เกมด่วน‘แดง-ส้ม’ ดัน ส.ส.ร. ‘พงศ์เทพ-พริษฐ์’ ชูธง‘ประชามติ’2 ยก

เกมด่วน‘แดง-ส้ม’ ดัน ส.ส.ร.  ‘พงศ์เทพ-พริษฐ์’ ชูธง‘ประชามติ’2 ยก

ผ่าเกมด่วนค่าย "พรรคเพื่อไทย" แตะมือ "พรรคประชาชน" เดินเกมแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เปิดทางยกร่างผ่าน ส.ส.ร. ภายใต้การออกเสียงประชามติเพียง 2 รอบก่อนเลือกตั้งใหญ่ปี 2570

KEY

POINTS

  • เปิดเกมด่วน "แดง-ส้ม" เมื่อ "พงศ์เทพ-พริษฐ์" เห็นตรงกันโน้มน้าวให้คณะกรรมการของประธานรัฐสภา มีมติเสียงข้างมาก เสนอประธานรัฐสภา บรรจุร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ ว่าด้วยการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ผ่าน ส.ส.ร.
  • สูตรประชามติ 2 ครั้งได้รับการการันตีจาก “พงศ์เทพ เทพกาญจนา” อดีต ส.ส.ร.ปี 2540
  • "พริษฐ์ วัชรสินธุ" และ "พงศ์เทพ" เห็นตรงกันยึดคำวินิจฉัยส่วนตนของศาลรัฐธรรมนูญเสียงข้างมากให้จัดทำประชามติเพียง 2 ครั้ง ไม่ต้องถึง 3 ครั้ง
  • หากไร้เงื่อนไขอุปสรรคขัดขวางเรือธง "การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่" คาดว่าจะมี ส.ส.ร. ไวสุดในช่วงปี 2569 ก่อนอายุของสภาผู้แทนราษฎรครบวาระ ปี 2570 

ปมปัญหาการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยเพิ่มหมวดว่าด้วย การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่เป็นแคมเปญ เป็นคำมั่นสัญญาเรือธงสำคัญของ แกนนำพรรคร่วมรัฐบาล อย่าง “พรรคเพื่อไทย”

ที่สำคัญยังเป็นนโยบายหัวใจหลักของ “อดีตพรรคก้าวไกล” ที่เปลี่ยนค่ายมาสังกัด “พรรคประชาชน” หลังถูกยุบพรรคไป

แน่นอนว่า หากผลักดันการแก้ไขรัฐธรรมนูญให้ สมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) สำเร็จ ย่อมถูกนำไปชูธงเป็นคะแนนนิยมทางการเมืองในการเลือกตั้งใหญ่ครั้งหน้าได้

ล่าสุด ผลการประชุมคณะกรรมการของประธานรัฐสภา เมื่อ 23 ธ.ค. 2567 ได้มีมติเสียงข้างมากเสนอให้ “วันมูหะมัดนอร์ มะทา” ประธานรัฐสภา เดินหน้าบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เข้าสู่ระเบียบวาระการประชุมร่วมกันของรัฐสภา โดยให้ออกเสียงประชามติเกี่ยวกับการจัดทำรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ 2 ครั้ง

โดยประธานรัฐสภา ยินยอมบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ โดยเล็งปฏิทินพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญว่าด้วย ส.ส.ร. เพื่อให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาขั้นรับหลักการในวาระที่หนึ่ง ระหว่างวันที่ 14-15 ธ.ค. 2567

โมเดลสูตรประชามติ เพียง 2 ยก ไม่ใช่ 3 ยกในการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ ภายใต้กลไก ส.ส.ร. ตามโรดแมปของ ไอติม “พริษฐ์ วัชรสินธุ” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาชน โดยจะทำประชามติครั้งแรก หลังผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา 3 วาระก่อนขึ้นทูลเกล้าฯ เพื่อเป็นกุญแจเปิดประตูไปสู่การเลือกตั้ง ส.ส.ร.

จากนั้น ประชามติยกที่ 2 หลัง ส.ส.ร. จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สำเร็จ

ว่ากันว่า ไอเดียการลุยดันสูตรประชามติเพียง 2 ยกของ “พริษฐ์” เป็นเพราะได้ไอเดียและความเห็นจาก “พงศ์เทพ เทพกาญจนา”อดีตสมาชิกพรรคเพื่อไทยและอดีตรองนายกฯ ในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร

เกมด่วน‘แดง-ส้ม’ ดัน ส.ส.ร.  ‘พงศ์เทพ-พริษฐ์’ ชูธง‘ประชามติ’2 ยก

ดีกรี “พงศ์เทพ” ไม่ธรรมดา เพราะในอดีตเขาผู้พิพากษา เคยผ่านการเป็น ส.ส.ร.ปี 2540 จ.สมุทรสาคร มีผลงานจากการทำคลอดรัฐธรรมนูญ ฉบับปี 2540 ซึ่งเป็นกติกาอันทำให้เกิดพรรคการเมืองที่เข้มแข็งอย่าง “พรรคไทยรักไทย” และถูกยกย่องว่าเป็นรัฐธรรมนูญฉบับที่มีความเป็นประชาธิปไตยที่สุด เพราะเปิดทางให้มีการเลือกตั้ง สว.ทั่วประเทศเป็นครั้งแรก

“พงศ์เทพ” กลับมามีบทบาททางการเมืองหลังฉากอีกครั้ง แต่ขอเลือกไม่สังกัดเป็นสมาชิกพรรคการเมืองใด หลังลาออกจากสมาชิกพรรคเพื่อไทย เมื่อปี 2564 เพื่อเปิดทางให้คนรุ่นใหม่มามีบทบาททางการเมืองมากขึ้น

บทบาท “พงศ์เทพ” ตอนนี้จึงเลือกตอบรับเป็น 1 ใน 5 คณะที่ปรึกษานโยบายของนายกรัฐมนตรี หรือ "ที่ปรึกษาบ้านพิษณุโลก" ยุคนายกฯ อิ๊งค์ ที่มี “พันศักดิ์ วิญญรัตน์“ เป็นประธานที่มีการลงนามแต่งตั้งผ่านมือ "แพทองธาร ชินวัตร “นายกฯ

“พงศ์เทพ” เคยเสนอความเห็นว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่ ทำประชามติ 2 ยกก็เพียงพอ ซึ่งเป็นไปตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ที่ 4/2564 พร้อมทั้งลงลึกในรายละเอียดความเห็นเสียงข้างมาก ของตุลาการ 6 เสียง ซึ่งยืนยันเป็นเสียงเดียวว่า การแก้ไขรัฐธรรมนูญเพื่อจัดทำฉบับใหม่ ทำได้ และทำประชามติแค่ 2 รอบก็พอ

เกมด่วน‘แดง-ส้ม’ ดัน ส.ส.ร.  ‘พงศ์เทพ-พริษฐ์’ ชูธง‘ประชามติ’2 ยก

จุดนี้เองจึงเป็นที่มาว่า ทำไม “พริษฐ์” ถึงจับมือ“พงศ์เทพ”เข้ายืนยันต่อในวงประชุมคณะกรรมการของประธานรัฐสภาเมื่อ 23 ธ.ค.2567 จนสามารถโน้มน้าวใจให้มีมติเสียงข้างมากเสนอต่อ“ประมุขนิติบัญญัติ” จนยอมบรรจุร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ฉบับ ส.ส.ร.

“พงศ์เทพ” ยืนยันหนักแน่นต่อคณะกรรมการของประธานรัฐสภาว่า ประชามติ 2 ยกได้ไม่ขัด หรือแย้งต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะเดียวกัน “ชูศักดิ์ ศิรินิล” รัฐมนตรีประจำสำนักนายกฯ จากพรรคเพื่อไทย ก็เป็นอีกหนึ่งเสียงสำคัญ เห็นด้วยกับสูตรดังกล่าว

เกมด่วน‘แดง-ส้ม’ ดัน ส.ส.ร.  ‘พงศ์เทพ-พริษฐ์’ ชูธง‘ประชามติ’2 ยก

สูตร “ประชามติ2 ยก”เพื่อจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ จึงเริ่มมีเค้าลาง และน่าจะได้ถกเถียงกันในรัฐสภา วาระแรกได้หลังเปิดศักราชใหม่ 2568

เพียงแต่เกมการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะสำเร็จง่ายดาย ตามที่วางหมากไว้หรือไม่ ขึ้นอยู่กับตัวแปร “วุฒิสภา” สายสีน้ำเงิน ที่คอยตั้งลำขวางไม่ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญสำเร็จโดยง่าย

โรดแมปทำคลอด ส.ส.ร.เร็วสุด จึงมีการประเมินผ่านสายตาของคนปีก“แดง-ส้ม”ว่า คนไทยจะได้เห็น ส.ส.ร.ในปี 2569 หากทุกอย่างไร้เงื่อนไข ไร้อุปสรรคขัดขวางเรือธงค่ายแดง-ค่ายส้ม

ถึงแม้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อาจไม่ทันก่อนรัฐบาลครบวาระ แต่อย่างน้อยก็มีสารตั้งต้นคือ ส.ส.ร. เป็นการนับหนึ่งกระบวนการรื้อโครงสร้างที่ไม่เป็นประชาธิปไตย ท่ามกลางวังวนศึกสามก๊ก ที่สมการการเมือง ก็มักจะมีอะไรเกิดขึ้นแบบไม่คาดคิด