ปชป.หนุนขยายสัมปทานสีเขียว ลดหนี้กทม.แสนล้าน

ปชป.หนุนขยายสัมปทานสีเขียว ลดหนี้กทม.แสนล้าน

"ประชาธิปัตย์" หนุนรัฐขยายสัญญาสัมปทานฯ “บีทีเอส” ลดภาระกทม.แบกหนี้กว่า 1 แสนล้าน หวั่นกระทบประชาชนใช้จ่ายค่าโดยสารแพง

ยังเป็นถกเถียงระหว่างกระทรวงคมนาคมและ กระทรวงมหาดไทย โดยกรุงเทพมหานคร ในปมประเด็นร้อนการขยายสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียวทั้งระบบ ออกไปอีก 30 ปีนับตั้งแต่ปี 2572 เพื่อแลกกับภาระหนี้วงเงิน 1.07 แสนล้านบาท ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด(มหาชน) BTSC โดยเฉพาะ ราคาค่าโดยสารตลอดระยะทาง 68 กิโลเมตร ไม่เกิน 65 บาท ซึ่งทั้ง 2 ฝ่ายยังมองต่างว่า มีทั้งผลดี และ ผลกระทบต่อประชาชนผู้ใช้บริการ


ดร.สามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า กรณีที่กรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ต้องการความชัดเจนถึงการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ซึ่งโครงการฯนี้ยังมีเวลาพิจารณาการต่ออายุสัมปทานถึงปี 2572 แต่ปัญหาคือดอกเบี้ยเกิดขึ้นทุกวัน เนื่องจากปัจจุบันกทม.แบกหนี้กว่า 1 แสนล้านบาท เพราะขาดทุนส่วนต่อขยายช่วง ราว 1,500 ล้านบาทต่อปี ค่าดอกเบี้ยเงินกู้ ราว 1,300 ล้านบาทต่อปี ค่าจ้างเดินรถทั้งระบบของบีทีเอส 5,000 ล้านบาท


“หากกทม.ได้รับเงินสนับสนุนจากรัฐบาลก็ไม่จำเป็นต้องเจรจาในตอนนี้ รอให้ใกล้หมดสัญญาก่อน ส่วนช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ซึ่งเป็นย่านธุรกิจที่ถือว่าเป็นไข่แดง ซึ่งจะหมดอายุสัญญาสัมปทานอีก 9 ปี (ปี 2572) ถ้าหากได้บริหารช่วงบริเวณนี้คืนมาจะทำรายได้ให้กับกทม.ได้ ซึ่งรายได้ส่วนนี้จะช่วยเหลือในส่วนที่กทม.ขาดทุน”


ดร.สามารถ กล่าวต่อว่า ปัจจุบันกทม.มีกระแสเงินสดไม่เพียงพอ เพราะต้องนำงบประมาณไปให้ทำโครงการและกิจกรรมอื่นๆ แม้จะจ่ายแค่ดอกเบี้ยเพียงอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอ เห็นได้จากจดหมายที่กระทรวงการคลังส่งให้กระทรวงมหาดไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบกทม.จะช่วยหาแหล่งเงินกู้ให้เพื่อให้กทม.กู้เงิน แต่มติคณะกรรมการจัดระบบการจราจรทางบก (คจร.) กำหนดให้รัฐบาลช่วยสนับสนุนงบประมาณให้กทม. ไม่ใช่ให้กทม.กู้เงินกับกระทรวงการคลัง ทำให้กทม.แบกภาระเงินกู้ไม่ไหว ซึ่งปัจจุบันกทม.มีหนี้กว่า 8.4 หมื่นล้านบาท หนี้รายปี 2,000 ล้านบาท รวม 1 แสนกว่าล้านบาท


“เรามองว่ารัฐบาลควรช่วยในส่วนนี้เพื่อทำให้ค่าโดยสารถูกลงกว่า 65 บาท เนื่องจากเส้นทางช่วงสมุทรปราการ-คูคต ไม่ได้อยู่ในความดูแลรับผิดชอบของกทม.หากรัฐมีงบประมาณเพียงพอนำมาช่วยเรื่องนี้ได้ กทม.ก็ไม่จำเป็นต้องแบกรับภาระหนี้ เพียงแค่เดินรถเพียงอย่างเดียว ทำให้กทม.มีความจำเป็นต้องต่ออายุสัญญาสัมปทาน เพราะไม่มีเงินจ่ายหนี้ อีกทั้งรัฐบาลไม่สามารถจัดสรรงบประมาณเพื่อช่วยเหลือกทม.ได้ ซึ่งไม่รวมดอกเบี้ยที่กทม.ต้องชำระ และค่าจ้างเดินรถบีทีเอส 5,000 ล้านบาท หากไม่ต่ออายุสัญญาสัมปทาน จำเป็นต้องจ้างบีทีเอสเดินรถตามสัญญาที่ลงนามสัญญาไว้ แต่ต้องเสียค่าดอกเบี้ยให้กับบีทีเอสในช่วง 9 ปีที่เหลือ ถ้าสามารถยื้อเวลาการต่ออายุสัญญาสัมปทานได้ จะทำให้เราสามารถนำช่วงหมอชิต-อ่อนนุช และช่วงสนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน มาทำกำไรให้ได้แน่นอน”


สำหรับอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสาย ซึ่งเริ่มอัตราค่าโดยสารต่ำสุดที่ 15 บาท บวก 3 บาทต่อสถานี ซึ่งเป็นสูตรของกระทรวงคมนาคมเมื่อใช้บริการครบถึงสถานีสุดท้ายจะเรียกเก็บค่าโดยสารอยู่ที่ 158 บาท แต่ปัจจุบันได้มีการเจรจาให้ค่าโดยสารอยู่ที่ 65 บาท ตลอดสาย เมื่อคิดค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 40 กว่าบาทต่อคน เพราะผู้ใช้บริการบางรายไม่ได้เดินทางจนครบทุกสถานี เพียงแค่ใช้บริการราว 3-10 สถานี เท่านั้น
จากผลการศึกษาผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR)ของรถไฟฟ้าสายสีเขียว ในส่วนของบีทีเอส อยู่ที่ 9.6% ถ้าเกินกำหนดต้องแบ่งรายได้ค่าโดยสารให้กทม.ตั้งแต่ปี 2572 ให้กทม.ทุกปี รวม 2 แสนกว่าล้านบาท ซึ่งระบุไว้ในเอกสารการประกวดราคา (ทีโออาร์)


ส่วนผลการศึกษาผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินของ BEM อยู่ที่ 9.75% ต้องแบ่งรายได้ให้การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) แต่ BEM ไม่ต้องแบ่งรายได้ให้รฟม. เพราะเพิ่งต่อสัญญาไป 3 ปี ซึ่งยังมีระยะเวลาเหลืออีก 12-13 ปี โดยใช้มาตรา 44 เข้ามากำกับด้วย


ทั้งนี้ทางออกที่เหมาะสมที่สุด จำเป็นต้องขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ถ้าไม่มีเงินให้กทม. ส่วนจะทำให้ค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาทได้หรือไม่ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการมาตรา 44 ว่าสามารถเจรจาดำเนินการต่อได้อีดกหรือไม่ หรือเมื่อถึงกำหนดที่กทม.ได้รับผลตอบแทนจากบีทีเอส จำนวน 2 แสนล้านบาท และลดค่าโดยสารต่ำกว่า 65 บาทได้หรือไม่


ด้านนายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร กล่าวว่า ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อครม.เพื่อขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนว่า ภายหลังจากที่มีการเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ทั้ง กรุงเทพมหานคร (กทม.), สำนักบริหารหนี้, กรมการขนส่งทางราง (ขร.) กระทรวงคมนาคม, กระทรวงการคลัง มาชี้แจงถึงแนวทางและเหตุผล รวมถึงข้อมูลข้อเท็จจริงต่างๆ


สำหรับข้อที่เป็นประเด็นที่กมธ.คมนาคมกังวลคำชี้แจงที่ไม่สมเหตุสมผล มีทั้งหมด 3 ข้อ ประกอบด้วย 1.ทำไมกทม.ต้องการต่อสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งปรากฏว่าไม่ได้รับคำตอบที่ชัดเจนจากกทม. โดยกทม.ชี้แจงว่าไม่สามารถแบกรับภาระหนี้ได้ รวมทั้งไม่มีความสามารถในการบริหารโครงการฯ

2. การคิดอัตราค่าโดยสารโดนใช้ฐานคำนวณ 65 บาท ตลอดสาย ซึ่งกทม.ได้ชี้แจงอีกว่า ทางกทม.ได้สอบถามประชาชนแล้วว่าประชาชนผู้ใช้บริการสามารถรับอัตราค่าโดยสาร 65 บาทตลอดสายได้ และ 3.ได้ดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงแบริ่ง- สมุทรปราการ และช่วงหมอชิต-สะพานใหม่- คูคต ปี 2561 โดยให้บูรณาการร่วมกับกระทรวงคมนาคมและกทม. หรือไม่

“ทางกมธ.คมนาคม มองว่า ข้อมูลชี้แจงดังกล่าวไม่ใช่วิธีทางวิทยาศาสตร์ที่สามารถทำให้เกิดความชัดเจนและไม่สามารถตรวจสอบ หรืออ้างอิงที่มาที่ไปที่จะรับฟังได้หากมีการต่อขยายอายุสัญญาสัมปทานให้เอกชนว่า ประโยชน์ที่แท้จริงประชาชนและภาครัฐได้ประโยชน์อย่างไร สภาฯจึงได้ทำหนังสือออกไปเพื่อเป็นลายลักษณ์อักษรถึงหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง กับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เพื่อตอบคำถามในสิ่งที่ทางสภาฯได้ถามไปให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร ซึ่งตามกำหนดได้ให้ส่งกลับมายังสภาฯ หลังจากนั้นทางคณะกรรมาธิการ คมนาคม สภาฯ จะสรุปข้อมูลทั้งหมดอีกครั้ง”


ทั้งนี้การพิจารณาตามข้อกฎหมายว่า การขยายสัมปทานดังกล่าว เข้าข่ายเป็นแค่การต่อสัญญา หรือการแก้ไขสัญญาที่มีนัยสำคัญ เนื่องจากโครงการดังกล่าวมีเส้นทางต่อเชื่อมระยะทางเพิ่มขึ้น การกำหนดราคาค่าโดยสารเพิ่มขึ้น ที่อ้างว่ามีการสอบถามความเห็นของประชาชนบางส่วนแล้ว และรับได้กับราคาดังกล่าว ซึ่งเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เนื่องจากการคำนวณค่าโดยสารจะต้องมีการนำข้อมูลฐานผู้ใช้บริการมาคำนวณกับดัชนีราคาผู้บริโภคต่างๆ เพื่อให้เกิดความเป็นธรรม

นายโสภณ กล่าวต่อว่า ส่วนสาเหตุที่ต้องทำความเห็นจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ให้เป็นลายลักษณ์อักษร เนื่องจากที่ผ่านมา ที่เรียกมาชี้แจงแสดงความเห็น กลับพบว่ามีบางหน่วยงานให้ข้อมูลที่ไม่มีความชัดเจน ไม่หนักแน่นพอ รวมทั้งการขยายต่ออายุสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียวไปอีก 30 ปี แลกกับค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย ในขณะที่สัญญาสัมปทานที่ กทม.กับ บีทีเอส นั้นจากเดิมจะสิ้นสุดในปี 2572


“โครงการใหญ่ขนาดนี้เราต้องรอบคอบเพราะเป็นการใช้เงินของรัฐและประชาชน ไม่ว่าจะเป็นท้องถิ่น กทม.หรือรัฐบาล ก็มาจากภาษีของประชาชนทั้งนั้น ไม่มีใครเป็นรัฐอิสระ ในช่วงเวลานี้ยังมีเวลาในการศึกษาเพื่อให้เกิดความรอบคอบ ถ้าสามารถชี้แจงและตอบข้อสงสัยของกมธ.ได้เราก็ไม่ขัดข้องอยู่แล้ว แต่ข้อมูลต้องครบถ้วน สามารถชี้แจงต่อประชาชนไปในทิศทางเดียวกันได้ เรามองว่าโครงการดีๆ แบบนี้ถ้าเป็นของรัฐเองมันก็เป็นประโยชน์กับประชาชน ถ้าเราเอาของดีๆไปให้เอกชนมันก็น่าเสียดาย เราเข้าใจว่าเอกชนทำงานก็ต้องการกำไร แต่ต้องได้กำไรที่สมเหตุสมผล แต่ที่ผ่านมาข้อมูลที่ได้มาไม่มีความชัดเจน และไปตกลงทำสัญญาร่วมกันมันคงไม่แฟร์กับประชาชน”