“จีซี” ลุยต่อยอดเทคโนโลยี แปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อน
เป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ หรือ Sustainable Development Goals (SDGs) เป็นแนวทางการพัฒนาที่ถูกนำมาเป็นต้นแบบของภาคเอกชนในการขับเคลื่อนธุรกิจทั่วโลก รวมถึงบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC ที่ได้นำแนวคิดดังกล่าวมาใช้
นายคงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC กล่าวว่าบริษัทร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี หรือ SUT ในโครงการศึกษาการจัดการขยะพลาสติกจากต้นทางสู่ปลายทางแบบครบวงจร เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกปนเปื้อน โดยการรีไซเคิลพลาสติกผ่านกระบวนการ Chemical Recycling หรือ กระบวนการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อน ให้นำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ได้
การทำงานร่วมกันนี้ GC ได้สนับสนุนการสร้างเทคโนโลยีของคนไทย ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการพัฒนาประเทศ โดยการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี พันธมิตรภาคการศึกษาที่มีนวัตกรรมและเทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติก เพื่อร่วมวางแผนจัดการคัดแยกขยะพลาสติกที่ต้นทาง ส่งเสริมให้ความรู้เรื่องการจัดการขยะพลาสติก พร้อมสนับสนุนถังขยะต้นแบบเพื่อการคัดแยก
รวมถึงจัดทำสื่อประชาสัมพันธ์การคัดแยกขยะพลาสติกในพื้นที่มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ซึ่งนำไปสู่รูปแบบการจัดการคัดแยกขยะพลาสติกต้นทางที่ลงมือทำได้จริงสู่ปลายทางแบบครบวงจรอย่างมีประสิทธิภาพ GC ยังมีบริษัทในกลุ่มที่ส่งเสริมมหาวิทยาลัยในการขยายผลระดับประเทศได้ นอกจากนี้ GC ยังร่วมศึกษาวิจัย และสนับสนุนงบประมาณในการทดสอบการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อนให้นำกลับมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับขยะพลาสติกปนเปื้อนในรูปแบบต่างๆด้วย
จากความร่วมมือในครั้งนี้ส่งผลให้ GC มีแผนการจัดการขยะพลาสติก (End-to-End Waste Management) ครบถ้วนครอบคลุม 3 ด้าน ได้แก่
1.พลาสติกชีวภาพ (Bio-based) มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์พลาสติกชีวภาพที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สลายตัวได้ด้วยการฝังกลบเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ใช้ครั้งเดียว
2.พลาสติกทั่วไป (Fossil-based) มุ่งเน้นการใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยความรับผิดชอบ นำขยะพลาสติกกลับมารีไซเคิล (Recycle) หรืออัพไซเคิล (Upcycle) ซึ่งเหมาะสำหรับผลิตภัณฑ์ที่คัดแยกและนำกลับมารีไซเคิลด้วยกระบวนการ Mechanical Recycling ได้
3.Chemical Recycling ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยสุรนารี พัฒนาเทคโนโลยีการแปรรูปขยะพลาสติกปนเปื้อน ที่ไม่สามารถเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลแบบปกติ (Mechanical Recycling) ให้กลับมาเป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ พร้อมวางระบบการจัดการขยะด้วยเทคโนโลยีอื่น ซึ่ง GC มีพันธมิตรรองรับวัตถุดิบที่ได้จากกระบวนการ Chemical Recycling ด้วย
ทั้งนี้ GC มีแผนดำเนินธุรกิจตามแนวทางความยั่งยืน เพราะจะสร้างสมดุลและการเติบโตร่วมกันทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โดยขับเคลื่อนบนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของโลก (SDGs) หนึ่งในประเด็นสำคัญที่ GC เน้น คือ การนำหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนมาใช้ในการบริหารจัดการทรัพยากรให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดทุกกระบวนการ
รวมทั้ง GC มีเป้าหมายยกระดับการทำงานร่วมกับพันธมิตร เพื่อสร้างความเชื่อมโยงทุกภาคส่วนและสนับสนุนให้ต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ โดยนำขยะพลาสติกเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกต้อง แก้ปัญหาขยะพลาสติกแบบครบวงจรตั้งแต่การคัดแยก รวบรวมขยะพลาสติกและขนส่งไปโรงงานรีไซเคิลหรือโรงงานอัพไซเคิล เพื่อดำเนินการจัดการขยะถูกต้องครบวงจร
นายวีระพงษ์ แพสุวรรณ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี กล่าวว่า ได้ศึกษาและวิจัยการบริหารจัดการขยะตั้งแต่ปี 2549 เริ่มตั้งแต่คัดแยกจนถึงแปรรูปเป็นพลังงาน รวมถึงการพัฒนาระบบแปรรูปขยะพลาสติกเป็นน้ำมันด้วยกระบวนการไพโรไลซิสขึ้นในมหาวิทยาลัย โดยมีกำลังการผลิตน้ำมันวันละ 5,000 ลิตร และพร้อมวิจัยต่อยอดสร้างรูปแบบการจัดการของเสียครบวงจร
การร่วมมือกับ GC ศึกษาการจัดการขยะพลาสติกและการเพิ่มมูลค่าขยะพลาสติกปนเปื้อน เป็นการอาศัยความพร้อมของทั้ง 2 ฝ่าย ที่จะใช้โครงการนี้สร้างรูปแบบการจัดการขยะชุมชนต้นทางที่มีประสิทธิภาพ ศึกษาการคัดแยกขยะพลาสติก การนำขยะพลาสติกมาแปรรูปให้นำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงหรือวัตถุดิบในอุตสาหกรรมเคมีภัณฑ์ ซึ่งจะการขยายผล ทั้งด้านการจัดการพลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน