‘พาณิชย์’ ติดตามช่วยเหลือผู้ปลูกกระเทียม ยันเอกชนเริ่มซื้อแล้ว
“พาณิชย์” ติดตามผลการซื้อขายกระเทียมภาคเหนือ หลัง “จุรินทร์” ขึ้นไปวางแผนรับมือไว้ล่วงหน้า เผยเอกชนเริ่มซื้อแล้ว 500 ตัน ในราคานำตลาดกิโลละ 13.50-14.00 บาท และจะซื้อต่อเนื่อง ทั้งแบบสดและแห้ง
นางมัลลิกา บุญมีตระกูล มหาสุข ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า กระทรวงพาณิชย์ได้ติดตามรายงานผลการรับซื้อกระเทียมปี 2563/2564 จังหวัดเชียงใหม่ ลำพูน แม่ฮ่องสอน โดยพบว่า ในส่วนกระเทียมสด ได้ทยอยรับซื้อไปแล้วตั้งแต่วันที่ 22 ก.พ.2564 ซื้อเรื่อยมาประมาณ 500 ตัน ในราคากิโลกรัม (กก.) ละ 13.50-14 บาท และกำลังทยอยรับซื้อต่อเนื่อง และในวันที่ 4 มี.ค.2564 จะมีรับซื้อที่อำเภอฝาง จังหวัดเชียงใหม่ โดยผู้ประกอบการ คือ บจก.มาตาเทรดดิ้ง นายทรงศักดิ์ สาระวรรณา บจก.นิธิฟู้ดส์ และ บจก.ยิ่งไพศาลการเกษตร เป็นต้น
ทั้งนี้ ยังมีกำหนดที่จะซื้อกระเทียมแห้ง โดยจะส่งของกันในวันที่ 1 เม.ย.2564 เป็นต้นไป โดยเกษตรกรจะเก็บกระเทียมสดไว้ขายแบบแห้งให้กับผู้ประกอบการ โดยเกษตรกรจะได้รับชดเชยดอกเบี้ยตามโครงการชดเชยดอกเบี้ย 3% เพื่อเก็บสต๊อกไว้ขาย มีผู้ประกอบการที่รอซื้อ เช่น บจก.บีวายที ฟู้ดซัพพลาย บจก.ตะวันพืชผล บจก.อโกรไทย ยูเนี่ยน ร้านทองคำ บุญช่วยเครื่องต้มยำ บจก.อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์ และตลาดแม่พยอม เป็นต้น
“โครงการชดเชยดอกเบี้ย 3% เกษตรกรต้องการให้จังหวัดเร่งดำเนินการด้านเอกสารให้แล้วเสร็จภายในเดือนมี.ค.2564 เพื่อเกษตรกรจะได้รับประโยชน์อย่างแท้จริง โดยพาณิชย์จังหวัดได้ดำเนินการเข้าคณะกรรมการแก้ไขปัญหาเกษตรกรระดับจังหวัดแล้ว มีมติยืนยันจะดำเนินการโครงการดังกล่าวแล้ว ทั้งกระเทียมและหอมหัวใหญ่” นางมัลลิกากล่าว
สำหรับการดำเนินโครงการดังกล่าว เกิดขึ้นจากมาตรการเชิงรุกที่นายจุรินทร์ ได้นำคณะผู้บริหารจากกระทรวงพาณิชย์ลงพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ 23 ม.ค.2564 เพื่อหารือร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ประกอบการ และเกษตรกร โดยมีมาตรการแก้ปัญหากระเทียมในช่วงที่ผลผลิตออกสู่ตลาดมาก คือ ดึงผู้ประกอบการรับซื้อกระเทียมจากเกษตรกรในราคาที่ชี้นำตลาดกก.ละ 13.50 บาท ปริมาณไม่ต่ำกว่า 7,000 ตัน มีผู้ประกอบการตกลงร่วมกับกลุ่มเกษตรกร 8 กลุ่ม
ในแต่ละปี ไทยมีผลผลิตกระเทียมสดได้ 230,000 ตัน หรือคิดเป็นกระเทียมแห้ง 80,000 ตัน แต่การบริโภคกระเทียมแห้งภายในประเทศ 170,000 ตัน จึงต้องนำเข้ากระเทียมแห้งอีกประมาณ 60,000 ตัน โดยการนำเข้ายึดเงื่อนไขตามข้อตกลงองค์การการค้าโลก (WTO) และเสียภาษีนำเข้า 57% เพื่อให้เพียงพอกับความต้องการบริโภค แต่เพื่อเป็นการป้องกันการลักลอบนำเข้า นายจุรินทร์ได้กำชับฝ่ายความมั่นคงให้ตรวจตราสกัดกั้นการลักลอบนำเข้าอย่างผิดกฎหมาย เพื่อไม่ให้กระทบกับเกษตรกรด้วย