พาณิชย์ประเมินส่งออกไทยปี 64 ปรับตัวดีขึ้น
สนค.วิเคราะห์แนวโน้มส่งออกไทย 64 ชี้ 4 ปัจจัยหนุนทั้งเศรษฐกิจโลกฟื้น นโยบายการค้าของสหรัฐ ราคาน้ำมันดิบและค่าเงินบาท แนะเร่งสานสัมพันธ์ทางการค้าประเทศคู่ค้า 3 กลุ่ม พร้อมจับตาปัจจัยเสี่ยงกดดันส่งออกไทย โดยเฉพาะโควิด-19 รอบสอง
นางสาวพิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์ (สนค.) เปิดเผยว่า ทิศทางการค้าโลกในปี 2564 ส่งสัญญาณฟื้นตัว หลังได้รับผลกระทบอย่างมากจากสถานการณ์โควิด-19 ในปี 2563 ซึ่งองค์การการค้าโลกหรือดับบลิวที่โอ คาดการณ์ ว่า ปริมาณการค้าสินค้าโลกในปี 2563 จะลดลง 9.2 % และในปี 2564 จะเพิ่มขึ้น 7.2% แต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอก 2 จนต้องล็อกดาวน์จะส่งผลต่อการฟื้นตัวทางการค้าที่ต้องอาจทำให้จีดีพีทั่วโลกลดลง 2 – 3% ประกอบกับความเสี่ยงอื่นๆ เช่น ความไม่แน่นอนของนโยบายการคลัง และตลาดแรงงานที่ท้าทายในหลายประเทศ ปัจจัยเหล่านี้จะทำให้การเติบโตของการค้าสินค้าโลกลดลงได้ถึง 4 %ในปี 2564 ในทางกลับกันหากมีวัคซีนที่มีประสิทธิภาพอย่างรวดเร็ว จะสามารถเพิ่มความเชื่อมั่นส่งผลให้จีดีพีโลกเพิ่มขึ้นได้ 1 – 2% ในปี 2564 ซึ่งจะส่งผลให้การค้าสินค้าโลกขยายตัวได้เพิ่มขึ้นถึง 3%
สำหรับการส่งออกของไทยปี 2564 สนค.ประเมินว่า มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปัจจัยสนับสนุน คือ 1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลกที่มีแนวโน้มดีขึ้น 2. นโยบายของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนใหม่ มีแนวโน้มจะผ่อนคลายความตึงเครียดของสงครามการค้าและฟื้นฟูความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ-จีน และสหรัฐฯ-ยุโรป ช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ 3.การฟื้นตัวของราคาน้ำมันดิบ และ4.การดูแลเสถียรภาพค่าเงินบาทของธนาคารแห่งประเทศไทย
อย่างไรก็ตามจะต้องระวังปัจจัยเสี่ยง อาทิ การแพร่ระบาดระลอกสองของโควิด-19 นโยบายของนายโจ ไบเดน อาจกระทบการส่งออกสินค้าไทยบางรายการ อาทิ เรื่องสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน สิ่งแวดล้อม และการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา ทั้งนี้การส่งออกของไทยรายสินค้าควรมีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ใหม่ สินค้าเติบโตได้ดีจะสอดรับกับกระแสพฤติกรรมใหม่ และเป็นสินค้าที่จำเป็นต่อการใช้ชีวิต 3 กลุ่มสินค้า ได้แก่ สินค้าอาหาร สินค้าสำหรับใช้ทำงานที่บ้าน และเครื่องใช้ไฟฟ้า และ สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด ขณะที่สินค้าบางตัวมีแนวโน้มส่งออกหดตัวลงจากผลของการชะลอตัวของการผลิตและการบริโภคในสินค้าคงทนและสินค้าฟุ่มเฟือย เช่น ยานยนต์ สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน อัญมณีและเครื่องประดับ เครื่องสำอาง นาฬิกาและส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม เป็นต้น
ทั้งนี้การส่งออกของไทยหลังโควิด-19 ยังมีความท้าทายในปัญหาเชิงโครงสร้างและการดึงดูดการลงทุน เนื่องจาก โครงสร้างสินค้าส่งออกของไทยกระจุกตัวอยู่ในกลุ่มสินค้าที่ฟื้นตัวช้า เช่น รถยนต์ สินค้าโภคภัณฑ์ เช่นข้าว ยางพารา และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ความสามารถในการแข่งขันด้านราคาลดลงเทียบกับคู่แข่ง การพัฒนาความสามารถในการแข่งขันของไทยช้ากว่าคู่แข่ง จากสัดส่วนเงินลงทุนทางตรงระหว่างประเทศต่อจีดีพีไทยไทยลดลงสะท้อนการมีส่วนร่วมในห่วงโซ่การผลิตโลกลดลง ขณะที่เวียดนาม มาเลเซีย และอินโดนีเซีย ได้ประโยชน์จากการย้ายฐานการผลิต
นอกจากนี้ไทยขาดการพัฒนาสินค้าที่ตอบโจทย์สภาพแวดล้อมใหม่ทางการค้า หลังโควิด-19 ไทยเสียเปรียบด้านสิทธิประโยชน์ทางการค้ามากขึ้นในสินค้าศักยภาพเดิมในยุคเก่าจากการไม่มีเอฟทีกับประเทศคู่ค้าสำคัญ และสิทธิประโยชน์จีเอสพีที่ลดลงไปเรื่อย ๆ ทำให้การแข่งขันด้านราคาของไทยลดลงเมื่อเทียบกับคู่แข่ง ดังนั้น ไทยต้องพัฒนาความสามารถในการแข่งขัน ยกระดับสินค้าส่งออก ปรับรูปแบบสินค้า เพิ่มมูลค่า เน้นเทคโนโลยี และดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
นางสาวพิมพ์ชนก กล่าว่า นโยบายส่งเสริมการส่งออกในระยะข้างหน้านั้น สนค. ได้วิเคราะห์ศักยภาพการนำเข้าของประเทศคู่ค้า 100 ประเทศจากทุกภูมิภาค และนำประเทศที่มีศักยภาพการนำเข้าสูงมาคัดเลือกหาประเทศคู่ค้าที่ไทยควรมีนโยบายขยายความสัมพันธ์ทางการค้า หลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ดีขึ้น ซึ่งสามารถจำแนกออกเป็น3 กลุ่มหลัก คือกลุ่มที่ 1 ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง ความต้องการสินค้านำเข้าเป็นสินค้าประเภทเดียวกับที่ไทยส่งออกหลายรายการ และไทยส่งออกไปยังประเทศนั้นได้สอดคล้องกับศักยภาพของประเทศคู่ค้าแล้ว ซึ่งประเทศไทยต้องรักษาฐานลูกค้าและสร้างความจงรักภักดี (Loyalty) ต่อสินค้าไทย หากเจรจาจัดทำเอฟทีเอ เพื่อให้ไทยมีแต้มต่อจะเป็นผลดีอย่างยิ่งได้แก่ อเมริกาเหนือ เช่น สหรัฐฯ แคนาดา ยุโรปตะวันตก เช่น เนเธอร์แลนด์ เยอรมนี สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส) โอเชียเนีย คือ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ มาเลเซีย
กลุ่มที่ 2 ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้นในระดับปานกลาง สามารถพัฒนาให้เป็นประเทศคู่ค้าที่มีการค้าในระดับสูงได้ โดยไทยต้องมุ่งทำตลาดเชิงรุก เร่งเจรจาแก้ไขปัญหาและอุปสรรค เพื่อขยายส่วนแบ่งตลาด หรือหากเจรจาจัดทำเอฟทีจะทำให้ไทยมีแต้มต่อหรือได้รับประโยชน์มากขึ้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่ไทยควรให้ความสำคัญลำดับแรก ส่วนใหญ่เป็นประเทศในยุโรปเหนือหรือสแกนดิเนเวีย ทั้งนอร์เวย์ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์) ยุโรปตะวันออก (สโลวีเนีย เช็ก ออสเตรีย ฮังการี โปแลนด์) และบางประเทศตะวันออกกลาง (กาตาร์ และอิสราเอล) ซึ่งล้วนเป็นประเทศที่ประชาชนมีรายได้ต่อหัวสูง
กลุ่มที่ 3 ประเทศคู่ค้าที่มีศักยภาพการนำเข้าสูง แต่ไทยส่งออกไปยังประเทศคู่ค้านั้นน้อย กลุ่มประเทศเหล่านี้เป็นประเทศที่ไทยควรเร่งศึกษาตลาด เพื่อขยายฐานลูกค้าเพิ่มเติม ได้แก่ ไอซ์แลนด์ เอสโตเนีย ลิทัวเนีย และคาซัคสถาน