พาณิชย์คุมคุณภาพสินค้าจีไอสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค

พาณิชย์คุมคุณภาพสินค้าจีไอสร้างความเชื่อมั่นผู้บริโภค

กรมทรัพย์สินทางปัญญาเดินหน้าทำระบบควบคุมคุณภาพสินค้าจีไอ เป้าหมาย 14 รายการ หวังสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ พร้อมช่วยพัฒนาแพกเกจจิ้ง ยกชั้นขึ้นเป็นสินค้าพรีเมียมอีก 10 สินค้า

นายประโยชน์  เพ็ญสุต  รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา  เปิดเผยว่า  กรมฯ จะเร่งสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในการบริโภคสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์หรือจีไอ (GI) โดยจะลงพื้นที่เข้าไปช่วยผู้ประกอบการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพสินค้าจีไอ ตลอดทั้งปี 2564 แยกเป็นระบบควบคุมภายในจำนวน 8 สินค้าจาก 7 จังหวัด ได้แก่ ผ้าฝ้ายทอผสมขนแกะบ้านห้วยห้อม แม่ฮ่องสอน ส้มบางมดและลิ้นจี่บางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร เครื่องปั้นดินเผาบ้านมอญ นครสวรรค์ ปลาช่อนแม่ลาสิงห์บุรี ข้าวไร่ดอกข่าพังงา พังงา มะพร้าวทับสะแก ประจวบคีรีขันธ์ กล้วยหอมทองปทุม ปทุมธานี และบบควบคุมตามมาตรฐานสากล 6 สินค้า จาก 5 จังหวัด ได้แก่ กาแฟดอยช้าง เชียงราย ส้มสีทองน่าน น่าน หมากเม่าสกลนคร และน้ำหมากเม่าสกลนคร ข้าวสังข์หยดเมืองพัทลุง ข้าวเหนียวเขาวงกาฬสินธุ์

  161164718020              

        

 

ทั้งนี้ กรมฯ ยังจะดำเนินการคัดเลือกผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์จีไอ เข้าร่วมโครงการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ โดยจะมีการออกแบบและผลิตบรรจุภัณฑ์ให้แก่ผู้ประกอบการจีไอ จำนวน 10 ราย ได้แก่ กาแฟเมืองกระบี่ นิลเมืองกาญจน์ กล้วยเล็บมือนางชุมพร แปจ่อเขียวแม่สอด ผ้าหม้อฮ่อมแพร่ ทุเรียนภูเขาไฟศรีสะเกษ ส้มโอหอมควนลัง สังคโลกสุโขทัย ปลาแรดลุ่มแม่น้ำโขงสะแกกรัง และข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี เพื่อเป็นต้นแบบสำหรับผลิตบรรจุภัณฑ์สินค้าจีไอ ให้ตรงกับความต้องการของตลาด ยกระดับให้เป็นสินค้าชุมชนระดับพรีเมียม และสามารถนำไปใช้เป็นเครื่องมือทางการตลาด สร้างมูลค่าเพิ่มให้สินค้าจีไอ ไทย ตลอดจนเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระดับชาติและนานาชาติ

เมื่อผู้ผลิต ผู้ประกอบการสินค้าจีไอ  มีการจัดทำระบบควบคุมตรวจสอบคุณภาพ และผ่านการตรวจประเมินโดยคณะกรรมการจังหวัดหรือหน่วยตรวจสอบรับรองแล้ว สามารถขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์จีไอ ไทยได้ ซึ่งมีอายุคราวละ 2 ปี และเมื่อครบกำหนดการอนุญาตต้องดำเนินการตรวจสอบควบคุมคุณภาพสินค้า ตามระบบอีกครั้ง เพื่อขออนุญาตใช้ตราสัญลักษณ์ต่อไป"

ปัจจุบัน กรมฯ ได้ออกหนังสืออนุญาตให้ใช้ตราสัญลักษณ์จีไอ ไทยแล้ว จำนวน 237 ครั้ง 109 สินค้า โดยมีผู้ได้รับอนุญาต จำนวนทั้งสิ้น 5,364 ราย แต่มีผู้ได้รับอนุญาตที่ยังคงใช้ตราสัญลักษณ์จีไอ ไทยอยู่ 3,113 ราย

สำหรับประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากการขึ้นทะเบียนจีไอ และการสร้างมาตรฐานสินค้าจีไอ จะช่วยรับประกันสินค้าจีไอ ว่าเป็นสินค้าท้องถิ่นที่มีคุณภาพ มาตรฐาน พิเศษกว่าสินค้าจากแหล่งอื่น สามารถจำหน่ายได้ในราคาที่สูงขึ้น และยังทำให้ผู้บริโภคเชื่อมั่นว่าจะได้รับสินค้าที่มีคุณภาพและมาจากแหล่งผลิตที่แท้จริง เช่น ไข่เค็มไชยา ส้มโอนครชัยศรี มะขามหวานเพชรบูรณ์ ข้าวหอมมะลิทุ่งกุลาร้องไห้ เป็นต้น