรือไม่ และเมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จแล้ว ต้องให้ประชานลงประชามติเห็นชอบหรือไม่กับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อีกครั้งหนึ่ง”

ย้อนไปเมื่อ 17 เม.ย. 2567 ศาลรัฐธรรมนูญ ตีตกคำร้องรัฐสภา ขอให้วินิจฉัยทำประชามติกี่ครั้ง เกี่ยวกับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มาแล้ว

ครั้งนั้นศาลรัฐธรรมนูญได้ย้ำชัดว่าเคยวินิจฉัยโดยละเอียดและชัดเจนไปแล้ว จึงไม่ใช่กรณีปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่และอำนาจของรัฐสภาที่เกิดขึ้น

ผนวกกับเกมยื้อกระบวนการแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ เกี่ยวกับการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ยังต้องรอเวลา 180 วัน หลังจากสภาผู้แทนราษฎร เมื่อ 18 ธ.ค. 2567 มีมติยับยั้งการแก้ไขที่ใช้หลักเกณฑ์เสียงข้างมากสองชั้นของ สว.

เกมสภาฯ เสี่ยงแท้ง ส.ส.ร. ขั้วอนุรักษ์ ขวาง รธน.ใหม่

เป็นผลให้เซียนกฎหมายปีกพรรคเพื่อไทย ฟันธงว่า แม้จะทำประชามติเพียง 2 ครั้ง คือหลังผ่านร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.ร.เสร็จแล้ว และหลัง ส.ส.ร.จัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น ก็คงไม่พ้นเกมเสี่ยงขัดขวาง จนส่งผลให้เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ต้อง “แท้ง” ก่อนกำหนด หรือ “ล่มปากอ่าว” ซ้ำรอยปี 2564

“ส.ส.ร.ไม่ใช่ตัวละครในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพราะคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญ เขียนชัดจะให้มี ส.ส.ร.ได้จะต้องถามผู้มีอำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญก่อนก็คือให้สมาชิกรัฐสภาดำเนินการแก้ไขรัฐธรรมนูญได้หรือไม่ เรื่องนี้อันตรายและส่อจะทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่แท้งได้” แหล่งข่าวจากฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทยรายหนึ่งระบุ

เกมการจัดทำรัฐธรรมนูญเสี่ยงและอันตรายที่จะแท้งก่อนกำหนด เพราะมีหลายเกมหลายหน้า หลายแท็กติกของขั้วตรงข้าม สุ่มเสี่ยงจะถูกขัดขวาง และพร้อมลงมติคว่ำ ระหว่างทางที่ยังไม่ถึงด่านประชามติ

เกมขวางทาง เกมแรก สว.สายสีน้ำเงินสามารถเดินเกมโหวตด้วยเสียงไม่เห็นชอบ 1 ใน3 ได้ทันที ทั้งในวาระที่หนึ่ง และวาระที่ 3 แม้เสียงเห็นชอบจะเกินกึ่งหนึ่ง แต่เสียง สว.ไม่สนับสนุน ทำให้เกมแก้ไขรัฐธรรมนูญแท้งทันที

เกมขวางทาง ที่สอง สบจังหวะเกมยื้อ ปีกตรงข้ามยังอาศัยช่องทางของรัฐธรรมนูญ ยกบทบัญญัติเหมือนกรณี ไพบูลย์ นิติตะวัน อดีต สส.พรรคพลังประชารัฐ และสมชาย แสวงการ อดีต สว.เคยยื่นญัตติด่วนต่อประธานรัฐสภา ขอให้รัฐสภามีมติส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 210 (2) ซึ่งกำหนดให้ศาลรัฐธรรมนูญมีหน้าที่ และอำนาจพิจารณาวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับหน้าที่ และอำนาจของสภาผู้แทนราษฎร วุฒิสภา รัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือองค์กรอิสระได้

จนเป็นผลทำให้ ศาลรัฐธรรมนูญออกมาแตะเบรกการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการตั้ง ส.ส.ร.ในครั้งนั้น จนกระทั่งรัฐสภามีมติคว่ำร่างแก้ไข สูตร ส.ส.ร.ในวาระที่ 3

กระบวนการร้องศาลรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ย่อมเกิดขึ้นได้ แม้จะเป็นเรื่องดีสำหรับฝ่ายกฎหมายพรรคเพื่อไทย เพื่อจะได้คำตอบที่ชัดเจนว่าประชามติต้องทำกี่รอบ แต่ก็ยังเป็นเกมเสี่ยง

แน่นอนว่า วุฒิสภาสายสีน้ำเงิน รวมทั้งขั้วปีกอนุรักษนิยม ล้วนมีธง และมีดที่ซ่อนไว้อยู่ข้างหลัง คือไม่ต้องการแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน เห็นได้จากเกมการขวางแก้ไขกฎหมายประชามติ

สิ่งที่กังวลสำหรับคนในปีกรัฐบาล คือ ยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจนจากมือกฎหมายของรัฐบาลที่จะการันตีให้ชัดเจนถึงเหตุของการยื้อกระบวนการประชามติไว้ก่อน 180 วัน

รวมทั้งยังไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน เพื่อรองรับสนับสนุนให้มีการทำประชามติเพียง 2 ครั้งสำหรับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ทั้งที่ทางปลอดภัยที่สุด การทำประชามติ 3 ครั้ง เพื่อลดความเสี่ยงของการทำ “แท้ง” รัฐธรรมนูญใหม่

สูตรการใช้มติมหาชนด้วยการทำประชามติครั้งแรกไปก่อน มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ผ่าน ส.ส.ร. ก็เพื่อไม่ให้ญัตติของ “พรรคเพื่อไทย” และ “พรรคประชาชน” ต้องตกไป ซ้ำรอยเกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญเมื่อครั้งรัฐสภาสมัยที่แล้ว

ที่สำคัญ หากยังแก้ไขอำนาจของศาลและองค์กรอิสระที่มากล้นไม่ได้ ก็จะยิ่งทำให้การจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ยากยิ่งขึ้นไปอีก