แนวโน้มปี 2563-2565  อุตสาหกรรมรถยนต์ไทย

ปี 2563 อุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวโน้มหดตัวรุนแรงตามทิศทางเศรษฐกิจไทย ผลจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคซบเซารุนแรง และห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ในและต่างประเทศชะงักงัน

ปี 2563 อุตสาหกรรมรถยนต์มีแนวโน้มหดตัวรุนแรงตามทิศทางเศรษฐกิจไทย ผลจากการระบาดของ COVID-19 ทำให้กำลังซื้อผู้บริโภคซบเซารุนแรง และห่วงโซ่การผลิตรถยนต์ในและต่างประเทศชะงักงัน 

ขณะที่ค่ายรถยนต์ปิดโรงงานชั่วคราวในไตรมาส 2 และทยอยลดกำลังการผลิตเพื่อปรับสมดุลสต็อก คาดว่าปริมาณการผลิตรถยนต์ปี 2563 จะหดตัว 36.0-37.0% แต่ปริมาณการผลิตจะกระเตื้องขึ้นในปี 2564-2565 มาเติบโตเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี ตามเศรษฐกิจที่ทยอยฟื้นตัวจากการระบาดที่คลี่คลาย

ยอดจำหน่ายรถยนต์ในประเทศปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 39.0-40.0% ต่ำสุดตั้งแต่ปี 2542 เพราะผู้บริโภคระวังใช้จ่ายโดยเฉพาะสินค้าคงทน เช่น รถยนต์ ทำให้เกิดภาระหนี้ผูกพันระยะยาวและเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย อย่างไรก็ตามวิจัยกรุงศรีประเมินว่ายอดจำหน่ายจะฟื้นตัวในปี 2564-65 เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 3.0-4.0% ต่อปี จากปัจจัยสนับสนุน ได้แก่

1.ผู้บริโภคบางส่วนที่ซื้อรถยนต์ในโครงการรถคันแรกมีแนวโน้มเปลี่ยนรถใหม่ (2-3 แสนคัน ในปี 2563-2565)

2.ผู้ประกอบการมีแผนเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่เพื่อกระตุ้นตลาดมากกว่า 20 รุ่นส่วนใหญ่เป็นรุ่นที่ได้รับความนิยมและรถยนต์ไฟฟ้า 

3.ภาคก่อสร้างฟื้นตัวตามแผนการลงทุนภาครัฐหนุนความต้องการรถเพื่อการพาณิชย์เพื่อการบรรทุกและขนส่ง

4.การพัฒนาเส้นทางคมนาคมใหม่ทั้งในประเทศและเชื่อมประเทศเพื่อนบ้าน รวมทั้งแนวโน้มการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกออนไลน์และโลจิสติกส์ทำให้ความต้องการรถการพาณิชย์ขนาดกลาง-เล็กเพิ่มขึ้น

ยอดส่งออกรถยนต์ปี 2563 มีแนวโน้มหดตัว 34.0-35.0% ผลจากเศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่วิกฤติเศรษฐกิจและการเงินโลกปี 2552 แต่คาดว่าปี 2564-2565 ยอดส่งออกรถยนต์จะเติบโตเฉลี่ย 4.0-5.0% ต่อปีโดยมีปัจจัยหนุนจาก

1.การส่งออก Eco-car (Phase II) ตามเงื่อนไข BOI สำหรับค่ายรถ อาทิ Toyota และ Nissan 

2.อานิสงส์จากเขตการค้าเสรีอาเซียนช่วยหนุนการส่งออกในภูมิภาค

3.ไทยมีโอกาสขยายตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านมากขึ้น อาทิ ฟิลิปปินส์ปิดโรงงาน Honda Cars Philippines Inc. ซึ่งผลิตรถยนต์นั่งรุ่น BR-V และ CITY กำลังการผลิต 7,200 คันต่อปี (มี.ค.2563) เปิดโอกาสให้ไทยส่งออกรุ่นดังกล่าวได้เพิ่มขึ้น และรัฐบาลเวียดนามผ่อนคลายความเข้มงวดการนำเข้ารถยนต์

ความเสี่ยงของอุตสาหกรรมรถยนต์ในช่วง 3 ปีข้างหน้า จะมาจาก 1.กำลังซื้อของผู้บริโภคที่อาจฟื้นตัวช้ากว่าคาดหากการกระบาดของ COVID-19 คลี่คลายช้า 

2.ความไม่แน่นอนของนโยบายกีดกันการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจกดดันเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าของไทย

3.ตลาดส่งออกสำคัญ เช่น ฟิลิปปินส์ อาจขึ้นภาษีนำเข้ารถเพื่อตอบโต้ข้อพิพาททางการค้า (กรณีไทยกล่าวหาฟิลิปปินส์สำแดงราคาบุหรี่นำเข้าต่ำเกินจริง ซึ่ง WTO ตัดสินให้ไทยแพ้)

สำหรับแนวโน้มระยะยาว อุตสาหกรรมรถยนต์ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเทคโนโลยียานยนต์ไฟฟ้า ซึ่งภาครัฐกำหนดให้ไทยเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาค วิจัยกรุงศรีคาดว่าปริมาณการใช้รถยนต์ไฟฟ้าไทยจะเติบโตรวดเร็วใน 4-6 ปี ผลจาก 

1.การพัฒนาแบตเตอรี่ลิเทียมไอออนทำให้ราคาลดลงต่อเนื่อง และภายในปี 2565 ราคารถยนต์ไฟฟ้าแบบแบตเตอรี่ (BEV) จะใกล้เคียงรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) 

2.ผู้ประกอบการบางรายมีแผนขยายการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและแบตเตอรี่สำหรับรถยนต์ไฟฟ้า ส่งผลให้อุปทานในตลาดเพิ่มขึ้น 

3.รัฐบาลตั้งเป้าเพิ่มสัดส่วนปริมาณการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าเป็น 30% ของปริมาณการผลิตยานยนต์ในประเทศในปี 2573 

สำหรับประเด็นที่รัฐบาลควรสนับสนุน คือ การพัฒนาสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า เช่น สถานีชาร์จไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ และการพัฒนาระบบโครงข่ายไฟฟ้าที่ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเชื่อมมิเตอร์อัจฉริยะเพื่อให้การใช้รถยนต์ไฟฟ้ารองรับระบบ Vehicle-to-Home (V2H) ได้มีประสิทธิภาพ