‘ออมสิน’ ลงทะเบียนพักหนี้ 28 จังหวัดพื้นที่สีแดง ‘โควิด-19’ เริ่มวันนี้
“ออมสิน”ออกมาตรการด่วนพักหนี้ ลดจ่ายดอกเบี้ย 3-6 เดือน ช่วยลูกค้าพื้นที่เสี่ 28 จังหวัด จำนวน 1.9 ล้านราย วงเงิน 6.7 แสนล้าน เปิดลงทะเบียน 8 ม.ค. ด้านสอท. เสนอมาตรการช่วยเอสเอ็มอีจาก “โควิด-19” รอบใหม่ เสนอปรับพรก.ซอฟท์โลน ช่วยเอสเอ็มอี
นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ล่าสุดธนาคารได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ของธนาคารออมสินในพื้นที่สีแดง หรือพื้นที่ที่มีการเข้มงวดและควบคุมสูงสุด รวม 28 จังหวัด ตามคำสั่งของศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา สายพันธุ์ใหม่หรือโควิด-19รอบใหม่
เบื้องต้น ธนาคารจะพิจารณาให้ลูกค้าสามารถขอพักชำระเงินต้นไว้ก่อน โดยจ่ายเฉพาะดอกเบี้ย หรือ ขอลดการจ่ายดอกเบี้ยบางส่วนได้ แล้วแต่กรณีขึ้นอยู่กับความหนักเบาของผลกระทบที่ได้รับ ซึ่งมาตรการครั้งนี้มีระยะเวลา 3 - 6 เดือน
ข่าวที่เกี่ยวข้อง : อัพเดทแล้ว! วิธี 'พักหนี้' แบงก์ 'ออมสิน' สำหรับลูกค้าในพื้นที่สีแดง 28 จังหวัด เช็คที่นี่
แหล่งข่าววงการการเงินกล่าวว่า ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(สอท.) ได้มีการทำมาตรการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 รอบใหม่ เพื่อเสนอรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เนื่องจากมองว่าภาคธุรกิจเอสเอ็มอีเป็นภาคที่ต้องเร่งเข้าไปช่วยเหลือเร็วที่สุด จากฐานะธุรกิจที่แย่ลากยาวมาตั้งแต่โควิด-19รอบแรก
ล่าสุดมีการจัดทำมาตรการเพื่อช่วยเหลือทางการเงินแก่ธุรกิจเอสเอ็มอี โดยจะมีการนำเสนอแก่กระทรวงการคลัง และสมาคมธนาคารไทยต่อไป มาตรการเบื้องต้น คือเสนอปรับ พรก.เงินกู้ ซอฟท์โลน เพื่อเพิ่มโอกาสเอสเอ็มอีเข้าถึงสินเชื่อ โดยกำหนดให้บุริมสิทธิสูงกว่าเงินกู้ไม่มีหลักประกันเดิม, อย่างที่ ธนาคารออมสินกำลังดำเนินการ
รวมถึงให้แบงก์กำหนดดอกเบี้ยที่ธนาคารรับความเสี่ยงได้ สำหรับการปล่อยกู้ซอฟท์โลนรอบใหม่ ต้องมากกว่า 5% และไม่ต้องจำกัดการขอกู้ที่ 20%ของยอดสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 2562 รวมถึงให้บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.)เข้ามาค้ำประกันเงินกู้เกิน 50% ตลอดระยะเวลา 7ปี
นอกจากนี้ การเปิดให้การปล่อยกู้ซอทฟ์โลนครั้งนี้ ครอบคลุมไปถึงลูกหนี้ที่เป็นเอ็นพีแอลด้วย เพราะเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบต่อเนื่องจากโควิด-19 นอกจากนี้เสนอให้มีการตั้ง Asset Warehousing เพื่อโอนลูกหนี้กลุ่มท่องเที่ยวมาแยกไว้กับกองทุน และเปิดให้ซื้อกลับได้หลังปี 2565 เป็นต้น
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกุล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.)กล่าวว่า ล่าสุดสภาอุตสาหกรรมได้มีการจัดทำมาตรการเพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอีจริง
โดยวันนี้ (8 ม.ค.)จะมีการนำมาตรการต่างๆเข้าที่ประชุมคณะกรรมบริหารของสภาอุตสาหกรรม ก่อนที่นำข้อเสนอดังกล่าว ให้กระทรวงการคลังรับทราบต่อไป เนื่องจากมองว่า เอสเอ็มอีเป็นกลุ่มที่ต้องช่วยเหลือเร่งด่วน และจำเป็นต้องให้สภาพคล่องเข้าไปถึงกลุ่มนี้เร็วที่สุด
ตั้งแต่มาตรการพักหนี้ของธนาคารออมสิน ไปจนถึงนโยบายด้านการเงิน ทั้งหมดก็เพื่อลดผลกระทบของประชาชนจากการระบาดของ โควิด-19