‘กองทุน’ตั้งท่าลงทุนกัญชง

‘กองทุน’ตั้งท่าลงทุนกัญชง

“ กองทุน” รับสนใจลงทุนธุรกิจกัญชงเพื่อพาณิชย์หลังไทยปลดล็อกกฎหมายในไทย “บลจ.ฟิลลิป“ พร้อมส่ง ”ฟิลลิปเวิลด์อินโนเวชั่น” เข้าลงทุนหากตลาดบูม ราคาเหมาะสม ด้านบลจ.เอ็มเอ็ฟซี แจงเป็นเรื่องใหม่ต้องติดตามใกล้ชิด บลจ.กสิกรไทย ชี้ รัฐปลดล็อกเอื้อบจ.ขยายการลงทุนสู่ธุรกิจใหม่ ไตรมาส4 เห็นภาพชัดเจน แต่ตั้งกองทุนอาจน้อย

นายติยะชัย ชอง กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ฟิลลิป จำกัด เปิดเผยว่า แนวโน้มการลงทุนธุรกิจในกัญชงเพื่อการพาณิชย์ของไทย ที่เพิ่งมีการปลดล็อกข้อกฎหมายนั้น ถือว่า ธุรกิจดังกล่าวเป็นทางเลือกที่น่าสนใจ และอยู่ในขอบเขตที่กองทุนเปิด ฟิลลิปเวิลด์อินโนเวชั่น หรือ PWIN สามารถลงทุนได้ ซึ่งเรามองว่าในระยะสั้นอาจมีความน่าสนใจ แต่ต้องรอความชัดเจนในเรื่องกฎหมายต่างๆ และการนำไปใช้ ทั้งในและต่างประเทศ โดยเฉพาะในไทยแม้จะมีการปลดล็อกกฎหมายต่างๆ ไปบ้างแล้ว แต่ยังต้องรอดูการใช้จริงทำได้แค่ไหน ยังมีสารอะไรอันตรายอีกหรือไม่ หากในอนาคต มีความชัดเจน และราคาเหมาะสมกองทุน PWIN ก็สามารถพิจารณา ลงทุนได้เช่นกัน

อย่างไรก็ตามกองทุน PWIN ได้ปรับพอร์ตการลงทุน โดยไม่ได้ลงทุนในธุรกิจกัญชาเพื่อการแพทย์ในต่างประเทศมาเป็นระยะเวลาปีกว่าแล้ว เนื่องจาก เรามองว่าช่วงนั้น ถึงแม้ราคามีการปรับขึ้นมา แต่ก็มีความไม่แน่นอนเกิดขึ้น เช่น ราคาของกัญชาในตลาดที่โปร่งใส กับตลาดผิดกฎหมายนั้นแตกต่างกัน ทำให้อาจเกิดความผันผวนในราคาได้ อีกทั้งยังประเด็นเรื่อง distribution channel และ license ยังมีความไม่แน่นอน

นายชาคริต พืชพันธ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการอาวุโส บลจ. เอ็มเอฟซี เปิดเผยว่า ธุรกิจในกัญชาและกัญชง เป็นอีกธุรกิจหนึ่งที่มีความน่าสนใจ แต่ยังถือเป็นเรื่องใหม่ที่เรากำลังติดตามการพัฒนาธุรกิจนี้อย่างใกล้ชิดก่อน เบื้องต้นถ้าจะลงทุนน่าจะมีกลุ่มประเทศที่น่าสนใจอย่างแคนาดา รวมถึงธุรกิจที่ใช้กันชงเพื่อการแพทย์ในไทย แต่เรายังไม่มีนโยบายการลงทุนในกัญชาและกันชงโดยตรงในตอนนี้​​

นางสาวธิดาศิริ ศรีสมิต รองกรรมการผู้จัดการ สายจัดการลงทุน บลจ.กสิกรไทย กล่าวว่า หลังจากภาครัฐปลดล็อกกัญชงครั้งนี้ถือเป็นโอกาสของบริษัทจดทะเบียน(บจ.)ไทย ในการลงทุนธุรกิจใหม่ๆที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการคิดค้นผลิตภัณฑ์ใหม่ ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอาหาร เครื่องดื่ม เครื่องสำอางตลอดจนเวชภัณฑ์ยาต่างๆ ที่รองรับความต้องการของผู้บริโภคได้

ทั้งนี้ในด้านของการลงทุนในธุรกิจดังกล่าว มองว่า ในช่วงแรกนี้ยังเป็นการพัฒนาในเชิงการค้า ยังมีไม่กี่ราย รวมถึงสัดส่วนรายได้หรือกำไรจากการขายจากผลิตภัณฑ์กลุ่มนี้ยังคงเป็นสัดส่วนน้อยในช่วงปีแรก เมื่อเทียบกับรายได้หรือกำไรทั้งหมดของบริษัท รวมถึงการตอบรับของผู้บริโภคต่อผลิตภัณฑ์นั้นๆด้วย ในช่วงแรกนี้คาดว่าการประเมินผลตอบแทนจะค่อนข้างลำบาก ทำให้อาจไม่เป็นไปตามวัตถุประสงค์และนโยบายการลงทุนด้วยการตั้งกองทุนรวมที่มุ่งลงทุนเฉพาะเจาะจงในหมวดอุตสาหกรรม หรือ Thematic Fund ประกอบกับการมีตัวเลือกลงทุนน้อยรายทำให้การกระจายความเสี่ยงของพอร์ตการลงทุนไม่ดีเท่าที่ควร ดังนั้น ความเป็นไปได้ในการจัดตั้งกองทุน Thematic ที่ลงทุนในบริษัทจดทะเบียนไทยในปีนี้น่าจะค่อนข้างต่ำ

“เราประเมินว่า ความเป็นไปได้ของธุรกิจที่เกี่ยวข้องครอบคลุมตั้งแต่อุตสาหกรรมต้นน้ำ (การเพาะปลูก) กลางน้ำ (การสกัด) และปลายน้ำ (การนำมาประยุกต์ใช้ในผลิตภัณฑ์) ซึ่งผลตอบแทนขึ้นอยู่กับ Economy of Scale ในกระบวนการผลิต คาดว่าหลายบริษัทน่าจะยังอยู่ในขั้นตอนการเตรียมการและศึกษาความเป็นไปได้ในการออกผลิตภัณฑ์ ซึ่งคาดว่าอย่างเร็วที่สุดน่าจะเริ่มเห็นชัดเจนขึ้นในไตรมาสที่ 4ปี 2564 ซึ่งรายได้และกำไรจากผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องนี้คาดว่าน่าจะยังเป็นส่วนน้อยเมื่อเทียบกับรายได้หรือกำไรสุทธิรวมของบริษัทในปีนี้ อย่างไรก็ดีหากประสบความสำเร็จน่าจะสามารถเป็นการเพิ่มรายได้ในปีถัดไป”​​

นางสาวศุภรัตน์ อารีย์วงศ์ ผู้บริหารกลุ่มกลยุทธ์การตลาดและผลิตภัณฑ์การลงทุน บลจ.ไทยพาณิชย์ กล่าวว่า เรายังไม่มีแผนการจัดตั้งกองทุนในธุรกิจประเภทนี้ เนื่องจากมองว่าหุ้นกลุ่มดังกล่าวยังเล็กมาก มีความผันผวนสูง และสภาพคล่องยังต่ำ