เจาะ 5 เทรนด์ ประชาสัมพันธ์ปีฉลู พีอาร์ยุคโควิด ต้องแก้วิกฤติช่วยลูกค้า
ดีซี คอนซัลแทนส์ ฯ มองทิศทางพีอาร์ยุค New Normal ต้องทรานส์ฟอร์มสู่ดิจิทัล ต้องสปีด วางกลยุทธ์ ขบคิดแผนสำรองยามวิกฤติเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานช่วยลูกค้า
ดร.ดนัย จันทร์เจ้าฉาย ประธานที่ปรึกษา บริษัท ดีซี คอนซัลแทนส์ แอนด์ มาร์เก็ตติ้ง คอมมูนิเคชั่นส์ จำกัด ฉายภาพว่า บริบทโลกมีการเปลี่ยนแปลง ดิจิทัลมีอิทฑิพลมากขึ้น ส่งผลต่อวงการสื่อมวลชน พฤติกรรมการเสพสื่อของผู้บริโภคพลิกโฉมจากเดิม กระเทือนการทำงานของพีอาร์หรือPublic Relations เป็นลูกโซ่ ทำให้พีอาร์ต้องปรับตัวและเปลี่ยนแปลงตัวเอง ตลอดจนวิธีการทำงานครั้งใหญ่
ในอดีตพีอาร์จะวัดมูลค่าผลงานจากมูลค่าสื่อหรือ Media Value เช่น Share of Voice (SOV) หรือ Advertising Value Equivalent (AVE) แต่ปัจจุบัน พีอาร์จำเป็นต้องมีการยกระดับ (UpSkill) เป็นพีอาร์เชิงกลยุทธ์ (ReSkill) สามารถเป็นคลังสมองของลูกค้า ตอบโจทย์ทั้งระยะสั้น กลาง และยาว มีการวางแผนงานประชาสัมพันธ์ที่สามารถประเมินผลลัพธ์สุดท้ายได้ทันต่อเหตุการณ์ รวมถึงสามารถวางกลยุทธ์รองรับภาวะวิกฤติของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่างรวดเร็ว ฉับไวด้วย
ส่วนแนวโน้มหรือเทรนด์ของพีอาร์ในยุคนี้ต้องนิยาม New Normal 2021 : PR Digital Transformation ยึดหลักการทำงาน 5 ข้อ ดังนี้
1. Storytelling is King - Context is Queen วิธีการเล่าเรื่องหรือการสื่อสารต้องเปลี่ยนไป เพราะในโลกของโซเชียล มีเดีย กลุ่มเป้าหมายที่รับข่าวสารนั้นไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ในการสื่อสารเรื่องราวแต่ละครั้ง พีอาร์ต้องสามารถบอกเล่า Key Message ประเด็นการสื่อสารสำคัญไปในช่องทางที่หลากหลายครอบคลุมสื่อทุกแพลตฟอร์ม(Multiple media platform) อีกทั้งยังต้องสื่อสารในบริบทที่ถูกต้อง ต้องเข้าใจภาวะอารมณ์ กระแสสังคม และประเมินจังหวะเวลาที่ถูกต้องในการสื่อสารเพื่อให้การสื่อสารได้ผลลัพธ์สูงสุด หรือเรียกง่าย ๆ ว่าต้องถูกที่ ถูกเวลา
2. New Media Landscape พีอาร์ต้องเข้าใจภูมิทัศน์ของสื่อใหม่ เพราะต้องยอมรับว่า สื่อที่ทรงอิทธิพลในปัจจุบัน ไม่ใช่องค์กรสื่อ หรือสื่อดัง ๆดั้งเดิมหรือ Traditional Media อีกต่อไป แต่พีอาร์ต้องสามารถขยายช่องทางการสื่อสารจากทีวี วิทยุ หนังสือพิมพ์ ไปสู่สื่อใหม่ในโลกดิจิทัล ไม่ว่าจะเป็น Net Citizen, Influencer, Blogger, Youtuber เป็นต้น
“ถ้าพีอาร์เข้าใจภูมิทัศน์ใหม่ ก็จะทำให้พีอาร์ส่งต่อข่าวสารนั้น ๆ ได้อย่างถูกช่องทาง ก่อให้เกิดการรับรู้ เกิดกระแสสังคม นำมาซึ่งประโยชน์สูงสุดให้แก่ลูกค้า”
3. การใช้ Big Data พัฒนาสู่การฟังเสียงสังคม Social Listening สู่การเจาะเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายที่มีลักษณะเฉพาะตัว Consumer Insight หมายถึง พีอาร์ต้องรู้ว่าขณะนี้โลกหรือสังคมกำลังพูดถึงแบรนด์ของลูกค้าอย่างไร ทั้งนี้เพื่อพีอาร์จะได้นำข้อมูลมหาศาลหรือ Big Data มาวิเคราะห์ในการเลือกใช้เครื่องมือหรือวางแผนกลยุทธ์การประชาสัมพันธ์ให้เฉียบคม ตรงใจ สัมพันธ์กับไลฟสไตล์ของผู้บริโภค โดยเฉพาะยุคนี้เป็นยุคที่ทุกคนอยู่ในสังคมที่สามารถเลือกการเสพสื่อได้อย่างเสรี (People hear what they want to hear) อำนาจการบริโภคสื่ออยู่ที่นิ้วมือของผู้บริโภค พีอาร์จึงจำเป็นต้องเข้าใจในพฤติกรรมและนิสัยการเสพสื่อของกลุ่มเป้าหมายให้ได้อย่างลึกซึ้ง
4. Creativity and Technology is the new currency ความคิดสร้างสรรค์ผนวกกับการใช้เทคโนโลยี เป็นหัวใจสำคัญของการพีอาร์ พีอาร์ยุค 4.0 ต้องสามารถนำความคิดสร้างสรรค์ มาผสานกับเทคโนโลยีใหม่ ๆ ตอบโจทย์ด้านการสื่อสารได้ เช่น การนำกลยุทธ์ด้านการตลาดดิจิทัลมาใช้ มีการสร้างคอนเท้นต์แบบโต้ตอบ วิดีโอ มาร์เก็ตติ้ง สร้างชุมชนและเครือข่าย ประยุกต์ใช้ AI และกลยุทธ์ Influencer Marketing เป็นต้น
5. Brand Positioning & Brand Love จุดยืนของแบรนด์และองค์กรเป็นสิ่งที่สำคัญ พีอาร์ต้องประเมินและปักหมุด จุดยืนขององค์กรให้เป็นที่ยอมรับกับกลุ่มเป้าหมายที่หลากหลาย โดยคำนึงตลอดเวลาว่า ภาพลักษณ์ขององค์กรมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะการทำพีอาร์ให้ลูกค้าในสภาพสังคมที่มีความเปราะบาง อาทิ ทางด้านสังคม สิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจการเมือง ส่งผลให้องค์กรต่าง ๆ ของลูกค้ามีความอ่อนไหวมากกว่าในอดีต พีอาร์จึงต้องทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำที่เกิดประโยชน์สูงสุดระยะยาว และสิ่งสำคัญ องค์กรต้องมุ่งมั่นทำกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมด้วยความจริงใจ บริสุทธิ์ใจ เป็นการสร้างความรัก ความศรัทธา ให้เกิดขึ้นกับองค์กร หรือที่เรียกว่า Brand Love